แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์มีคำขอบังคับรวมมาสองทางคือขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานและขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงินต่างๆอันจะพึงเกิดแก่การเลิกจ้างด้วยแม้โจทก์มิได้ระบุให้แจ้งชัดว่าหากบังคับคดีไม่ได้ตามกรณีแรกก็ขอให้บังคับคดีตามกรณีที่สองแต่โดยผลของกฎหมายและตามสภาพแห่งหนี้ย่อมหยั่งทราบเจตนาของโจทก์ได้โดยง่ายฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา49 จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้องเพราะโจทก์กระทำความผิดเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งศาลฎีการับวินิจฉัยไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสั่งพักงานโจทก์เพื่อสอบสวนแล้วเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ยอมบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างระหว่างพักงานโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาของจำเลย ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ให้จ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานและสิทธิอื่น ๆ ที่โจทก์พึงได้ และให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างค่าเสียหาย โบนัสและเงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ละเลยต่อหน้าที่ ทั้งที่เคยถูกลงโทษฐานบกพร่องต่อหน้าที่มาแล้วหลายครั้งในปีเดียวกัน โจทก์ลักลอบส่งโทรเลขเพื่อกลบเกลื่อนความผิดดังกล่าว เป็นการปฏิบัติผิดวินัยอย่างร้ายแรงการที่จำเลยปลดโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานจึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงาน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ และคำฟ้องเคลือบคลุมเพราะคำขอท้ายฟ้องให้ศาลบังคับสองกรณีในคราวเดียวกัน
ศาลแรงงานกลางพิจารณาว่า คำฟ้องไม่เคลือบคลุม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ให้จ่ายค่าจ้างระหว่างพักงาน และให้จ่ายเงินโบนัส คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…อุทธรณ์ข้อแรกที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ซึ่งถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างจริง ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานต่อไปกรณีหนึ่ง แต่ถ้าศาลเห็นว่าแม้การเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมจริง เมื่อคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ร้าวฉานกันแล้วไม่อาจทำงานร่วมกันได้โดยราบรื่นต่อไป ศาลก็จะไม่สั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานแต่จะกำหนดให้นายจ้างใช้ค่าเสียหายจำนวนหนึ่งแทนการบังคับให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน นี้เป็นกรณีที่สองสำหรับกรณีแรก เมื่อลูกจ้างกลับเข้าทำงานดังเดิมก็มีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างต่อไป ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินบำเหน็จ และค่าเสียหายซึ่งเป็นผลเกิดแต่การเลิกจ้างเท่านั้นย่อมจะมีไม่ได้เป็นธรรมดาอยู่เอง คดีนี้ โจทก์มีคำขอบังคับรวมมาทั้งสองทางคือ ขอให้จำเลยรับกลับเข้าทำงานและขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงินต่าง ๆ อันจะพึงเกิดแก่การเลิกจ้างด้วย แม้โจทก์มิได้ระบุให้แจ้งชัดว่าหากบังคับคดีไม่ได้ตามกรณีแรกก็ขอให้บังคับคดีตามกรณีที่สอง แต่โดยผลของกฎหมายและตามสภาพแห่งหนี้ วิญญูชนและศาลย่อมหยั่งทราบเจตนาของโจทก์ได้โดยง่ายว่าโจทก์ประสงค์จะให้ศาลบังคับแต่เพียงกรณีใดกรณีหนึ่งเท่านั้น เมื่อเช่นนี้ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม จำเลยจะอาศัยความบกพร่องเล็กน้อยเพียงเท่านี้ของโจทก์เป็นข้อให้ศาลยกฟ้องเสียทันทีหาชอบด้วยความเป็นธรรมและกฎหมายไม่ อุทธรณ์จำเลยข้อแรกฟังไม่ขึ้น
อุทธรณ์ข้อที่สองของจำเลยที่ว่า โจทก์ถูกตักเตือนเป็นหนังสือฐานปฏิบัติหน้าที่บกพร่องมาแล้ว โจทก์กลับมาทำผิดฐานบกพร่องต่อหน้าที่ในคดีนี้อีกแม้จะมิใช่เหตุเดียวกัน ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนแล้ว ชอบที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์เสียได้โดยไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ข้อนี้ เห็นว่า โจทก์กระทำผิดครั้งก่อนจริงหรือไม่ เป็นความผิดเกิดจากเหตุใด มิพักต้องพิจารณาเพราะศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่า โจทก์มิได้กระทำผิดใด ๆ เสียแล้ว ดังนั้น จำเลยหามีสิทธิจะเลิกจ้างโดยอาศัยข้ออ้างในคดีนี้ประกอบคำเตือนเป็นหนังสือในครั้งก่อนไม่
อุทธรณ์ข้อที่สามที่ว่า ศาลแรงงานกลางมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้หรือไม่ ข้อนี้ จำเลยยังอุทธรณ์ยืนยันอยู่อีกว่าโจทก์กระทำความผิด จำเลยจึงไม่วางใจ ไม่ประสงค์จให้โจทก์ทำงานต่อไป ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิได้กระทำผิดใด ๆ ตามข้อกล่าวหาของจำเลย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ด้วยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วในอุทธรณ์ข้อแรก มิพักต้องกล่าวซ้ำในอุทธรณ์ข้อนี้ให้ยาวความอีก อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
อุทธรณ์ข้อที่สี่ที่ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้องเพียงใดในอุทธรณ์ข้อนี้ จำเลยก็ยังคงยืนยันอยู่เช่นเดิมอีกว่าโจทก์กระทำความผิด โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างและเงินโบนัสศาลฎีกาเห็นว่ามูลฐานแท้จริงที่จำเลยปฏิเสธจะไม่จ่ายเงินสองประเภทนั้นแก่โจทก์ก็เพราะโจทก์กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหาของจำเลย ดังนี้สาระสำคัญแห่งอุทธรณ์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยมูลฐานแห่งอุทธรณ์เสียแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2521 ว่าด้วยการจ่ายเงินเดือนในกรณีที่พนักงานถูกสั่งพักงานระหว่างสอบสวนและระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินโบนัสตามที่จำเเลยอุทธรณ์ เพราะกรณีของโจทก์ผู้ไม่ได้กระทำผิดและไม่ถูกเลิกจ้างโดบชอบจะปรับด้วยระเบียบดังกล่าวไม่ได้ เป็นการไม่ตรงต่อรูปเรื่อง
อุทธรณ์จำเลยบางข้อฟังไม่ขึ้น บางข้อรับวินิจฉัยให้ไม่ได้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย คำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาาง…”
พิพากษายืน.