แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกภายใต้เงื่อนไข 4 ข้อเมื่อโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงได้ค. กรรมการรักษาการผู้จัดการจำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์มีข้อความว่า “เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและ ข้อตกลงได้ คณะกรรมการฯมีมติให้ความรับผิดชอบของโจทก์ ในการปิดบัญชีครั้งนี้สิ้นสุดลงทันที” ดังนั้น การที่ คณะกรรมการจำเลยมีมติดังกล่าวจึงมีผลเท่ากับจำเลยอนุญาต ให้โจทก์ลาออกโดยไม่ถือเอาประโยชน์ตามเงื่อนไขทั้งสี่ข้อต่อไปอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ เงินสะสมเงินสมทบ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันลาออกจนกว่าชำระเสร็จ และค่าจ้างค้างพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด (วันที่ 9 สิงหาคม 2540) จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ก่อนโจทก์ลาออก โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการร้านดูแลรับผิดชอบฝ่ายบัญชี ได้รับมอบหมายจัดทำงบการเงินประจำปี โดยโจทก์ให้สัญญาว่าจะทำและปิดบัญชีให้เสร็จในเดือนกรกฎาคม 2540 หากไม่เสร็จจะขอรับเงินอันพึงได้จากการลาออกภายหลังจากการทำงบดุลเสร็จ และค่าจ้าง 21,099 บาทโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง เพราะจำเลยมิได้ว่าจ้างให้โจทก์ทำงานต่อ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ 97,380 บาท เงินสะสม 55,202.58 บาท เงินสมทบ 56,411.50บาท และค่าจ้าง 21,099 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 17 มีนาคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ เงินสะสม เงินสมทบ และค่าจ้างตามฟ้องอยู่แล้วการที่โจทก์มีหนังสือลาออกจากงาน จำเลยอนุมัติให้ลาออกภายใต้เงื่อนไข 4 ข้อ เมื่อโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงได้ ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2540 นายคมจักร ปะหะกิจกรรมการรักษาการผู้จัดการได้มีหนังสือถึงโจทก์ มีข้อความว่า”ตามที่โจทก์ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการฯ ให้ทำการปิดบัญชีประจำปี 2539 ให้เสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2540แต่เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงได้คณะกรรมการฯ มีมติให้ความรับผิดชอบของโจทก์ในการปิดบัญชีครั้งนี้สิ้นสุดลงทันที” เห็นได้ว่า การที่คณะกรรมการจำเลยมีมติให้ความรับผิดชอบของโจทก์ในการปิดบัญชีครั้งนี้สิ้นสุดลงทันทีมีผลเท่ากับจำเลยอนุญาตให้โจทก์ลาออกโดยไม่ถือเอาประโยชน์ตามเงื่อนไขทั้งสี่ข้อดังกล่าวอีกต่อไป จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามสิทธิของโจทก์อันจะพึงได้รับให้แก่โจทก์”
พิพากษายืน