คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1444/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์ระบุในคำฟ้องทั้งสองสำนวนว่า นายพรเทพ คันตะปุระ เป็นจำเลยแล้ว โจทก์ขอแก้ชื่อจำเลย 2 ครั้ง ครั้งแรกขอแก้จาก “นายพรเทพ” เป็น “นายพลเทพ” ครั้งที่สองขอแก้เป็น “นายพรเทพหรือนายพลเทพ” โดยอ้างว่า จำเลยใช้ชื่อดังกล่าวทั้งสองชื่อ ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้แก้ทั้งสองครั้ง แล้วศาลชั้นต้นก็ได้สืบพยานโจทก์ต่อหน้าจำเลยคนนี้ตลอดมา ซึ่งจำเลยก็เป็นนายพรเทพตัวจริง ตามที่โจทก์ฟ้อง มิใช่ผู้อื่นมาสมอ้างว่าเป็นนายพรเทพแต่อย่างใดไม่ จึงถือไม่ได้ว่า ศาลชั้นต้นมิได้พิจารณาคดีต่อหน้าจำเลยอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดพลาด
โจทก์ยอมรับว่าโจทก์ฟ้องจำเลยผิดตัว เท่ากับยอมรับว่า จำเลยมิใช่ผู้กระทำผิด ต้องยกฟ้อง

ย่อยาว

คดี ๒ สำนวนนี้คู่ความรายเดียวกัน และศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจาการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓, ป.อ. มาตรา ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลสั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน
ระหว่างสืบพยานโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์มาศาลและพบตัวจำเลย ปรากฏว่าจำเลยไม่ใช่ผู้ออกเช็คตามฟ้อง จำเลยนี้ชื่อพรเทพ คัดตะปุระ มิใช่จำเลยที่แท้จริง จำเลยที่แท้จริงชื่อนายพลเทพ คันตะปุระ การพิจารณาคดีที่ผ่านมาจึงเป็นการผิดพลาด เพราะไม่ได้พิจารณาต่อหน้าจำเลย ขอให้ศาลยกเลิกกระบวนพิจารณาที่ผ่านมานับแต่นายพรเทพ คันตะปุระ มาศาล และหมายเรียกนายพลเทพ คันตะปุระมาเป็นจำเลยที่ถูกต้องต่อไป
ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยาน แล้วพิพากษายกฟ้อง ทั้งสองสำนวน
โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาของโจทก์ถือว่าเป็นข้อกฎหมายได้เฉพาะส่วนที่โจทก์อ้างว่ากระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นผิดพลาด เพราะไม่ได้กระทำต่อหน้าจำเลยต้องยกเลิกกระบวนพิจารณาดังกล่าว แล้วหมายเรียกนายพลเทพเข้ามาเป็นจำเลยเพื่อพิจารณาคดีใหม่เท่านั้น ฎีกาของโจทก์นอกจากนี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาหาอาจรับวินิจฉัยได้ไม่ แล้ววินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า เดิมโจทก์ระบุในคำฟ้องทั้งสองสำนวนว่า นายพรเทพ คันตะปุระ เป็นจำเลยแล้วโจทก์ขอแก้ชื่อจำเลย ๒ ครั้ง ครั้งแรกขอแก้จาก “นายพรเทพ” เป็น “นายพลเทพ” ครั้งที่สองขอแก้เป็น “นายพรเทพ หรือ นายพลเทพ” โดยอ้างว่าจำเลยใช้ชื่อดังกล่าวทั้งสองชื่อ ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้แก้ทั้งสองครั้งศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ในครั้งแรกโจทก์จะได้แก้ชื่อจำเลยเป็นนายพลเทพแล้ว แต่โจทก์ก็ขอแก้ใหม่เป็นนายพรเทพหรือนายพลเทพ โดยอ้างว่าจำเลยมี ๒ ชื่อ ซึ่งแสดงว่าโจทก์ยังยืนยันว่า นายพรเทพเป็นจำเลย เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คที่โจทก์ฟ้องอยู่นั่นเอง ศาลชั้นต้นก็ได้สืบพยานโจทก์ต่อหน้าจำเลยคนนี้ตลอดมา ซึ่งจำเลยก็เป็นนายพรเทพตัวจริง ตามที่โจทก์ฟ้อง มิใช่ผู้อื่นมาสมอ้างว่าเป็นนายพรเทพแต่อย่างใดไม่ จึงถือไม่ได้ว่า ศาลชั้นต้นมิได้พิจารณาคดีต่อหน้าจำเลยอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดพลาด ดังที่โจทก์ฎีกาหากแต่เป็นเรื่องผิดพลาดในการดำเนินคดีของโจทก์เอง โจทก์ยอมรับว่า โจทก์ฟ้องจำเลยผิดตัว เท่ากับยอมรับว่า จำเลยมิใช่ผู้กระทำผิด
พิพากษายืน

Share