แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คำขอท้ายฟ้องโจทก์เป็นเอกสารที่ถ่ายสำเนาจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ผู้เรียงและผู้พิมพ์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) หากศาลชั้นต้นตรวจพบข้อผิดพลาดดังกล่าวก็จะใช้อำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 สั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องให้ถูกต้องหรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้องได้ แต่ถ้าศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาจนคดีขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แล้ว การที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้เพราะศาลชั้นต้นได้สั่งประทับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นแล้ว การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาพิพากษาคดีจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่อาจพิจารณาฟ้องของโจทก์ได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา พนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ลงโทษในข้อหาเดียวกัน โดยอ้างว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย
จำเลยยื่นคำร้องขอให้รวมการพิจารณาคดีนี้กับคดีพนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีเป็นโจทก์ ต่อมาจำเลยขอถอนคำร้องดังกล่าว แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองเข้าด้วยกัน โดยเรียกนางป่วน ว่า โจทก์ที่ 1 พนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีว่า โจทก์ที่ 2 และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยขับรถประมาทตามฟ้องจริงแต่ผู้ตายก็มีส่วนประมาทด้วย ศาลชั้นต้นจึงให้นัดสืบพยานโจทก์ทั้งสองและพยานจำเลย เมื่อถึงวันสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เนื่องจากศาลมีคำสั่งให้แยกสำนวนคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีเป็นโจทก์ออกจากคดีนี้ และมีคำพิพากษาคดีดังกล่าวไปแล้ว สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการรวมพิจารณา คำสั่งงดสืบพยานและคำสั่งให้จำหน่ายคดี
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คำขอท้ายฟ้องโจทก์เป็นเอกสารที่ถ่ายสำเนา จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ผู้เรียงและผู้พิมพ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) หากศาลชั้นต้นตรวจพบข้อผิดพลาดดังกล่าวก็จะใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 สั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องให้ถูกต้องหรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้องได้ แต่ถ้าศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาจนคดีขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แล้ว การที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ย่อมล่วงเลยเวลาจะปฏิบัติได้เพราะศาลชั้นต้นได้สั่งประทับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นแล้ว การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาพิพากษาคดีฟ้องโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่อาจพิจารณาฟ้องของโจทก์ได้ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์”
พิพากษายกฟ้อง