คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1459/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 กับพวกปล้นทรัพย์ของผู้ตาย และผู้ถูกใช้ได้กระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1แล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับผลของการกระทำของผู้ถูกใช้ในการปล้นทรัพย์นั้นทั้งสิ้น เมื่อการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้ายจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ใช้ย่อมต้องรับผิดในผลการกระทำของผู้ถูกใช้อันเนื่องจากการปล้นทรัพย์เสมือนเป็นตัวการเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2ที่ 3 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา288, 289, 340, 340 ตรี, 83, 84, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78 ให้จำเลยทั้งสามคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน จำนวน 45,300 บาท แก่เจ้าของและทายาทของผู้ตาย จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา288, 289(7), 340 วรรคท้าย, 340 ตรี, 83, 84, 90 ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสาม จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 55, 72 ทวิ, 78 ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฐานมีอาวุธปืนซึ่งไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ จำคุกคนละ4 ปี ฐานพาอาวุธปืน จำคุกคนละ 6 เดือน คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(1) ให้จำคุกจำเลยทั้งสามไว้ตลอดชีวิต ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืนซึ่งไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3คนละ 2 ปี 8 เดือน ฐานพาอาวุธปืนจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ4 เดือน เมื่อเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3)คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้ตลอดชีวิต ให้จำเลยทั้งสามคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 45,300 บาท แก่เจ้าของและทายาทของผู้ตาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 3ไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 โดยถือว่าคดีมาสู่ศาลอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 245 ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี, 84 จำคุก 24 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรีจำคุกคนละ 24 ปี และความผิดข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี กับความผิดข้อหาพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร จำคุกคนละ 6 เดือน รวมเป็นโทษจำคุกจำเลยที่ 2และที่ 3 คนละ 26 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 16 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 17 ปี 8 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ได้จ้างวานใช้ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 กับพวกปล้นทรัพย์ของผู้ตายและเมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 กับพวกปล้นทรัพย์ของผู้ตายกับผู้เสียหายแล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 กับพวกซึ่งมีอาวุธปืนได้คุมผู้ตายนั่งรถยนต์ไปด้วยเป็นการแสดงการขู่เข็ญว่าจะกระทำร้ายเพื่อความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ที่ 3 กับพวกในการปล้นทรัพย์ จึงมีการกระทำอันเป็นการปล้นทรัพย์อยู่ตลอดเวลา เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 กับพวกคุมผู้ตายไปยังที่ที่พบศพผู้ตายแล้ว คนร้ายคนหนึ่งใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายแสดงว่ามีเจตนาปกปิดการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ การฆ่าผู้ตายจึงเป็นส่วนหนึ่งของการปล้นทรัพย์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 กับพวกปล้นทรัพย์ของผู้ตายและผู้ถูกใช้ได้กระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับผลของการกระทำของผู้ถูกใช้ในการปล้นทรัพย์นั้นทั้งสิ้น เมื่อการปล้นทรัพย์รายนี้เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ใช้ก็ย่อมต้องรับผิดในผลการกระทำของผู้ถูกใช้อันเนื่องจากการปล้นทรัพย์ในฐานะเสมือนเป็นตัวการเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี, 84 จำเลยที่ 2และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสาม คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(1) คงจำคุกตลอดชีวิต เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่นำโทษจำคุกความผิดกระทงอื่นมารวมกับโทษจำคุกตลอดชีวิตสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share