คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1444/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องทั้งสองเข้าครอบครองที่พิพาททั้งสามแปลงไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันตั้งแต่ปี 2518 ตลอดมาจนถึงวันยื่นคำร้องขอเป็นเวลาเกินสิบปีแล้ว และเมื่อผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ซื้อที่พิพาททั้งสามแปลงจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลฟ้องขับไล่ผู้ร้องทั้งสองออกจากที่พิพาทดังกล่าว ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้คัดค้านมิใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงผูกพันผู้คัดค้านและผู้ร้องทั้งสอง ซึ่งเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของคดีดังกล่าวให้ฟังได้ว่าผู้คัดค้านซื้อที่พิพาททั้งสามแปลงโดยไม่สุจริต แม้ผู้ร้องทั้งสองจะยังไม่จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่พิพาททั้งสามแปลง ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้คัดค้านได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง
คดีนี้ไม่เป็นการร้องขอซ้ำกับคดีของศาลชั้นต้นที่ผู้คัดค้านฟ้องผู้ร้องทั้งสองเรื่องละเมิดและขับไล่ออกจาก ที่พิพาท เพราะคดีดังกล่าวแม้ผู้ร้องทั้งสองจะฟ้องแย้งขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่พิพาททั้งสามแปลง แต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและมิได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว โดยถือว่าผู้ร้องทั้งสองสละประเด็นแล้ว ซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน กรณีจึงยังมิได้มีการวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาททั้งสามแปลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ชอบแล้ว

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 19629, 19630 และ 19631 ตำบลลาดยาว (บางซื่อฝั่งเหนือ) เขตบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ทั้งสามแปลงดังกล่าวเนื้อที่ 58, 58 และ 29 ตารางวา ตามลำดับ โดยการครอบครองปรปักษ์
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้พิพากษาว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อที่พิพาทโดยสุจริตและเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทและขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทโฉนดเลขที่ 19629, 19630 และ 19631 ตำบลลาดยาว (บางซื่อฝั่งเหนือ) เขตบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 58, 58 และ 29 ตารางวา ตามลำดับ ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนผู้ร้องทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 44424 ตำบลลาดยาว (บางซื่อฝั่งเหนือ) เขตบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 19629, 19630 และ 19631 ตำบลลาดยาว (บางซื่อฝั่งเหนือ) เขตบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร อันเป็นที่พิพาท เป็นของนายวีระและนางวัชรี เมื่อปี 2511 นายวีระและนางวัชรีให้พลตำรวจเอกจำรัสถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 44424 เนื้อที่ 431 ตารางวา เมื่อปี 2521 เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่พิพาททั้งสามแปลง นำออกขายทอดตลาดเมื่อปี 2527 ผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อที่พิพาททั้งสามแปลง เมื่อปี 2538 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีที่ผู้คัดค้านฟ้องผู้ร้องทั้งสองเรื่องละเมิดและขับไล่ว่า ผู้คัดค้านซื้อที่พิพาททั้งสามแปลงจากการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริต และให้ยกฟ้อง มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้คัดค้านว่า คดีนี้เป็นการร้องขอซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3096/2533 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เมื่อฟังว่าผู้ร้องทั้งสองเข้าครอบครองที่พิพาททั้งสามแปลงไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันตั้งแต่ปี 2518 ตลอดมาจนถึงวันยื่นคำร้องขอเป็นเวลาเกินสิบปีแล้ว และเมื่อผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ซื้อที่พิพาททั้งสามแปลงจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลฟ้องขับไล่ผู้ร้องทั้งสองออกจากที่พิพาทดังกล่าว ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้คัดค้านมิใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงผูกพันผู้คัดค้านและผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของคดีดังกล่าวให้ฟังได้ว่าผู้คัดค้านซื้อที่พิพาททั้งสามแปลงโดยไม่สุจริต แม้ผู้ร้องทั้งสองจะยังไม่จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่พิพาททั้งสามแปลง ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้คัดค้านได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง
คดีนี้ไม่เป็นการร้องขอซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 3096/2533 ของศาลชั้นต้น เพราะคดีดังกล่าวแม้ผู้ร้องทั้งสองจะฟ้องแย้งขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่พิพาททั้งสามแปลง แต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและมิได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว โดยถือว่าผู้ร้องทั้งสองสละประเด็นแล้ว ซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน กรณีจึงยังมิได้มีการวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาททั้งสามแปลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ชอบแล้ว ฎีกาผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share