คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1458/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะทำหนังสือยินยอมให้จำเลยหักค่าจ้างชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่ง อ. สามีโจทก์ได้กระทำไว้แก่จำเลย แต่ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 76 บัญญัติห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงหน้า ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ… (1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ กับ… (4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง กรณีตาม (4) นั้นมุ่งหมายถึงตัวลูกจ้างโดยตรงเป็นผู้กระทำให้เกิดหนี้หรือความเสียหายแก่นายจ้างและลูกจ้างได้ให้ความยินยอมแล้วจึงหักค่าจ้างลูกจ้างได้ แต่คดีนี้โจทก์เป็นเพียงภริยาของ อ. มิได้เป็นผู้ก่อหนี้หรือความเสียหายแก่จำเลยแต่อย่างใด กรณีย่อมไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้โจทก์จะทำหนังสือยอมให้หักค่าจ้างได้จำเลยก็หาอาจจะหักค่าจ้างของโจทก์ได้ไม่ คำว่าหนี้อื่นๆ นั้นหมายถึงหนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น การชำระหนี้ภาษีเงินได้ของลูกจ้าง หรือการชำระเงินสะสมกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างซึ่งเกิดจากกฎหมายกำหนดหรือบัญญัติไว้ แต่กรณีนี้สามีโจทก์เป็นผู้กระทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย จึงมิใช่หนี้อื่นๆ ตามนัยแห่งมาตรา 76 วรรคหนึ่ง (1) จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าจ้างให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยจ่ายค่าจ้างรวม 99,497 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าจ้างที่หักไว้ 98,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 5 สิงหาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งพนักงานขับรถตั้งแต่ปี 2541 ระหว่างเป็นลูกจ้างจำเลยได้ให้โจทก์ลงชื่อให้ความยินยอมให้จำเลยหักเงินค่าจ้างโจทก์ได้เป็นจำนวน 180,000 บาท เพื่อชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยซึ่งนายออด หาญสูงเนิน สามีโจทก์ได้กระทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยหักค่าจ้างโจทก์ไว้บางส่วนเรื่อยมาถึงเดือนมิถุนายน 2546 เป็นเงิน 98,000 บาท แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่ามิใช่กรณีโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเป็นผู้กระทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจึงไม่เข้าข้อยกเว้น จำเลยจึงหักค่าจ้างโจทก์ไม่ได้ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมีสิทธิหักค่าเสียหายจากค่าจ้างของโจทก์ได้เพราะโจทก์ได้ให้ความยินยอมแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างสมัครใจตกลงผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลย ถือได้ว่าโจทก์ได้ยอมรับผิดจะชำระหนี้ค่าเสียหายที่สามีโจทก์ได้กระทำไปอันเป็นหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นหนี้อื่นๆ ตามความหมายในมาตรา 76 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ด้วย จำเลยจึงมีสิทธิหักค่าจ้างของโจทก์และไม่ต้องคืนเงินค่าจ้างส่วนที่หักไว้แล้วแก่โจทก์ เห็นว่า แม้โจทก์จะทำหนังสือยินยอมให้จำเลยหักค่าจ้างชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งนายออดสามีโจทก์ได้กระทำไว้แก่จำเลยก็ตามแต่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 บัญญัติไว้ว่าห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดเว้นแต่เป็นการหักเพื่อ… (1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ กับ… (4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง กรณีตาม (4) นั้น มุ่งหมายถึงตัวลูกจ้างโดยตรงเป็นผู้กระทำให้เกิดหนี้หรือความเสียหายแก่นายจ้างและลูกจ้างได้ให้ความยินยอมแล้ว จึงหักค่าจ้างลูกจ้างได้ แต่ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้โจทก์เป็นเพียงภริยาของนายออดมิได้เป็นผู้ก่อหนี้หรือความเสียหายแก่จำเลยแต่อย่างใด กรณีย่อมไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้โจทก์จะทำหนังสือยอมให้หักค่าจ้างได้ก็ตามจำเลยก็หาอาจจะหักค่าจ้างของโจทก์ได้ไม่ ส่วนที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์อีกว่า หนี้ของสามีโจทก์เป็นหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งยังเป็นหนี้อื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 76 วรรคหนึ่ง (1) เช่นกัน เมื่อโจทก์ทำหนังสือยินยอมให้หักค่าจ้างโจทก์ไว้ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะหักค่าจ้างโจทก์ได้ เห็นว่า คำว่าหนี้อื่นๆ นั้นย่อมหมายถึงหนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น การชำระภาษีเงินได้ของลูกจ้างนั้นเอง หรือการชำระเงินสะสมกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างนั้นเอง เป็นต้น ซึ่งเกิดจากกฎหมายกำหนดหรือบัญญัติไว้ แต่กรณีนี้สามีโจทก์เป็นผู้ทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย จึงมิใช่หนี้อื่นๆ ตามนัยแห่งมาตรา 76 วรรคหนึ่ง (1) จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าจ้างให้โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share