คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2541

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้โจทก์มีที่ดินที่จะต้องเวนคืนคือที่ดินโฉนดเลขที่ 121005 อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรีและเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรักเขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษ สายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดิน ที่จะต้องเวนคืนและการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนแล้ว แต่โจทก์ ไม่ติดต่อขอรับเงินค่าทดแทน จำเลยที่ 1 จึงได้นำเงิน ค่าทดแทนจำนวนดังกล่าวไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว และโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ตาม แต่ต่อมาได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ใช้บังคับ และจำเลยที่ 1 มีหนังสือให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนเพิ่มตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ดังนี้ เมื่อมีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โดยเพิ่มเติมมาตรา 10 ทวิ ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 แก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติได้ และให้ถือว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่แก้ไขแล้วเป็นราคาซื้อขายที่ตกลงกันใหม่แทนราคาเดิม และราคาเบื้องต้นที่แก้ไขแล้วเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 แล้วแต่กรณี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาศัยอำนาจดังกล่าวแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ คือคณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นฯเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืน ฉะนั้น เงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นฯ แก้ไขใหม่ จึงเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530เมื่อโจทก์ผู้ถูกเวนคืนไม่พอใจ ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ที่แก้ไขใหม่ได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2 แปลงโฉนดเลขที่ 111663 และโฉนดเลขที่ 121005 แขวงบางกะปิเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงดังกล่าวได้ถูกเวนคืน โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 111663 ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตคลองเตยและเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 เพื่อสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนจำนวนเนื้อที่ 3,000 ตารางวาเป็นเงิน 60,000,000 บาท โจทก์ยอมทำสัญญาซื้อขายโดยสงวนสิทธิอุทธรณ์ และได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินอีก300,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ส่วนที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 121005ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรีและเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรักเขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษระบบทางด่วนขั้นที่ 2สายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ เป็นเนื้อที่236.90 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนให้ตารางวาละ 30,000 บาท เป็นเงิน 7,107,000 บาทโจทก์ไม่ตกลงทำสัญญา จำเลยที่ 1 ได้นำเงินไปวางทรัพย์ณ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ต่อมาได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ใช้บังคับและได้มีการแก้ไขราคาให้สูงขึ้น จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนเพิ่มอีก 7,770,320 บาท โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำวินิจฉัยไม่เพิ่มเงินค่าทดแทนให้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์623,753,249.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 560,657,680 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า เงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับไปแล้วเหมาะสมเป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิขอคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาประกาศใช้บังคับ แต่โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ศาลพิพากษา และอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 121005 เพราะโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มจำนวน 60,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์มีที่ดินที่จะต้องเวนคืน 2 แปลง แปลงแรกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 121005 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวางกรุงเทพมหานคร อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ดอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขน เขตดุสิตเขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตยานนาวา เขตห้วยขวางเขตบางกะปิ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท-ศรีนครินทร์เป็นเนื้อที่ 236.90 ตารางวา แปลงที่สอง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 111663 ตำบลบางกะปิ (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ)อำเภอห้วยขวาง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิเขตห้วยขวาง เขตคลองเตย และเขตพระโขนง กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2533 เพื่อสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์เป็นเนื้อที่ 3,000 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนสำหรับที่ดินแปลงแรกตารางวาละ 30,000 บาท เป็นเงิน 7,107,000 บาท จำเลยที่ 1ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนตามเอกสารหมาย ล.19โจทก์ไม่ติดต่อขอรับเงินค่าทดแทน จำเลยที่ 1 จึงได้นำเงินค่าทดแทนจำนวนดังกล่าวไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดีและมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย ล.20 โจทก์ได้รับหนังสือเอกสารหมาย ล.20 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2533 แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใดต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ใช้บังคับ และจำเลยที่ 1ได้มีหนังสือลงวันที่ 26 มกราคม 2536 ให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนเพิ่มตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44เป็นเงิน 7,770,320 บาท โจทก์จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2536 ขอเงินค่าทดแทนเพิ่มอีกเป็นตารางวาละ 150,000 บาท เป็นเงิน 20,657,680 บาทส่วนที่ดินแปลงที่สองคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนตารางวาละ 20,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนเพิ่มเป็นตารางวาละ 300,000 บาท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เพิ่มเงินค่าทดแทนเป็นตารางวาละ 120,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มอีก 300,000,000 บาท โจทก์ได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้ไปรับเงินค่าทดแทนเพิ่มเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์2537 ตามเอกสารหมาย จ.7
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนเพิ่มสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 121005หรือไม่ แม้ในตอนแรกคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 121005 ให้แก่โจทก์จำนวน7,107,000 บาท โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2533 แล้วโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 25 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ต่อมาได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับในวันที่ 1มีนาคม 2534 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โดยเพิ่มเติมมาตรา 10 ทวิ ด้วย มาตรา 10 ทวิ บัญญัติให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 แก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติได้ และให้ถือว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่แก้ไขแล้วเป็นราคาซื้อขายที่ตกลงกันใหม่แทนราคาเดิม และราคาเบื้องต้นที่แก้ไขแล้วเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 แล้วแต่กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาศัยอำนาจดังกล่าวแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่คือคณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นฯ เพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืน ฉะนั้นเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นฯแก้ไขใหม่เป็นจำนวน 14,877,320 บาท จึงเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่พอใจย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ที่แก้ไขใหม่ได้อีก ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2536โจทก์ไม่พอใจได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2536 ไม่เกินกำหนดระยะเวลาหกสิบวันเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 25 ดังกล่าวแล้ว เมื่อจำเลยที่ 4ยังไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีได้ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2537 ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 26 แล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนเพิ่มสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 121005 ฯลฯ”
พิพากษายืน

Share