คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1893-1894/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถคันเกิดเหตุเป็นรถที่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ใช้วิ่งร่วมกับจำเลยที่ 3 รับส่งคนโดยสาร โดยทาสีเป็นสีเดียวกับรถของจำเลยที่ 3 มีตราของจำเลยที่ 3 และอักษรย่อ บ.ข.ส. ติดที่ข้างรถและต้องเสียค่าขาหรือค่าออกรถให้จำเลยที่ 3 การออกรถจากสถานีมีนายสถานีคนของจำเลยที่ 3 กำหนดเวลาให้ออก ถือว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกิจการเดินรถกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และถือได้ว่าเป็นกิจการของจำเลยที่ 3 ด้วย น. คนขับรถคันเกิดเหตุซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมจะต้องเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย เมื่อ น. กระทำการละเมิด จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๒ เป็นภรรยาและบุตรผู้เยาว์และทายาทผู้รับมรดกของนายบุญเพชร กิจเจริญ จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ เป็นสามีภรรยากัน จำเลยที่ ๓ เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ในการประกอบการขนส่ง จำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาต่อกันโดยจำเลยที่ ๓ ได้รับโอนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนที่ ป.จ. ๐๐๓๔๐ คันเกิดเหตุจากจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ จัดให้รถยนต์คันดังกล่าวรับคนโดยสารระหว่างสถานีปราจีนบุรีกับอรัญญประเทศตลอดมา จนถึงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๘ นายน้อย บำรุง ลูกจ้างของจำเลยทั้งสามคนได้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุ เพื่อรับส่งคนโดยสาร ตามทางการที่จำเลยทั้งสามจ้าง ระหว่างทางห้ามล้อรถแตกชำรุดใช้การไม่ได้ ไฟหน้ารถยนต์ดวงข้างขวาใช้การไม่ได้ แต่นายน้อยยังคงขับต่อไป และขับออกนอกทางของรถยนต์ไปในทางของรถยนต์ที่แล่นสวนทางมา จนเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์แลนด์โรเวอร์ของนายบุญเพชร กิจเจริญ ซึ่งขับสวนทางมา รถของนายบุญเพชร กิจเจริญ พังยับเยินใช้การไม่ได้ นายบุญเพชรกับพวกได้รับบาดเจ็บสาหัส นายบุญเพชรถึงแก่ความตายในวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๐๘ ขอให้จำเลยทั้งสามคนร่วมกันใช้ค่ารถยนต์ ค่าปลงศพ ค่ารักษาพยาบาลก่อนตาย ค่าใช้จ่ายในการนำนายบุญเพชรส่งโรงพยาบาลและนำศพกลับ ค่าหีบศพ ค่าใช้จ่ายในการตั้งศพบำเพ็ญกุศล ค่าก่อสร้างที่เก็บศพไว้รอการปลงศพ ค่าใช้จ่ายบำเพ็ญกุศล ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน และ ๑ ปี กับเรียกค่าขาดไร้อุปการะสำหรับโจทก์ที่ ๒ ด้วย รวมทั้งสิ้น ๔๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมกับดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๐๘
จำเลยที่ ๑, ๒ ให้การ และเพิ่มเติมคำให้การว่า รถคันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ ๑ หาใช่ของจำเลยที่ ๒ ไม่ นายน้อย บำรุง ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิด วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๘ นายน้อยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ป.จ. ๐๐๓๔๐ คันเกิดเหตุ โดยอยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ ๑ ห้ามล้อคงใช้การได้ดี ไฟหน้ารถดวงด้านขวายังสว่างใช้การได้ เหตุที่รถชนกัน เป็นความผิดของนายบุญเพชร กิจเจริญ ที่ขับรถมาชนรถของจำเลยที่ ๑ ในทางของจำเลยที่ ๑ โจทก์ที่ ๒ จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบุญเพชรหรือไม่ ไม่รับรองและไม่มีอำนาจฟ้อง และต่อสู้เรื่องค่าเสียหายไม่ถึงจำนวนที่ฟ้อง ทั้งต่อสู้ด้วยว่า ฟ้องโจทก์ในเรื่องค่าเสียหายรถยนต์แลนด์โรเวอร์เคลือบคลุม ไม่แสดงรายละเอียด โจทก์ฟ้องผิดศาล
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ เคยรับใบอนุญาตจากทางราชการให้ประกอบการขนส่งประจำทาง จากพระนครถึงอำเภออรัญประเทศ แต่ใบอนุญาตสิ้นอายุตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๐๗ จำเลยที่ ๓ เพียงแต่ได้รับการผ่อนผันจากทางราชการให้เดินรถตามเส้นทางเดิมไปพลางก่อน จำเลยที่ ๓ ไม่ได้ทำหนังสือสัญญากับจำเลยที่ ๑ ระหว่างที่ใบอนุญาตยังไม่สิ้นอายุ จำเลยที่ ๓ เคยทำสัญญามีข้อความทำนองเดียวกับสัญญาตามสำเนาท้ายฟ้องกับจำเลยที่ ๑ แต่ต่อมาจำเลยที่ ๓ บอกเลิกสัญญาไปแล้ว ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ ระหว่างเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ นำรถยนต์รับคนโดยสารโดยพลการ หาได้อยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ ๓ ไม่ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์หมายเลขทะเบียน ป.จ. ๐๐๓๔๐ ให้จำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ ไม่ได้ควบคุมหรือครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว การที่ทำสัญญากันไว้ว่าจำเลยที่ ๑ โอนรถยนต์คันดังกล่าวให้จำเลยที่ ๓ เป็นเพียงพิธีการเพื่อให้สมคล้อยกับใบอนุญาตให้ประกอบการขนส่งของจำเลยที่ ๓ เท่านั้น จำเลยที่ ๓ ได้เพียงค่าบริการที่เรียกเก็บจากจำเลยที่ ๑ เป็นการตอบแทนที่จำเลยที่ ๑ นำรถยนต์เข้ามาวิ่งในเส้นทาง ไม่ได้มีส่วนได้เสียในการเดินรถกับจำเลยที่ ๑ หนังสือสัญญาดังสำเนาท้ายฟ้อง เป็นหนังสือที่จำเลยที่ ๑ ทำเสนอจำเลยที่ ๓ เพื่อขอทำสัญญากับจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ ไม่ได้ตกลงรับเป็นคู่สัญญา และไม่มีลายมือชื่อกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ ๓ สัญญาตามสำเนาท้ายฟ้องไม่ผูกพันจำเลยที่ ๓ นายน้อย บำรุง ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ เหตุที่รถชนกันเป็นความประมาทเลินเล่อของนายบุญเพชร กิจเจริญ ค่าเสียหายจำนวนไม่ถึงจำนวนที่โจทก์ฟ้อง
ศาลชั้นต้นฟังว่า นายน้อย บำรุง เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ รถเกิดชนกันเป็นผลจากความประมาท ของนายน้อย บำรุง และเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ขณะเกิดเหตุรถของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ เดินร่วมอยู่ในเครือของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ ได้รับผลประโยชน์จากการเดินรถ จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสามรวมกิจการเดินรถโดยสารร่วมกันได้รับประโยชน์ร่วมกัน นายน้อยเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ก็ย่อมจะต้องเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ ด้วย จำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิด
โจทก์ที่ ๓ เป็นภริยา และโจทก์ที่ ๒ เป็นบุตรของผู้ตายจึงมีอำนาจฟ้อง พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ส่วนหนึ่ง ร่วมกับบริษัทขนส่งจำกัด จำเลยที่ ๓ อีกส่วนหนึ่ง ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ๓๓๙,๐๐๐ บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย ร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๐๘ จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์ให้ยกฟ้อง พร้อมทั้งวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ ๑๓,๕๑๕ บาท
ระหว่างอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำแถลงว่าศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยที่ ๓ แล้วจึงขอรับเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยวางศาลไว้ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์รับไปได้ จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องขอให้โจทก์นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่รับไปมาวางศาลตามเดิม ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ขอให้โจทก์นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่รับไปมาวางศาลตามเดิม
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำเลยที่ ๓ ร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ส่วนข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์รับเงินค่าฤชาธรรมเนียมไปนี้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้โจทก์นำมาวางศาลชั้นต้นตามเดิมภายใน ๗ วัน โจทก์นำเงินดังกล่าวมาวางศาลชั้นต้นแล้ว
จำเลยฎีกาที่ ๓ ฎีกาขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีสิทธิรับเงินค่าธรรมเนียมและค่าหมายความทั้งหมด ไม่จำต้องนำมาวางศาลไว้ตามเดิม
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า รถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน ป.จ. ๐๐๓๔๐ ซึ่งนายน้อย บำรุง ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ขับชนรถของผู้ตายนี้เป็นรถของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ใช้วิ่งร่วมกับจำเลยที่ ๓ ทาสีส้มหรือสีหมากสุกอันเป็นสีรถของจำเลยที่ ๓ มีตราของจำเลยที่ ๓ และอักษรย่อ บ.ข.ส. ติดที่ข้างรถ การเดินรถร่วมกับจำเลยที่ ๓ ต้องเสียเงินค่าขาหรือค่าออกรถให้จำเลยที่ ๓ การออกรถจากสถานีมีนายสถานีของจำเลยที่ ๓ กำหนดเวลาให้ออก เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นรถที่เข้าร่วมวิ่งกับจำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๓ ได้รับผลประโยชน์จากการเดินรถร่วมของจำเลยที่ ๑ ขณะเกิดเหตุรถจำเลยที่ ๑ คงร่วมวิ่งกัยจำเลยที่ ๓ ในเส้นทางดังกล่าว จำเลยที่ ๓ จึงร่วมกิจการเดินรถกับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ถือได้ว่าเป็นกิจการของจำเลยที่ ๓ ด้วย เมื่อนายน้อย บำรุง เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ก็ย่อมจะต้องเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ ด้วย จำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดในการละเมิดของนายน้อย บำรุง
สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ขอให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าโจทก์มีสิทธิรับเงินค่าธรรมเนียมและค่าทนายความ ซึ่งจำเลยที่ ๓ วางศาลในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นว่า บัดนี้คดีโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๓ รับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ถึงที่สุดแล้ว โดยโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี คดีหมดความจำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ต่อไป
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลยที่ ๓ และยกฎีกาโจทก์ ให้จำเลยที่ ๓ ใช้ค่าทนายชั้นฎีกาแทนโจทก์เป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท

Share