คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1456/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์จะตกอยู่ในบังคับตามเงื่อนไขห้ามโอนที่ระบุไว้ใน พระราชบัญญัติ จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ก็ตาม แต่โจทก์ยังคงมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท และย่อมมีสิทธิขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่พิพาทและห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า เดิมที่พิพาทเป็นของนายหนูเมื่อปี 2515 นายหนูขายให้จำเลย แต่โจทก์จดทะเบียนโอนที่พิพาทเป็นของโจทก์ ขอให้ยกฟ้องและเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่พิพาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สัญญาซื้อขายที่จำเลยอ้างเป็นเอกสารปลอมและเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายต่อไปว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ รัฐเท่านั้นที่จะฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองได้ ศาลฎีกาเห็นว่าถึงแม้การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์จะตกอยู่ในบังคับตามเงื่อนไขห้ามโอนที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ก็ตาม โจทก์ยังคงมีสิทธิเข้ายึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าวได้ ส่วนจะได้กรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิเพียงใดนั้นเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับโจทก์ แต่ระหว่างราษฎรด้วยกันโจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาทอันเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share