แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้คดีนี้เริ่มต้นโดยการที่โจทก์ทั้งห้ามีหนังสือฉบับลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่ามีกลุ่มบุคคลบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์หนองปลาแขยง หนองหินตั้ง และบุ่งกระเบา และมีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าว ต่อมาคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ให้โอนเรื่องร้องทุกข์ของโจทก์ทั้งห้าไปยังศาลปกครองตามมาตรา 103 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ศาลปกครองกลางรับเป็นคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 99/2544 โดยไม่ปรากฏว่า ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งห้าจัดทำคำฟ้องมายื่นใหม่ แต่เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้โอนคดีนี้มายังศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นเห็นว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีนี้ต้องเป็นไปตาม ป.วิ.พ. จึงมีคำสั่งให้โจทก์จัดทำคำฟ้องมายื่นใหม่และโจทก์ทั้งห้าได้ยื่นคำฟ้องใหม่ต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำฟ้องของโจทก์ทั้งห้า โดยจำเลยทั้งสี่และผู้ร้องทั้งสิบสองมิได้โต้แย้งคัดค้านว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งห้าจัดทำคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มายื่นใหม่และมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจททั้งห้าเป็นการไม่ถูกต้อง จึงต้องถือว่า คำฟ้องฉบับใหม่ของโจทก์ทั้งห้า เป็นคำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าในคดีนี้ เมื่อพิจารณาคำฟ้องดังกล่าว โจทก์ทั้งห้าบรรยายมาด้วยว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นราษฎรอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์หนองปลาแขยง หนองหินตั้ง และบุ่งกระเบา โดยจับปลา เลี้ยงสัตว์ และเก็บฟืน ทั้งบรรยายด้วยว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานของรัฐมีหน้าที่รับจดทะเบียนและออกเอกสารสิทธิในที่ดินท้องที่ จำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานของรัฐ ต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจหน้าที่ปกครองและกำกับดูแลจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 เป็นหน่วยงานปกครองท้องถิ่นมีอำนาจตามกฎหมายในการดูแลรักษาที่ดินสาธารณประโยชน์รวมทั้งดำเนินคดีแก่ผู้บุกรุกและฟ้องขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิผู้บุกรุก ทั้งมีอำนาจตรวจสอบรังวัดที่ดินสาธารณประโยชน์ในท้องที่ของตนด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันออกเอกสารสิทธิให้ผู้บุกรุกโดยมิชอบ ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ละเลยต่อหน้าที่ดูแลรักษา เป็นเหตุให้ผู้บุกรุกเข้าครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์โดยมิชอบ ดังนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์ทั้งห้ากล่าวอ้างมาในคำฟ้อง ย่อมทำให้โจทก์ทั้งห้าไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวได้ตามปกติ ต้องถือว่าโจทก์ทั้งห้ามีข้อโต้แย้งสิทธิกับจำเลยทั้งสี่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งห้ามีหนังสือร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่อมาคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ให้โอนเรื่องร้องทุกข์ของโจทก์ทั้งห้าไปยังศาลปกครอง ตามนัยมาตรา 103 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ศาลปกครองกลางรับเป็นคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 99/2544 ขณะที่คดีอยู่ที่ศาลปกครองกลาง ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดี อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ศาลปกครองกลางอนุญาต ต่อมาศาลปกครองกลางและศาลชั้นต้นเห็นตรงกันว่า คดีนี้มีประเด็นแห่งคดีต้องวินิจฉัยก่อนว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือเป็นกรรมสิทธิ์โดยชอบของผู้ร้องทั้งสิบสอง เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งให้โอนคดีนี้มายังศาลชั้นต้น และจำหน่ายคดีจากศาลปกครองกลาง ตามมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542
โจทก์ทั้งห้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันตรวจสอบที่ดินสาธารณประโยชน์หนองปลาแขยง หนองหินตั้ง และบุ่งกระเบา เพื่อกำหนดแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ ปักหลักเขตให้ชัดเจนภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แล้วร่วมกันออกหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินสาธารณประโยชน์ และให้จำเลยที่ 3 กับที่ 4 สั่งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้ดำเนินการขับไล่ดำเนินคดีแก่ผู้บุกรุก กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิดังกล่าว
จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องทั้งสิบสองยื่นคำร้องสอดว่า ผู้ร้องทั้งสิบสองรับโอนกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในที่ดินโฉนดเลขที่ 1699, 16409, 16410, 16411 และ 19477 กับที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1458 และ 1700 ตำบลเมืองเก่า อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี จากเจ้าของเดิมโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ทั้งผู้ร้องทั้งสิบสองยังครอบครองมาเป็นเวลานาน โจทก์ทั้งห้าไม่ได้รับความเสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้ร้องที่ 9 และที่ 11 ขอถอนคำร้องสอด ศาลชั้นต้นอนุญาต ส่วนผู้ร้องที่ 10 และที่ 12 ไม่เสียค่าขึ้นศาลภายในกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ร้องที่ 10 และที่ 12
โจทก์ทั้งห้าให้การและแก้ไขคำให้การแก้คำร้องสอดว่าเอกสารสิทธิทั้งโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 8 ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและต้องถูกเพิกถอน
จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การแก้คำร้องสอดทำนองเดียวกันว่า ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 8 ไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง เพราะที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ เอกสารสิทธิในที่ดินพิพาทของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 8 จึงออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 8 ครอบครองนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง
ก่อนสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การ คำร้องสอดและคำให้การแก้คำร้องสอดพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานโจทก์ทั้งห้า พยานจำเลยทั้งสี่ และพยานผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 8
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งห้า และยกคำร้องสอดของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 8 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งห้าฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา นายศิริพล บุตรของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ที่ 2 ผู้มรณะ ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันตรวจสอบที่ดินสาธารณประโยชน์หนองปลาแขยง หนองหินตั้ง และบุ่งกระเบา เพื่อกำหนดแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ ปักหลักเขตให้ชัดเจนภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ร่วมกันออกหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินสาธารณประโยชน์ ให้จำเลยที่ 3 กับที่ 4 สั่งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้ดำเนินการขับไล่ดำเนินคดีแก่ผู้บุกรุก กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิดังกล่าว มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้เพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า แม้คดีนี้เริ่มต้นโดยการที่โจทก์ทั้งห้ามีหนังสือฉบับลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่ามีกลุ่มบุคคลบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์หนองปลาแขยง หนองหินตั้ง และบุ่งกระเบา และมีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าว ต่อมาคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ให้โอนเรื่องร้องทุกข์ของโจทก์ทั้งห้าไปยังศาลปกครอง ตามนัยมาตรา 103 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ศาลปกครองกลางรับเป็นคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 99/2544 โดยไม่ปรากฏว่าศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งห้าจัดทำคำฟ้องมายื่นใหม่ แต่เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้โอนคดีนี้มายังศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นเห็นว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีนี้ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงมีคำสั่งให้โจทก์จัดทำคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมายื่นใหม่ ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 4 กันยายน 2550 ต่อมาโจทก์ทั้งห้ายื่นคำฟ้องฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำฟ้องของโจทก์ทั้งห้า โดยจำเลยทั้งสี่และผู้ร้องทั้งสิบสองมิได้โต้แย้งคัดค้านว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์จัดทำคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมายื่นใหม่และการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าเป็นการไม่ถูกต้อง จึงต้องถือว่าคำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2550 เป็นคำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าในคดีนี้ เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าดังกล่าวปรากฏว่า โจทก์ทั้งห้าบรรยายมาในคำฟ้องด้วยว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นราษฎรอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์หนองปลาแขยง หนองหินตั้ง และบุ่งกระเบา โดยการจับปลาในฤดูฝน และเลี้ยงสัตว์ เก็บฟืนในฤดูแล้ง ทั้งยังบรรยายมาในคำฟ้องด้วยว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ มีอำนาจหน้าที่รับจดทะเบียนและออกเอกสารสิทธิในที่ดินท้องที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี จำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานของรัฐ ต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจหน้าที่ปกครองและกำกับดูแลจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 เป็นหน่วยงานปกครองท้องถิ่น มีอำนาจตามกฎหมายในการดูแลรักษาที่ดินสาธารณประโยชน์ รวมทั้งดำเนินคดีแก่ผู้บุกรุกและฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิผู้บุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ ทั้งยังมีอำนาจตรวจสอบรังวัดที่ดินสาธารณประโยชน์ในท้องที่ของตนอีกด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันออกเอกสารสิทธิในที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวให้แก่ผู้บุกรุกโดยมิชอบ ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ละเลยต่อหน้าที่ดูแลรักษา เป็นเหตุให้มีผู้บุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวโดยมิชอบ ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าที่กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันออกเอกสารสิทธิในที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวให้แก่ผู้บุกรุกโดยมิชอบ ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ละเลยต่อหน้าที่ดูแลรักษา เป็นเหตุให้มีผู้บุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวโดยมิชอบนั้น หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์ทั้งห้ากล่าวอ้าง ย่อมทำให้โจทก์ทั้งห้าไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์หนองปลาแขยง หนองหินตั้ง และบุ่งกระเบา โดยการจับปลาในฤดูฝน และเลี้ยงสัตว์ เก็บฟืนในฤดูแล้งได้ตามปกติ ต้องถือว่าโจทก์ทั้งห้ามีข้อโต้แย้งสิทธิกับจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งห้าไม่ได้รับความเสียหายโดยตรงหรือเดือดร้อนเกินกว่าที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าข้ออื่น เพราะไม่อาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป และเนื่องจากคดีนี้ยังมิได้มีการสืบพยาน จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247 (เดิม)
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ พยานจำเลยและพยานผู้ร้องต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ