คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1461/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

น.เป็นหลานของ ว. สมัครสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ จำเลยบอก ว. ว่าจำเลยสามารถติดต่อวิ่งเต้นให้ น.สอบได้ ถ้าต้องการให้หาเงินมาให้ ว.หลงเชื่อ มอบเงินให้จำเลยไป ผลที่สุดปรากฏว่า น.สอบไม่ได้ ดังนี้ ตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ว. มอบเงินให้จำเลยไปก็โดยมุ่งหมายจะให้กรรมการสอบช่วยให้ น.สอบได้ เท่ากับว่า ว. ใช้ให้จำเลยไปจูงใจให้เจ้าพนักงานกรรมการสอบทรัพย์สินเพื่อ การทำการหรือไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งจะเป็นคุณแก่ น. อาจถือได้ว่า ว. ใช้ให้จำเลยกระทำความผิด ว.จึงมิใช่ผู้เสียหาย ที่จะร้องทุกข์คดีนี้ได้ และพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง (อ้างคำพิพากาษาฎีกาที่ 340/2506)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบังอาจหลอกลวง ว. ผู้เสียหาย ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยสามารถติดต่อวิ่งเต้นให้ น. หลานของ ว. สอบคัดเลือกเข้ารับราชการได้ แต่ต้องเสียเงิน ผู้เสียหายหลงเชื่อ มอบเงินให้จำเลยไป ซึ่งความจริงแล้วจำเลยมิได้ไปติดต่อหรือวิ่งเต้นให้ น. ในการสอบ เข้ารับราชการแต่ประการใด ฯลฯ ขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ฯลฯ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายได้มอบเงินให้จำเลย เพราะหลงเชื่อคำหลอกหลวง แต่จำเลยจะนำเงินไปติดต่อกับใครนั้น คำพยานโจทก์ไม่แน่นอน ยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยได้ไปติดต่อกับคณะกรรมการสอบซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นการผิดกฎหมาย ผู้เสียหายจึงมีสิทธิร้องทุกข์ และพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้อง พิพากษากลับ ลงโทษจำคุก จำเลย ๑ ปี ฯลฯ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายนพดล รัตนวัน หลานของนายวีระพล สายหอม ได้สมัครสอบคัดเลือกเป็นเสมียนปกครองที่จังหวัดยโสธรจำเลยบอกนายวีระพลว่าถ้าต้องการให้นายนพดลสอบเข้ารับราชการได้ก็ให้หาเงินมา ๑๕,๐๐๐ บาท โดยจำเลยหลอกลวงนายวีระพลว่า จำเลยสามารถติดต่อวิงเต้นให้นายนพดลสอบได้ นายวีระพลหลงเชื่อ ได้มอบเงินให้จำเลยไป ผลที่สุดปรากฏว่า นายนพดลสอบไม่ได้ แม้เงินที่นายวีระพลมอบให้จำเลยได้ไปติดต่อกับคณะกรรมการสอบ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แต่ตามคำอวดอ้างของจำเลยนั้น ไม่ว่าจะหมายถึงการติดต่อกับกรรมการสอบโดยตรงหรือติดต่อโดยผ่านผู้อื่นไปยังกรรมการสอบตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นแล้วว่าที่นายวีระพลมอบเงินให้จำเลยไปก็โดยมุ่งหมายจะให้กรรมการสอบช่วยให้นายนพดลสอบได้ เท่ากับว่า นายวีระพลใช้ให้จำเลยไปจูงใจให้เจ้าพนักงานกรรมการสอบทรัพย์สินเพื่อ การทำการหรือไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งจะเป็นคุณแก่ นายนพดล อาจถือได้ว่า นายวีระพลใช้ให้จำเลยกระทำความผิด นายวีระพลจึงมิใช่ผู้เสียหาย ที่จะร้องทุกข์คดีนี้ได้ และพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๔๐/๒๕๐๖) ระหว่างนายหยด จันทร์เพ็ง โจทก์ นายอยู่ ศรีเปรม จำเลย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share