คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1445/2482

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุตร์ชนะความมารดาเลี้ยงแล้วยึดสินบริคณห์ส่วนของมารดาเลี้ยงแล้ว บิดาร้องขัดทรัพย์นั้นไม่เป็นคดีอุทลุม หนี้ที่ภริยาทำนิติกรรมในระหว่างเป็นภริยาแล้วโดยสามีรู้เห็นยินยอม เจ้าหนี้ก็มีสิทธิ์ยึดสินบริคณห์ส่วนของภริยาได้เช่นเดียวกันทั้งสองกรณี โจทก์ยื่นคำร้องยึดทรัพย์และยื่นคำร้องขอแยกสินบริคณห์ส่วนของภริยาสามีร้องขัดทรัพย์ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิ์ยึดสินบริคณห์ ศาลสั่งให้ดำเนินคดีเรื่องขัดทรัพย์ก่อนเรื่องแยกสินบริคณห์ได้.

ย่อยาว

โจทก์ชนะความจำเลยในเรื่องเงินกู้แล้วนำยึดสิทธิ์เก็บกิน(ซึ่งเป็นสิทธิ์เก็บค่าเช่า) ในที่ดิน ๒ แปลง โดยอ้างว่าเป็นสินบริคณห์ระหว่างผู้ร้องกับจำเลยซึ่งเป็นสามีภริยากัน เมื่อโจทก์ยึดทรัพย์รายนี้แล้วได้ยื่นคำร้องว่า ทรัพย์ที่ยึดยังไม่พอชำระหนี้ ขอให้แยกสินบริคณห์ในทรัพย์ที่ยึดไว้เป็นส่วนของจำเลย ศาลแพ่งนัดไต่สวนแต่พอดีผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์อ้างว่า ทรัพย์ที่ยึดเป็นสินบริคณห์ ผู้ร้องไม่ได้รู้เห็นยินยอมในการที่จำเลยเป็นหนี้เงินรายที่โจทก์ชนะคดีจึงไม่ผูกพันสินปริคณห์ และทั้งโจทก์ก็เป็นบุตร์ผู้ร้อง การยึดทรัพย์เช่นนี้จึงเป็นอุทลุม.
ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า คดีไม่เป็นอุทลุม และทรัพย์ที่ยึดเป็นสินบริคณห์ระหว่างจำเลยกับผู้ร้องและส่วนของจำเลยก็ยังไม่ได้แยกออก โจทก์จึงไม่มีสิทธิ์ยึด จึงให้ถอนการยึดทรัพย
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ไม่จำต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยากันเมื่อใด ควรพิจารณาเพียงว่าผู้ร้องรู้เห็นยินยอมในการที่จำเลยเป็นหนี้รายนี้หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ฟังว่า ผู้ร้องรู้เห็นยินยอมและโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแยกสินบริคณห์แล้ว ศาลจึงมีอำนาจสึ่งยึดได้ จึงให้ยกคำร้องขัดทรัพย์
ผู้ร้องฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ถ้าผู้ร้องและจำเลยเป็นสามีภริยากันขณะทำสัญญากู้ คดีก็ฟังได้ว่าผู้ร้องให้ความยินยอม ถ้ายังไม่เป็นสามีภริยากันขณะนั้น หนี้รายนี้ก็เป็นหนี้ส่วนตัวจำเลยซึ่งโจทก์มีสิทธิ์ยึดทรัพย์ส่วนของจำเลยได้เช่นเดียวกันทั้งสองกรณี จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์.

Share