คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยว่า คดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ย่อมถึงที่สุดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสอง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223
หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด แม้จะสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ก็ไม่ต้องรับผิดในหนี้เกี่ยวกับการจ้างแรงงานของลูกจ้างห้างหุ้นส่วนเพราะหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่นายจ้างต้องรับผิดต่อลูกจ้าง หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่มีความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้าง จึงไม่ต้องรับผิด
บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 เป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดทำผิดหน้าที่ ซึ่งต้องรับผิดในหนี้อันเกี่ยวกับกิจการที่สอดเข้าไปเกี่ยวข้องต่อบุคคลภายนอก มิใช่ต้องรับผิดในหนี้อันเกิดจากความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ ๓ เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด แต่สอดเข้าเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ จัดการกิจการและจ้างลูกจ้างเพื่อประโยชน์ของจำเลยทั้งสาม จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามกฎหมาย จำเลยทั้งสามจ้างโจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างประจำเป็นเวลากว่า ๓ ปี ต่อมาวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๒๕ จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าหรือจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ รวมทั้งค่าทำงานในวันหยุด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินดังกล่าวให้โจทก์
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเพียงแต่ในนาม ความจริงจำเลยที่ ๓ เป็นผู้บริหารจัดการงานของห้างหุ้นส่วนเองแต่ผู้เดียว จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดชอบในค่าจ้าง ค่าชดเชยและสินจ้างตามที่โจทก์ฟ้องหากจำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดก็เนื่องจากจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดได้เข้าเกี่ยวข้องในกิจการของจำเลยที่ ๑ ตลอดมา จำเลยที่ ๓ จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดและได้ใช้หรือชำระมูลค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ ๓ไม่เคยเข้าไปสอดจัดการใด ๆ ในกิจการของจำเลยที่ ๑ การดำเนินงานของจำเลยที่ ๑ ทั้งหมดอยู่ในอำนาจและความรับผิดของจำเลยที่ ๒ แต่ผู้เดียว จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ดำเนินการจัดการงานแทนจำเลยที่ ๑ มาตลอดจำเลยที่ ๓เป็นเพียงผู้ดูแลครอบงำการจัดการงานของจำเลยที่ ๒ ที่ได้กระทำการแทนจำเลยที่ ๑ ตามกฎหมายเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา จำเลยที่ ๒ แถลงรับว่าเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ แถลงว่าเป็นเพียงหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด ไม่ได้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานของจำเลยที่ ๑
ก่อนสืบพยานจำเลยที่ ๓ ขอให้ศาลแรงงานกลางส่งสำนวนไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหาว่า คดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ ซึ่งโจทก์อ้างว่าสอดเข้าไปจัดการงานในกิจการของจำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ นั้น เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลางหรือไม่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางได้มีคำวินิจฉัยที่ ๑๕๘๘/๒๕๒๕ ลงวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๒๕ ว่า ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้กระทำแทนจำเลยที่ ๑ เป็นนายจ้างของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๓ มิใช่นายจ้างของโจทก์ จำเลยที่ ๓ ได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ ๑ ในด้านความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้าง จำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดในค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้าค่าทำงานวันหยุดต่อโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ ๓ มิใช่นายจ้างของโจทก์ แต่จำเลยสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ ๑ โดยไม่จำกัดจำนวนตามมาตรา ๑๐๘๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้กระทำการแทนจำเลยที่๑ และจำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙ วรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลอื่นให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางดังกล่าวจึงถึงที่สุด ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ที่จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ ๓ ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ชำระค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีให้แก่โจทก์นั้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ซึ่งจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ตามข้อ ๒ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ จำเลยที่ ๓ เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด จำเลยที่ ๓ มิได้เป็นนายจ้างของโจทก์ จำเลยที่ ๓ ได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ ๑ เห็นว่า ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าว ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๘๘ บัญญัติว่า ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน นั้น เป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดหน้าที่ซึ่งต้องรับผิดในหนี้อันเกี่ยวกับกิจการที่สอดเข้าไปเกี่ยวข้องต่อบุคคลภายนอก มิใช่ต้องรับผิดในหนี้อันเกิดจากความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้าง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๓

Share