คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1444/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำให้การจำเลยที่ให้การต่อสู้ว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ยกที่พิพาทให้ ศ. แต่เป็นการขายที่พิพาทให้ ช. โดยให้ ศ.ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน เป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์ที่ 1 ได้ทำนิติกรรมยกให้อำพรางนิติกรรมการซื้อขายต้องบังคับตามนิติกรรมซื้อขายที่ถูกอำพรางไว้ นิติกรรมการยกให้เป็นการแสดงเจตนาลวงย่อมตกเป็นโมฆะ สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์เช่นนี้ จำเลยจึงนำสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 94 วรรคท้าย
โจทก์ที่ 1 ได้ขายที่พิพาทให้ ช.สามี ศ.เจ้ามรดก ที่พิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่าง ช.กับ ศ. เมื่อ ศ.ถึงแก่ความตาย การสมรสสิ้นสุดลงสินสมรสย่อมแยกกันตามกฎหมาย และตกเป็นมรดกของ ศ.กึ่งหนึ่ง ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกคือ โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของ ศ. และจำเลยซึ่งเป็นบุตร รวมทั้งช.สามีเจ้ามรดกได้คนละส่วนเท่ากัน โจทก์ทั้งสองต้องฟ้องแบ่งมรดกภายใน 1 ปีนับแต่วันทราบถึงการตายของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 วรรคหนึ่งโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2536 คดีจึงขาดอายุความแล้ว

Share