แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
รถยนต์ยี่ห้อดัทสันกะบะขนาด1300ซีซี ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างก็ถูกคนร้ายลักไป โจทก์แจ้งความไว้กับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา จำเลยที่ 1 แจ้งความไว้กับจำเลยที่ 2 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจท่าเรือกรุงเทพซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลจับคนร้ายลักรถยนต์ได้ได้รถยนต์ของกลางซึ่งตัวถังเป็นของโจทก์แต่ถูกพ่นสีเปลี่ยนไปจากสีเดิม สารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบุบผารามพิจารณาแล้วเชื่อว่าเป็นรถคันที่หายที่ได้แจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจท่าเรือกรุงเทพ จึงมอบรถให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินคดี จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ทราบมาก่อนว่าโจทก์โต้แย้งกรรมสิทธิ์เกี่ยวกับตัวถังรถยนต์ของกลาง เชื่อโดยสุจริตว่ารถยนต์ของกลางเป็นของจำเลยที่ 1 จึงมอบรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 รับไปรักษาซึ่งเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 มอบรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 ไปดังกล่าว จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 1 ไม่ทราบมาก่อนว่าโจทก์โต้แย้งกรรมสิทธิ์เกี่ยวกับตัวถังรถยนต์ของกลาง ขณะรับรถยนต์ของกลางไว้เชื่อโดยสุจริตใจว่ารถยนต์ของกลางทั้งคันเป็นของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 รับรถยนต์ของกลางไว้และซ่อมใช้รถนี้โดยปกติธุระจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เช่นเดียวกัน แต่ต่อมาเมื่อคดีอาญาถึงที่สุดศาลพิพากษาว่าตัวถังรถยนต์ของกลางเป็นของโจทก์ โจทก์ได้ฟ้องเรียกตัวถังคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้รับหมายเรียกและสำเนาฟ้องของโจทก์ตามกฎหมายแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบแล้วว่าตัวถังรถยนต์ของกลางเป็นของโจทก์ซึ่งจะต้องคืนให้โจทก์ แต่จำเลยยังไม่คืนให้โจทก์ยังคงใช้ตัวถังรถยนต์ของโจทก์อยู่ตลอดมา จำเลยที่ 1 จึงตกอยู่ในฐานะทุจริตตั้งแต่วันที่ได้รับหมายเรียกและสำเนาฟ้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป
จำเลยที่ 1 ควรรับผิดในความเสื่อมสภาพของตัวถังและค่าเสียหายในการที่โจทก์ไม่ได้ใช้ตัวถังรถพิพาทเพียงใดนั้น ควรคำนึงพฤติการณ์แห่งความเป็นจริงของตัวทรัพย์นั้นด้วยว่า เจ้าของทรัพย์นั้นพอจะบรรเทาความเสียหายที่ไม่ได้ใช้ทรัพย์นั้นโดยหาตัวทรัพย์เช่นนั้นมาชดใช้แทนความเสียหายอันพึงเกิดขึ้นนั้นได้หรือไม่เพียงไร เป็นเหตุผลประกอบด้วย คดีนี้โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ไม่สามารถจะหาซื้อตัวถังรถยนต์อื่นมาใช้แทนเพื่อประกอบกับเครื่องยนต์ของโจทก์ที่ถูกลักไปและได้รับคืนมา เพื่อโจทก์จะมีรถยนต์ไว้ใช้ต่อไป การจะกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดใช้ค่าเสียหาย ค่าเสื่อมราคาต่อโจทก์เกินกว่าราคาตัวถังรถพิพาทตามที่โจทก์เรียกร้องมานั้นเป็นการขัดต่อเหตุผลและความเป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า รถยนต์ยี่ห้อดัทสันบรรทุกสีเขียวขนาด 1300 ซีซี ของโจทก์ที่ 1 คันหายไปได้ร้องทุกข์ไว้แล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบุปผารามจับคนร้ายได้พร้อมรถยนต์ของโจทก์ที่ถูกลักไป แต่สภาพรถบางส่วนถูกดัดแปลงแก้ไข และเอาเครื่องยนต์ใหม่มาใส่แทนเครื่องยนต์เก่าของโจทก์ คนร้ายที่ลักรถถูกฟ้องต่อศาลอาญา 2 คดี โดยโจทก์เป็นผู้เสียหายคดีหนึ่ง จำเลยที่ 1 เป็นผู้เสียหายคดีหนึ่ง เครื่องยนต์ของรถโจทก์ได้คืนมาแล้วแต่ตัวถังไม่ได้คืน เพราะจำเลยที่ 1 โต้แย้งกรรมสิทธิ์รถคันนี้และจำเลยที่ 1ได้ร้องทุกข์ไว้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 รับรถนั้นมาแล้วคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ไป
จำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่าตัวถังรถคันดังกล่าวมิใช่ของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจท่าเรือกรุงเทพผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับรถยนต์คันดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบคืนตัวถังรถยนต์ของโจทก์ให้จำเลยที่ 1ไป จำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับคดีรถยนต์คันดังกล่าวจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คือตัวถังรถยนต์ขณะหายมีราคาประมาณ 18,000 บาทจำเลยที่ 1 เอาไปใช้ทำให้เสื่อมคุณภาพลง 5,000 บาท โจทก์ไม่สามารถใช้ตัวถังรถยนต์ไปใช้ธุรกิจขนส่งสินค้า ต้องจ้างรถบุคคลอื่นมาใช้เสียค่าจ้างไปถึงวันฟ้อง 56,550 บาท ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสามคืนตัวถังรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน ให้ใช้ค่าเสียหาย 61,550 บาท และวันละ 150 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนตัวถังรถยนต์ให้โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การว่า รถยนต์ของจำเลยที่ 1 หายไปจำเลยที่ 1 แจ้งความต่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้คืนรถยนต์ของจำเลยที่ 1ที่หายให้จำเลยที่ 1 เพื่อเก็บรักษาเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ขณะคืนไปนั้นโจทก์ทราบแต่ไม่โต้แย้งกรรมสิทธิ์ เพิ่งมาโต้แย้งภายหลัง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตัวถังรถยนต์คันพิพาทไม่มีกระจกบังลมข้างหน้าและกระจกหูข้างด้านซ้าย ไม่มีป้ายเลขทะเบียน ราคา 17,500 บาทเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีอำนาจโดยชอบที่จะคืนตัวถังรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 1รับไปรักษาได้ ขณะคืนไม่ทราบว่ามีผู้โต้แย้งกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาท จำเลยที่ 1รับรถคันพิพาทไปเนื่องจากการใช้ดุลพินิจของจำเลยที่ 2 ที่ 3 จำเลยทั้งสามจึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ไม่ได้ใช้รถ แต่จำเลยที่ 1 รับรถพิพาทไปซ่อมและใช้งานอยู่ทุกวันโดยไม่มีอำนาจเป็นเวลา2 ปีกว่า จึงพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนตัวถังรถยนต์ตามสภาพที่เป็นอยู่ให้โจทก์ ถ้าไม่อาจส่งคืนให้ใช้ราคา 17,500 บาท ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสื่อมราคา 5,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตัวถังรถพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยทั้งสามมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ซ่อมและใช้งานเพื่อให้ตัวถังอยู่ในสภาพปกติโดยสุจริต เข้าใจว่าตัวถังรถเป็นของตน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสื่อมสภาพของตัวถังรถ พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องใช้ค่าเสื่อมราคาของตัวถังรถพิพาทให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ที่ 3
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า รถยนต์ยี่ห้อดัทสันกะบะขนาด 1300 ซีซี ของโจทก์และของจำเลยที่ 1 ต่างถูกคนร้ายลักไป โจทก์แจ้งความไว้ต่อร้อยตำรวจโทสมพจน์ ศุภวโรดม พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา จำเลยที่ 1แจ้งความไว้ต่อ จำเลยที่ 2 ซึ่งรับราชการเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจท่าเรือกรุงเทพ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบุปผารามจับคนร้ายลักรถยนต์และได้รถยนต์เป็นของกลาง โจทก์และจำเลยที่ 1 ไปดูรถยนต์ของกลางซึ่งรถคันของกลางนี้ถูกพ่นสีตัวถังรถเปลี่ยนจากสีเดิม โจทก์แจ้งแก่พันตำรวจตรีพจน์ พัฒนผลินทร์ ว่าเฉพาะตัวถังรถยนต์ของกลางเป็นของโจทก์ส่วนจำเลยที่ 1 แจ้งว่ารถยนต์ของกลางเป็นของจำเลยที่ 1 พันตำรวจตรีพจน์ พิจารณาหลักฐานข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็นว่าน่าเชื่อว่ารถยนต์ของกลางเป็นรถที่จำเลยที่ 1 ได้แจ้งหายไว้ที่สถานีตำรวจท่าเรือกรุงเทพ จึงคืนรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 2 พนักงานสอบสวนรับไปดำเนินคดีเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2514ตามที่จำเลยที่ 2 มีหนังสือขอรับรถยนต์ของกลางเพื่อไปดำเนินคดี แล้วในวันเดียวกันกับที่จำเลยที่ 2 รับรถยนต์ของกลางไปนั้นจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3ในฐานะพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจท่าเรือกรุงเทพได้มอบรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 รับไปรักษาไว้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานโจทก์ที่นำสืบมาฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้โต้แย้งสิทธิถึงตัวถังรถยนต์พิพาทที่ติดกับรถของกลางว่าเป็นของโจทก์ให้จำเลยทั้งสามทราบไว้ก่อนที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะได้มอบรถยนต์คันของกลางให้จำเลยที่ 1รับไปรักษาไว้ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะพนักงานสอบสวนเมื่อได้รับรถยนต์ของกลางมาดำเนินคดี โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่ารถยนต์ของกลางเป็นของจำเลยที่ 1 ที่แจ้งว่าถูกลักไปนั้นโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 1รับไปรักษาไว้ จึงเป็นเรื่องที่กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่เชื่อโดยสุจริตใจว่ารถยนต์ของกลางทั้งคันเป็นของจำเลยที่ 1 มิใช่ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 แกล้งกระทำที่มุ่งต่อผล โดยรู้อยู่แล้วว่าความจริงตัวถังรถยนต์พิพาทซึ่งติดกับรถยนต์ของกลางนั้นเป็นของโจทก์ แต่ยังมอบให้จำเลยที่ 1 ไป อันจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายได้ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 มอบรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1ไปดังกล่าวจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และในขณะที่จำเลยที่ 1 ได้รับรถยนต์ของกลางไปจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 นั้น โจทก์ก็นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1ได้รู้อยู่ว่าตัวถังรถยนต์พิพาทเป็นของโจทก์แต่ยังรับไว้โดยละเมิดสิทธิ์โจทก์ฉะนั้น ที่จำเลยที่ 1 รับรถยนต์ของกลางไว้ แม้จะปรากฏความจริงต่อมาว่าตัวถังรถยนต์พิพาทนั้นเป็นของโจทก์ แต่ขณะจำเลยที่ 1 ได้รับรถยนต์ของกลางดังกล่าวไว้ โดยจำเลยที่ 1 เชื่อโดยสุจริตใจว่ารถยนต์ของกลางทั้งคันนั้นเป็นของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 รับรักษาไว้และซ่อมใช้รถนี้โดยปกติธุระ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์เช่นกัน
ส่วนในระยะเวลาหลังจากนั้นต่อมา เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับตัวถังรถยนต์พิพาทซึ่งติดกับรถยนต์ของกลางไว้โดยสุจริต จำเลยที่ 1 ย่อมจะใช้ตัวถังรถยนต์พิพาทซึ่งติดอยู่กับรถยนต์ของกลางได้ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับไว้โดยสุจริตอยู่ แต่เมื่อใดจำเลยที่ 1 รู้ว่าตัวถังรถยนต์พิพาทเป็นของโจทก์แล้วจำเลยที่ 1ก็ต้องคืนตัวถังรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิจะได้รับคืน ในเมื่อผู้เป็นเจ้าของเรียกร้องคืน โดยนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1376 มาใช้บังคับ ศาลอาญาพิพากษาว่าตัวถังรถยนต์ของกลางเป็นของโจทก์ แม้คดีอาญาจะถึงที่สุดแล้ว แต่โจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบว่าตัวถังรถยนต์พิพาทเป็นของโจทก์แล้วนั้นแต่เมื่อไร แต่โจทก์ได้ฟ้องเรียกตัวถังรถพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ โดยได้ปิดหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยที่ 1 ทราบเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2515 จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับหมายเรียกและสำเนาฟ้องของโจทก์ตามกฎหมายเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม2515 ในกรณีโจทก์ใช้สิทธิเรียกตัวถังรถพิพาทคืน เหตุนี้จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1ได้รู้ว่าตัวถังรถยนต์พิพาทที่จำเลยที่ 1 รับไปจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นของโจทก์แล้วแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2515 ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องคืนให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่คืนให้แก่โจทก์ แต่ยังใช้ตัวถังรถยนต์พิพาทของโจทก์อยู่ตลอดมาจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ตกอยู่ในฐานะทุจริตนับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2515นั้นแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์นับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม2515 เป็นต้นไป แต่จำเลยที่ 1 ควรรับผิดในความเสื่อมสภาพตัวถังรถพิพาทและค่าเสียหายในการที่โจทก์ไม่ได้ใช้ตัวถังรถพิพาทเพียงใดนั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตัวถังรถพิพาทนั้นฟังได้ว่ามีราคา 17,500 บาท การจะสมควรให้ผู้กระทำผิดฐานละเมิดในการที่ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ไม่ได้ใช้ทรัพย์ที่ถูกละเมิดเป็นค่าเสียหายเท่าใดนั้น เห็นว่าควรคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งความเป็นจริงของตัวทรัพย์นั้น ด้วยว่าเจ้าของทรัพย์นั้นพอจะบรรเทาความเสียหายที่ไม่ได้ใช้ทรัพย์นั้นโดยหาตัวทรัพย์เช่นนั้นมาชดใช้แทนความเสียหายอันพึงเกิดขึ้นนั้นได้หรือไม่เพียงไร เป็นเหตุผลประกอบด้วย เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ไม่สามารถที่จะซื้อหาตัวถังรถยนต์อื่นมาใช้แทนเพื่อประกอบกับเครื่องยนต์ของโจทก์ที่ถูกลักไป และได้รับคืนมาแล้วนั้น เพื่อโจทก์จะมีรถยนต์ไว้ใช้ต่อไปได้ ฉะนั้น การจะกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดใช้ค่าเสียหาย ค่าเสื่อมราคาต่อโจทก์เกินกว่าราคาตัวถังรถพิพาทตามที่โจทก์เรียกร้องมานั้น ย่อมเห็นได้ว่าขัดต่อเหตุผลและความเป็นธรรม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสื่อมราคาตัวถังรถพิพาทและค่าเสียหายในการที่โจทก์ไม่ได้ใช้ตัวถังรถพิพาทเป็นเงิน 6,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์ไม่ได้ใช้ตัวถังรถยนต์พิพาทนับจากวันทราบคำพิพากษาของศาลนี้อีกวันละ 30 บาท เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1คืนหรือใช้ราคาตัวถังรถพิพาทแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ค่าเสื่อมสภาพและค่าเสียหายรวมกันแล้วเป็นเงินไม่เกิน 17,500 บาท นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์