แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.รัษฎากรได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินกับคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้ต่างหากจากกัน โดยเริ่มแรกหากเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไว้ไม่ถูกต้องตรงความเป็นจริง หรือไม่บริบูรณ์ ก็มีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวนและออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้นนำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องมาแสดงได้ แล้วมีอำนาจแก้จำนวนเงินที่ประเมินหรือที่ยื่นรายการไว้เดิม โดยอาศัยพยานหลักฐานที่ปรากฏ แล้วแจ้งจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระหรือต้องชำระเพิ่มไปยังผู้ที่ ต้องเสียภาษีอากร ในกรณีนี้ผู้ต้องเสียภาษีจะอุทธรณ์การประเมินก็ได้ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 และ 20 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงมีอำนาจหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีอากรดังกล่าวตามประเด็น ที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินไว้ และผู้ที่ต้องเสียภาษีอากรได้อุทธรณ์ จะไปพิจารณาประเด็นอื่นนอกเหนือจากที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินและผู้อุทธรณ์มิได้อุทธรณ์ รวมทั้งจะเปลี่ยนแปลงหรือประเมินเพิ่มเติมจากที่ประเมินไว้เดิมไม่ได้ เพราะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ใช่เจ้าพนักงานประเมินและยังเป็นการข้ามขั้นตอนโดยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 19 และ 20 แห่ง ป.รัษฎากรด้วย อีกทั้งตาม ป.รัษฎากร มาตรา 31 วรรคสอง ก็มิใช่บทบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาประเด็นใดหรือทำการประเมินเองก็ได้แต่อย่างใด ดังนั้นการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ปลดภาษีโจทก์จากการประเมินตามมาตรา 71 (1) แล้วให้ประเมินภาษีของโจทก์ใหม่ตามมาตรา 65 โดยไม่ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินใหม่ จึงเป็นการพิจารณา ในประเด็นข้ออื่นที่มิได้ประเมินและอุทธรณ์ไว้ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบ ด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลย ตามแบบหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล กองตรวจภาษีอากร กรมสรรพากรที่ ต.6/1040/2/100120 ลงวันที่ 28 เมษายน 2536 และที่ ต.6/1040/2/100121 ลงวันที่ 28 เมษายน 2536 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 269 ก/2539/1 ลงวันที่ 30 มกราคม 2539 และเลขที่ 269 ข/2539/1 ลงวันที่ 30 มกราคม 2539
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ ต.6/1040/2/100120 ลงวันที่ 28 เมษายน 2536 และที่ ต.6/1040/2/100121 ลงวันที่ 28 เมษายน 2536 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ 269 ก/2539/1 ลงวันที่ 30 มกราคม 2539 และเลขที่ 269 ข/2539/1 ลงวันที่ 30 มกราคม 2539 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการแรกว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ป.รัษฎากร ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินกับคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้ต่างหากจากกัน โดยเริ่มแรกหากเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไว้ไม่ถูกต้องตรงความเป็นจริง หรือไม่บริบูรณ์ ก็มีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวนและออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้นนำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องมาแสดงได้ แล้วมีอำนาจแก้จำนวนเงินที่ประเมินหรือที่ยื่นรายการไว้เดิม โดยอาศัยพยานหลักฐานที่ปรากฏ แล้วแจ้งจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระหรือต้องชำระเพิ่มไปยังผู้ที่ต้องเสียภาษีอากร ในกรณีนี้ผู้ต้องเสียภาษีจะอุทธรณ์การประเมินก็ได้ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 และ 20 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงมีอำนาจหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีอากรดังกล่าวตามประเด็นที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินไว้และผู้ที่ต้องเสียภาษีอากรได้อุทธรณ์ จะไปพิจารณาประเด็นอื่นนอกเหนือจากที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินและผู้อุทธรณ์มิได้อุทธรณ์ รวมทั้งจะเปลี่ยนแปลงหรือประเมินเพิ่มเติมจากที่ประเมินไว้เดิมไม่ได้เพราะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ใช่เจ้าพนักงานประเมิน อีกทั้งยังเป็นการข้ามขั้นตอนโดยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 19 และ 20 แห่ง ป.รัษฎากร สำหรับคดีนี้การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นสมควรให้ปลดภาษีโจทก์จากการประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 71 (1) แล้วให้ประเมินภาษีของโจทก์ใหม่ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 โดยไม่ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินใหม่ จึงเป็นการพิจารณาในประเด็นข้ออื่นที่มิได้ประเมินและอุทธรณ์ไว้ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากร ส่วน ป.รัษฎากร มาตรา 31 วรรคสอง นั้น มิใช่บทบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาประเด็นใด หรือทำการประเมินเองก็ได้ดังที่จำเลยอุทธรณ์แต่อย่างใด ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการต่อไปว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 71 (1) ชอบหรือไม่ ในข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้จากคำให้การของนางซ้องมาศ กองแก้ว เจ้าหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ว่านางซ้องมาศได้ทำรายงานการพิจารณาอุทธรณ์เสนอคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยให้ความเห็นว่า ควรปลดภาษีโจทก์จากการประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 71 (1) และควรประเมินภาษีโจทก์ตามมาตรา 65 แห่ง ป.รัษฎากร ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นชอบด้วย ซึ่งต่อมาได้มีการประเมินภาษีอากรของโจทก์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ซึ่งถือได้ว่าได้มีการเพิกถอนการประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 71 (1) แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ ทั้งไม่จำเป็นจะต้องเพิกถอนการประเมินตามมาตรา 71 (1) แห่ง ป.รัษฎากรอีก ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นชอบด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.