คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 23/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิต พ.ศ.2511 มาตรา 30 บัญญัติให้จำเลยเท่านั้นเป็นผู้จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตามความเป็นธรรมให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่นในที่ดินที่ถูกสายส่งไฟฟ้าพาดผ่าน การที่จำเลยมีหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ขอให้มีคำสั่งไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อตั้งคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินฯ ให้แก่ราษฎรเจ้าของที่ดินที่ถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าของจำเลยพาดผ่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ออกคำสั่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ 1476/2536 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินฯ ได้มีมติในการประชุมกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และราษฎรที่ถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านเรื่อยมานั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงการขอความร่วมมือจากส่วนราชการในพื้นที่ที่จำเลยประกาศกำหนดแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินของราษฎร เพื่อขอให้ช่วยพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้เป็นธรรมเท่านั้น มติของที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สิน ฯ จึงมิใช่คำสั่งทางปกครองอันจะมีผลผูกพันจำเลยให้ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ตามมติดังกล่าวแต่อย่างใด เป็นเพียงความเห็นที่เสนอเพื่อให้จำเลยใช้พิจารณาประกอบดุลพินิจในการจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่นในที่ดินที่ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าของจำเลยพาดผ่านให้เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 เท่านั้น หากจำเลยเห็นว่ามติของคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินฯ ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมย่อมมีอำนาจไม่เห็นชอบกับมติที่ประชุมดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินในส่วนที่จำเลยตั้งเสาส่งไฟฟ้าที่ดินในเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านและที่ดินนอกเขตรัศมีสายส่งไฟฟ้าที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ให้แก่โจทก์ทั้งห้าเป็นเงิน 5,968,520.86 บาท และจำเลยยังต้องชำระค่าเสื่อมราคาที่ดินที่จำเลยตั้งเสาส่งไฟฟ้าให้โจทก์ทั้งห้าเป็นเงิน 134,182,448.75 บาท ค่าเสื่อมราคาที่ดินที่ถูกเขตสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านเป็นเงิน 4,075,848.050 บาท ค่าเสื่อมราคาที่ดินในส่วนที่เหลือนอกแนวเขตรัศมีสายส่งไฟฟ้าเป็นเงิน 940,561,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จด้วย ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 24,704,275.50 บาท 750,402,709.47 บาท และ 185,535,369.86 บาท และขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายกรณีละเมิดเป็นเงิน 239,452,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินค่าทดแทนที่ดินแก่โจทก์ทั้งห้าเป็นเงิน 5,968,520,515.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าราคาที่ดินที่เสื่อมราคาเป็นเงิน 6,111,234,103.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้รับฟ้องโจทก์ที่ 2 เป็นไม่รับฟ้องโจทก์ที่ 2
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มสำหรับที่ดินในเขตเดินสายส่งไฟฟ้าให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 22,404,218.75 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 5,958,200 บาท แก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 93,729,968.75 บาท และแก่โจทก์ที่ 5 จำนวน 111,576,150 บาท โดยให้โจทก์ที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ได้รับดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินของเงินต้นที่จำเลยต้องชำระดังกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนดอกเบี้ยของโจทก์ที่ 3 ให้คิดในอัตราเดียวกันจากเงินต้น 24,682,350 บาท ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 ถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2541 และคิดจากเงินต้น 5,958,200 บาท ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มสำหรับที่ดินที่ตั้งเสาส่งไฟฟ้าแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 635,250 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 295,225 บาท แก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 3,356,220 บาท และแก่โจทก์ที่ 5 จำนวน 3,528,533 บาท โดยชำระดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542 ให้โจทก์ที่ 1 จากเงินต้น 1,270,500 บาท ให้โจทก์ที่ 3 จากเงินต้น 539,000 บาท ให้โจทก์ที่ 4 จากเงินต้น 4,670,750 บาท และให้โจทก์ที่ 5 จากเงินต้น 5,054,875 บาท และคิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 จากเงินต้น 635,250 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จากเงินต้น 295,225 บาท แก่โจทก์ที่ 4 จากเงินต้น 3,356,220 บาท และแก่โจทก์ที่ 5 จากเงินต้น 3,528,533 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละรายชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 รวมกัน 30,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเพิ่มสำหรับที่ตั้งเสาส่งไฟฟ้าแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 247,975 บาท ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนนี้ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542 แก่โจทก์ที่ 1 จากเงินต้น 1,270,500 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จากเงินต้น 491,750 บาท แก่โจทก์ที่ 4 จากเงินต้น 4,670,750 บาท และแก่โจทก์ที่ 5 จากเงินต้น 5,054,875 บาท และคิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 จากต้นเงิน 635,250 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จากเงินต้น 247,975 บาท แก่โจทก์ที่ 4 จากเงินต้น 3,356,220 บาท และแก่โจทก์ที่ 5 จากเงินต้น 3,528,533 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นรายไป เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความคนละ 100,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองพิพากษาว่า พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิต พ.ศ.2511 มาตรา 30 บัญญัติให้จำเลยเท่านั้นเป็นผู้จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตามความเป็นธรรมให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่นในที่ดินที่ถูกสายส่งไฟฟ้าพาดผ่าน การที่จำเลยมีหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ขอให้มีคำสั่งไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อตั้งคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สิน ฯ ให้แก่ราษฎรเจ้าของที่ดินที่ถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าของจำเลยพาดผ่าน ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2536 ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ออกคำสั่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ 1476/2536 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อทำหน้าที่กำหนดเงินค่าทดแทนทรัพย์สินให้แก่ราษฎรที่ถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ จากสถานีไฟฟ้าย่อยไทรน้อยถึงสถานีไฟฟ้าย่อยหนองจอกตามสำเนาคำสั่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจากนั้นคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สิน ฯ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 กำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และราษฎรที่ถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านเรื่อยมานั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงการขอความร่วมมือจากส่วนราชการในพื้นที่ที่จำเลยประกาศกำหนดแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินของราษฎร เพื่อขอให้ช่วยพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้เป็นธรรมเท่านั้น มติของที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สิน ฯ ครั้งที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 จึงมิใช่คำสั่งทางปกครองอันจะมีผลผูกพันจำเลยให้ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ตามมติดังกล่าวแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากนายสมภพ หัวหน้าหน่วยกรรมสิทธิ์ที่ดินระบบส่ง กฟผ. ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยและเป็นกรรมการของคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สิน ฯ ได้แถลงในที่ประชุมครั้งที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 ว่า ขอรับมติของคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สิน ฯ ดังกล่าวไปเสนอฝ่ายบริหาร กฟผ. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สิน ฯ ได้มีมติรับทราบแล้ว จึงยิ่งแสดงให้เห็นขั้นตอนการปฏิบัติอย่างชัดเจนว่า กรณียังต้องนำมติที่ประชุมของคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สิน ฯ ที่มีมติกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินทุกครั้งไปเสนอฝ่ายบริหารของจำเลยเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป มติของคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สิน ฯ จึงเป็นเพียงความเห็นที่เสนอเพื่อให้จำเลยใช้พิจารณาประกอบดุลพินิจในการจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่นในที่ดินที่ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าของจำเลยพาดผ่านให้เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 เท่านั้น หากจำเลยเห็นว่ามติของคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สิน ฯ ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมย่อมมีอำนาจไม่เห็นชอบกับมติที่ประชุมดังกล่าวได้
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share