คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)(2) จะต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยได้กระทำความผิด ซึ่งหมายถึงว่า จะต้องมีการฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าว และได้มีการพิสูจน์ความผิดนั้นต่อศาล และศาลพิพากษาว่าจำเลยได้กระทำความผิดจึงจะริบทรัพย์สินนั้นได้ อันถือเป็นการลงโทษอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18(5)
ธนบัตรของกลางมิใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 เมื่อโจทก์ยังมิได้ฟ้องจำเลยถึงการกระทำความผิดในครั้งก่อนโดยตรง กรณีเพียงแต่การกล่าวอ้างพาดพิงถึงว่าธนบัตรของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีนไปก่อนหน้านี้ จึงยังไม่เป็นการเพียงพอตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18(5) และ 33(2) เพื่อลงโทษจำเลยด้วยการริบทรัพย์สิน แม้จำเลยจะได้ให้การรับสารภาพในคดีนี้ ศาลก็ไม่อาจริบธนบัตรของกลางดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1จำนวน 15 เม็ด น้ำหนัก 1.45 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายและจำเลยจำหน่ายโดยการขายเมทแอมเฟตามีน จำนวน 4 เม็ด น้ำหนัก 0.39 กรัม ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปในราคา 400 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่ายและจำหน่ายกับธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อจำนวน 400 บาท และธนบัตรชนิดต่าง ๆ อีกจำนวน 2,900 บาท ซึ่งเป็นเงินที่จำเลยได้จากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนไปก่อนหน้านี้เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ริบของกลาง คืนธนบัตรจำนวน 400 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปีริบของกลาง คืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อจำนวน 400 บาท แก่เจ้าของ

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 2 ปี 6 เดือน ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 2 ปี 6 เดือนรวมกระทงเป็นจำคุก 4 ปี 12 เดือน เงินจำนวน 2,900 บาท ของกลางให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าธนบัตรของกลางจำนวน 2,900บาท ที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้พร้อมด้วยธนบัตรจำนวน 400 บาท ซึ่งสายลับใช้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนในคดีนี้เป็นทรัพย์ที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนไปก่อนหน้านี้

คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า ธนบัตรของกลางจำนวน 2,900 บาทเป็นทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งริบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ได้บรรยายในคำฟ้องตอนหนึ่งว่า ธนบัตรชนิดต่าง ๆ อีกจำนวน 2,900 บาท เป็นเงินที่ได้จากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนไปก่อนหน้านี้จึงยึดเป็นของกลาง และในคำขอท้ายฟ้องขอให้ศาลริบของกลางทั้งหมด เป็นการที่โจทก์ฟ้องและขอให้ศาลลงโทษจำเลยด้วยการริบเงินของกลางจำนวน 2,900 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้มาจากการกระทำความผิดแล้วเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าทรัพย์สินใดซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)(2) โดยโจทก์ไม่ต้องฟ้องและพิสูจน์ความผิดของจำเลยในความผิดดังกล่าว เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 บัญญัติว่า “ในการริบทรัพย์สิน ให้ศาลมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ (2) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด ฯลฯ” ฉะนั้น โดยนัยดังกล่าวทรัพย์สินที่มีอำนาจสั่งริบจะต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยได้กระทำความผิด ซึ่งหมายถึงว่า จะต้องมีการฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าว และได้มีการพิสูจน์ความผิดนั้นต่อศาลแล้ว และศาลพิพากษาว่าจำเลยได้กระทำความผิดจึงจะริบทรัพย์สินนั้นได้ อันถือเป็นการลงโทษอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18(5) เพราะธนบัตรดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ซึ่งจะเห็นได้ถึงข้อแตกต่างอย่างชัดเจนกับมาตรา 33(2) ดังนั้น เมื่อโจทก์ยังมิได้ฟ้องจำเลยถึงการกระทำดังกล่าวในครั้งก่อนโดยตรง กรณีเพียงแต่การกล่าวอ้างพาดพึงถึงว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีนไปก่อนหน้านี้ จึงยังไม่เป็นการเพียงพอตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย มาตรา 18(5) และ 33(2) แห่งประมวลกฎหมายอาญา เพื่อลงโทษจำเลยด้วยการริบทรัพย์สินตามที่ได้วินิจฉัยมา และแม้ว่าจำเลยจะได้ให้การรับสารภาพในคดีนี้ก็ตาม ศาลก็ไม่อาจริบธนบัตรของกลางจำนวน 2,900 บาท ดังกล่าวได้

พิพากษายืน

Share