คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1462/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เงินบำเหน็จพิเศษที่โจทก์จ่ายเข้าบัญชีของพนักงานโดยให้พนักงานโอนเงินดังกล่าวมาเป็นเงินประกันตัว แล้วฝากเข้าบัญชีเงินฝากประจำของพนักงานแต่ละคนนั้น โจทก์มีระเบียบว่า พนักงานจะเบิกเงินในบัญชีเงินฝากประจำไม่ได้จนกว่าจะออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ถ้า ทำความเสียหายโจทก์มีสิทธิหักเงินจำนวนดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหายได้เงินบำเหน็จพิเศษดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์จ่ายให้แก่พนักงานโดยเด็ดขาดเป็นเพียงรายจ่ายที่ต้องจ่ายในอนาคต จึงเป็นเงินสำรองตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (1) โจทก์ไม่มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ การที่โจทก์พยายามออกระเบียบและใช้วิธีการทางบัญชีเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงเพื่อไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ แม้โจทก์จะให้ความสะดวกแก่จำเลยในการตรวจสอบบัญชี ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เสียภาษีเงินได้ไม่ครบถ้วนโดยสุจริตจึงไม่มีเหตุควรงดหรือลดเงินเพิ่ม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2523ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2523 โจทก์จ่ายเงินบำเหน็จพิเศษให้แก่พนักงาน19,903,249.32 บาท โดยโอนเงินนี้เข้าบัญชีเงินประกันตัวพนักงานแล้วโอนเข้าบัญชีเงินฝากประจำของพนักงานแต่ละคน ซึ่งโจทก์มีระเบียบว่า จะถอนเงินไม่ได้จนกว่าจะพ้นสภาพการเป็นพนักงานของโจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยแจ้งว่าเงินจำนวนดังกล่าวซึ่งโจทก์นำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ. 65 ตรี ให้โจทก์นำภาษีที่ขาด 6,966,137.27 บาทกับเงินเพิ่ม 1,393,227.44 บาทไปชำระให้จำเลย โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์โจทก์ โจทก์เห็นว่าเงินบำเหน็จพิเศษที่โจทก์จ่ายให้พนักงาน เป็นเงินที่โจทก์จ่ายเสร็จเด็ดขาด โดยมีระเบียบวางไว้ชัดเจน ทั้งโจทก์หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งตามกฎหมายแล้ว เงินดังกล่าวชอบที่โจทก์จะนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ โจทก์มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่กล่าวแล้วและงดหรือลดเงินเพิ่มให้โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า เงินบำเหน็จพิเศษที่โจทก์ให้พนักงาน พนักงานจะรับเงินจำนวนนั้นไม่ได้เลยตราบเท่าที่ยังเป็นพนักงานของโจทก์อยู่เพราะเงินจำนวนนั้นฝากเข้าบัญชีเงินฝากประจำของพนักงานซึ่งโจทก์มีระเบียบว่าพนักงานจะถอนระหว่างที่ยังเป็นพนักงานของโจทก์ไม่ได้กรณีพนักงานของโจทก์มีหนี้สิน กระทำความเสียหาย หรือต้องรับผิดต่อโจทก์ เงินในบัญชีนี้อาจโอนกลับเข้าบัญชีเงินประกันหักหนี้โจทก์ได้ การจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการจ่ายให้พนักงานโดยเด็ดขาด เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรีโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีไม่สมควรงดหรือลดเงินเพิ่มให้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดเงินเพิ่มให้โจทก์กึ่งหนึ่งนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ได้จ่ายเงินบำเหน็จพิเศษจำนวน19,903,244 บาท 32 สตางค์ ให้แก่พนักงานของโจทก์โดยการนำเงินที่จ่ายให้แก่พนักงานแต่ละคนเข้าบัญชีของพนักงาน แต่พนักงานจะต้องโอนเงินจำนวนดังกล่าวมาเป็นเงินประกันตัวของพนักงานที่ทำงานอยู่กับโจทก์แล้วนำเข้าฝากในบัญชีประจำของพนักงานแต่ละคน และเงินที่ฝากประจำนี้ไม่มีเงินที่พนักงานออกสมทบ พนักงานจะเบิกเงินในบัญชีฝากประจำดังกล่าวไปไม่ได้ จนกว่าจะออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ถ้าออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์โดยทำความเสียหายให้โจทก์แล้วโจทก์มีสิทธิหักเงินจำนวนดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหายไว้เท่าที่โจทก์เสียหายได้ มีปัญหาว่าโจทก์มีสิทธินำเงินบำเหน็จพิเศษที่โจทก์ได้จ่ายให้พนักงานจำนวนดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีของโจทก์ได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นกองทุนซึ่งลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นประกอบด้วยเงินที่ลูกจ้างต้องจ่ายส่วนหนึ่ง และนายจ้างจ่ายสมทบอีกส่วนหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดกันไว้ แต่เงินบำเหน็จพิเศษกรณีนี้โจทก์เป็นผู้จ่ายทั้งหมดแต่ฝ่ายเดียว จึงไม่อาจถือว่าเป็นเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเงินบำเหน็จพิเศษดังกล่าวพนักงานกลับต้องนำส่งเงินที่แต่ละคนได้รับมาไว้กับโจทก์เพื่อเป็นประกันตัวพนักงาน ถึงแม้ว่าโจทก์จะโอนเงินที่พนักงานส่งเป็นประกันเข้าในบัญชีฝากประจำของพนักงานแต่ละคนแต่พนักงานทุกคนก็ไม่อาจถอนเงินดังกล่าวในบัญชีฝากประจำของตนออกมาใช้จ่ายได้จนกว่าจะออกจากการเป็นพนักงานโดยไม่ได้ทำความเสียหายให้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขที่โจทก์กำหนดไว้ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้จ่ายเงินบำเหน็จพิเศษให้แก่พนักงานโดยเด็ดขาด เป็นเพียงรายจ่ายที่จะต้องจ่ายในอนาคตเท่านั้น เงินประเภทนี้จึงเป็นเงินสำรองตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(1) ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2523 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาในปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาที่ว่า ควรงดหรือลดเงินเพิ่มภาษีให้แก่โจทก์หรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าในการที่โจทก์จ่ายเงินบำเหน็จพิเศษให้แก่พนักงานของโจทก์ พนักงานจะต้องโอนเงินดังกล่าวมาเป็นเงินประกันตัวของพนักงานซึ่งเงินดังกล่าวก็ยังคงอยู่ที่โจทก์ และแม้ว่าโจทก์จะโอนเงินดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากประจำในนามของพนักงานแต่ละคน เพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้จ่ายเงินบำเหน็จพิเศษให้พนักงานของโจทก์แล้ว แต่ก็ยังมีเงื่อนไขมิให้พนักงานของโจทก์ถอนเงินดังกล่าวออกไปใช้จ่ายได้ในระหว่างที่ยังเป็นพนักงานของโจทก์อยู่ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ได้พยายามออกระเบียบและใช้วิธีการทางบัญชีเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงเพื่อไม่ต้องเสียภาษีเงินได้แม้ว่าโจทก์จะให้ความสะดวกต่าง ๆ แก่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ไปตรวจสอบบัญชีที่สำนักงานโจทก์ก็ดี ก็ไม่พอให้ฟังว่าโจทก์เสียภาษีเงินได้ไม่ครบถ้วนโดยสุจริตกรณีจึงไม่มีเหตุควรงดหรือลดเงินเพิ่มให้โจทก์ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลดเงินเพิ่มให้โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่าให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น..”.

Share