แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัท ค. เป็นบริษัทในต่างประเทศได้ร่วมกับอีกบริษัทหนึ่งทำสัญญารับเหมาก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันกับกระทรวงกลาโหมโจทก์เป็นผู้ลงนามในสัญญากับกระทรวงกลาโหมแทนบริษัท ค. บริษัท ค. ได้มอบให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจเต็มและมีสิทธิทำการทุกอย่างในขอบเขตเรื่องการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน โจทก์ได้มีหนังสือถึงกระทรวงกลาโหมชี้แจงข้อความเกี่ยวกับการก่อสร้าง ได้ลงนามกู้เงินจากธนาคารมาใช้ในการก่อสร้างโดยเปิดบัญชีไว้ 4 บัญชี ทุกบัญชีโจทก์มีอำนาจสั่งจ่ายครั้นก่อสร้างเสร็จกระทรวงกลาโหมจ่ายเงินค่าจ้างแก่ธนาคารที่โจทก์เปิดบัญชีไว้แล้วธนาคารจึงจ่ายต่อไปให้แก่ผู้รับเหมาเมื่อมีเงินเหลือธนาคารก็จ่ายให้โจทก์และโอนเข้าบัญชีอื่นๆ ที่โจทก์มีอำนาจสั่งจ่าย แม้บริษัท ค. จะมีสำนักงานไว้ ณ สถานที่ก่อสร้างก็เพื่อติดต่อเกี่ยวกับคนงานที่มาก่อสร้างเท่านั้น มิใช่บริษัท ค. ใช้สถานที่นั้นเป็นสาขาประกอบการค้าในประเทศไทย โจทก์จึงเป็นผู้ทำการแทนบริษัท ค. เป็นผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าและเสียภาษีการค้าตามรายรับเงินค่าจ้างของบริษัท ค.
ธนาคารที่โจทก์เปิดบัญชีไว้เป็นผู้รับเงินค่าจ้างของบริษัท ค. จากกระทรวงกลาโหมมาจ่ายให้บริษัท ค. ผู้รับจ้าง เงินที่รับมานั้นจึงเป็นค่าจ้างทำของซึ่งจะต้องเสียค่าอากรแสตมป์ตามจำนวนเงินแบ่งสินจ้างเมื่อโจทก์เป็นผู้กระทำการแทนบริษัท ค. ในประเทศไทย การที่พนักงานเจ้าหน้าที่เรียกให้โจทก์เสียค่าอากรแสตมป์ในเงินค่าจ้างซึ่งเสมือนเสียจากผู้รับจ้างนั่นเองโจทก์ต้องเป็นผู้เสียค่าอากรแสตมป์นี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้ส่งแบบแจ้งจำนวนเงินภาษีการค้าไปยังโจทก์ 9 ฉบับ โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ทำการแทนบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ให้โจทก์ชำระภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล และเงินเพิ่ม แต่โจทก์ไม่ใช่ตัวแทนของบริษัทดังกล่าว จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีจำเลยใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดความเสียหายต่อโจทก์ ทำให้บุคคลอื่นเห็นว่าโจทก์ดำเนินการค้าตกต่ำถึงกับค้างภาษีจำนวนมากกระทบกระเทือนต่อการค้า จึงขอให้ใช้ค่าเสียหาย 1,000,000 บาท และเพิกถอนการประเมินของจำเลยที่ 1ตลอดจนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่เสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าการที่โจทก์ลงนามในสัญญาเอกสารหมาย จ.8 ในฐานะผู้รับจ้างกับกระทรวงกลาโหมผู้จ้าง แทนบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ผู้รับจ้าง ตามหนังสือมอบอำนาจของบริษัทคอมเมนตรี อัวเซลจำกัด เอกสารหมาย จ.10 และตามหนังสือมอบอำนาจของบริษัมคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ที่ให้โจทก์กระทำการแทนตามเอกสารหมาย จ.12 การรับมอบอำนาจทั้งสองคราวนี้ เป็นการมอบอำนาจเพียงให้โจทก์ลงนามแทนในสัญญาไม่ใช่เป็นผู้ทำการแทนในการประกอบการค้า จึงถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าแทนไม่ได้ ดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเป็นแบบอย่างไว้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1818/2505 ระหว่างบริษัทบาโรเบราว์ จำกัด โจทก์ กรมสรรพากร จำเลยนั้นศาลฎีกาเห็นว่าในคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ตามพฤติกรรมของบริษัทบาโรเบาว์ โจทก์ที่ได้กระทำไปนั้นเป็นแต่เพียงผู้ติดต่อแทนบริษัทเยนเนอร์รัลอีเล็คทริค จำกัด ในประเทศอังกฤษเฉพาะในกิจการลงนามในสัญญาระหว่างองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และการที่บริษัทบาโรเบราว์จำกัด โจทก์ทวงถามให้จ่ายเงินตามสัญญา การจัดให้มีการออกใบรับเงินและการรับส่งวัสดุ เครื่องอุปกรณ์ชุมสายโทรศัพท์ เป็นการกระทำเป็นสื่อกลางติดต่อในกิจการเฉพาะรายตามสัญญาเท่านั้น ซึ่งกิจการเหล่านี้จะถือว่ามีการประกอบการค้าหรือดำเนินการเป็นปกติธุระอันมีบริษัทบาโรเบราว์ โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าแทนยังไม่ได้ บริษัทบาโรเบราว์ฯ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในภาษีการค้าแต่ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวไม่เหมือนกับคดีนี้ เพราะคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อโจทก์ไดลงนามแทนบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ในการตกลงเข้าเป็นผู้รับจ้างร่วมกับบริษัทฟูจิคาร์ตามสัญญารับก่อสร้างเครื่องจักรกลและอุปกรณ์การติดตั้งก่อสร้างโรงกลั่นกรองน้ำมันกับกระทรวงกลาโหมผู้จ้างตามเอกสารหมาย จ.8 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2502 แล้วนั้น การปฏิบัติของโจทก์หาได้ยุติเพียงแค่ลงนามในสัญญาเท่านั้นไม่ ความยังปรากฏว่าในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โจทก์ได้มีหนังสือถึงกระทรวงกลาโหมผู้จ้างชี้แจงข้อความบางประการเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงกลั่นกรองน้ำมัน และกระทรวงกลาโหมก็ได้มีหนังสือที่ 4533/2503 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2503 ถึงโจทก์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด มีใจความว่า กระทรวงกลาโหมรับทราบเรื่องที่ผู้รับจ้างจะส่งเครื่องจักรกลและวัสดุก่อสร้างเข้ามาจากประเทศฝรั่งเศสและชี้แจ้งเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน ตลอดจนวิธีการที่จะให้กระทรวงกลาโหมชำระเงินค่าก่อสร้างให้โดยผ่านธนาคารดังเอกสารหมาย จ.36 อันดับ 16 และจากนั้นต่อมาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2503 บริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ก็ได้มอบอำนาจให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจเต็มและมีสิทธิที่จะกระทำทุกอย่างที่เกี่ยวข้องและภายในขอบเขตเรื่องการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันทั้งรับรองการกระทำที่โจทก์ได้ทำและจะทำโดยชอบทุกประการอีกตามเอกสารหมาย จ.12 อนึ่ง เมื่อบริษัทฟูจิคาร์ฯ กับบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัดไม่ได้นำเงินจากต่างประเทศมาใช้จ่ายลงทุนในการรับจ้างก่อสร้าง โจทก์ได้ลงนามเป็นผู้กู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด มาใช่จ่ายในการก่อสร้างในนามของบริษัททั้งสองเป็นเงินประมาณ 330 ล้านบาท โดยได้เปิดบัญชีผู้ที่มีอำนาจสั่งจ่ายเงินนี้ไว้ 4 บัญชี และทุกบัญชีที่เปิดไว้นั้น โจทก์ผู้เดียวมีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.42 ซึ่งแสดงว่าโจทก์แต่ผู้เดียวเท่านั้นที่มีอำนาจควบคุมการเงินเกี่ยวกับการใช้เครดิตเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารกรุงไทย จำกัดมาใช้จ่ายในการลงทุนประกอบกิจการรับจ้างสร้างโรงกลั่นน้ำมันให้กระทรวงกลาโหม และในบัญชีที่เปิดไว้ 4 บัญชีนั้น มีบัญชีของบริษัทวิทยาคม จำกัดซึ่งโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทนี้อยู่ 2 บัญชี กับบัญชีในนามของโจทก์เองอีก 1 บัญชี เห็นได้ว่า โจทก์มีบัญชีของโจทก์เองเกี่ยวกับการเงินที่ใช้ลงทุนในการรับจ้างสร้างโรงกลั่นน้ำมันนี้ อยู่ด้วย และเมื่อการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันเสร็จเรียบร้อยแล้วกระทรวงกลาโหมจ่ายเงินค่ารับเหมาก่อสร้างในธนาคารกรุงไทย จำกัด ธนาคารกรุงไทย จำกัด ก็ได้จ่ายต่อไปให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างโดยวิธีจ่ายเงินที่ได้รับมานั้นตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารออกให้ไปตามที่ได้เปิดเครดิตบัญชีไว้กับธนาคาร และเมื่อยอดเงินยังมีคงเหลือยังไม่ได้จ่ายอีกสี่สิบแปดล้านบาทเศษ ธนาคารกรุงไทย จำกัด ก็ได้จ่ายไปตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งออกในนามโจทก์สองล้านบาทเศษ โอนเข้าบัญชีบริษัทวิทยาคมจำกัด เป็นเงินแปดล้านบาทเศษและโอนเข้าบัญชีบริษัทฟูจิคาร์ฯ และบริษัทคอมเมนตรีอัวเซลจำกัด อีกสามสิบหกล้านบาทเศษ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.51 ซึ่งบัญชีเหล่านี้โจทก์มีอำนาจสั่งจ่าย พฤติกรรมที่โจทก์ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในกิจการทางการเงินเช่นนี้โจทก์จะเถียงว่า โจทก์เป็นเพียงลงนามแทนในสัญญาเท่านั้น โดยไม่ได้ปฏิบัติการอย่างใดเพื่อให้เป็นผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของบริษัทคอมเมนตรีอัวเซลจำกัด ผู้รับจ้างแต่อย่างใดนั้นจึงรับฟังไม่ได้ ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่าก่อนและหลังจากที่บริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด มอบอำนาจให้โจทก์ทำแทนดังกล่าว บริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด มีสาขาอยู่แล้ว และการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันก็มีคนของบริษัทนี้เองมาดำเนินการก่อสร้างโดยที่ตั้งของสาขา เดิมเช่าบ้านเลขที่ 250/2ซอยสุจริตเหนือ แล้วต่อมาได้ย้ายมาอยู่บ้านเลขที่ 59 ถนนงานดูพลี ทุ่งมหาเมฆดังปรากฏสถานที่อยู่ตามเอกสารหมาย จ.14, จ.15, จ.16 และ จ.17 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้หนังสือดังกล่าวจะระบุสถานที่อยู่ว่าเป็นของตัวแทนบริษัทคอมเมนตรีอัวเซลจำกัด ในประเทศไทยก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าการติดต่อโดยหนังสือดังกล่าวนั้น ก็เป็นการติดต่อถึงเรื่องที่บริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด จะทำงานเกี่ยวแก่การก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันซึ่งเป็นเรื่องกิจการภายในของการจะทำการก่อสร้างเพื่อให้เป็นผลสำเร็จตามสัญญาที่ได้รับจ้างไว้ และถึงแม้ได้ความจากพลโทวิรัชเจ้ากรมพลังงานทหารพยานโจทก์ว่า กรมพลังงานทหารมีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันและ ณ ที่ก่อสร้างมีสำนักงานของบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ปลูกสร้างอยู่ด้วยมีนายเชเดอซอมเฟลอรี่หัวหน้าหน่วยงานของบริษัทไปติดต่องานของบริษัทไปติดต่องาน และเมื่อนายเชเดอชอมเฟลอรี่กลับไปประเทศฝรั่งเศสแล้ว มีนายโดมินิคเลอนัวร์มาแทนก็ตาม ก็น่าจะเป็นเรื่องของผู้ดำเนินงานก่อสร้างไปติดต่อควบคุมงานก่อสร้าง เพื่อให้ผลงานเป็นไปตามรูปแบบของสัญญาเท่านั้น และตามที่โจทก์นำสืบก็ไม่ปรากฏหลักฐานใดเลยว่าสถานที่ที่โจทก์อ้างว่าเป็นสาขาของบริษัทฯนั้นได้เคยมีหนังสือติดต่อกันเป็นทางการกับผู้จ้างในกรณีใด ๆ โดยสาขาเอง ทั้งนายเชเดอชอมเฟลอรี่ และนายโดมินิคเลอนัวร์ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ประจำสาขาในประเทศไทยนั้น พลโทวิรัชก็ว่าบุคคลดังกล่าวไม่เคยแสดงหลักฐานการเป็นตัวแทนของบริษัทคอมเมนตรีอัวเซลจำกัด ต่อพยานเลย อนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่าหากบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัดถือว่าสถานที่อยู่ดังกล่าวเป็นตัวแทนสาขาประกอบการค้าในประเทศไทยแล้วสาขานั้นก็จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนการค้าตามที่กฎหมายบังคับไว้ เหตุนี้การที่บริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด มีสำนักงานไว้แต่ไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบังคับดังกล่าว จึงเชื่อว่าคงประสงค์เพียงจะใช้สถานที่นั้นเป็นสำนักงาน เพื่อที่จะติดต่อเกี่ยวแก่การดำเนินงานของคนงานที่มาดำเนินงานก่อสร้าง มิใช่จะใช้สถานที่นั้นเป็นตัวแทนสาขาประกอบการค้าในประเทศไทย ตามพฤติการณ์ที่โจทก์ได้เป็นผู้เข้าเกี่ยวข้องหาเงินมาลงทุนรับจ้างก่อสร้างโดยโจทก์เองเป็นผู้กระทำการแทนดังกล่าว และโจทก์แต่ผู้เดียวมีอำนาจสั่งจ่ายเกี่ยวกับการเงินที่เปิดบัญชีไว้ แม้การรับเงินค่าจ้างที่จำต้องให้ธนาคารกรุงไทยรับเงินแทนก็เพราะเหตุที่กู้เงินจากธนาคารกรุงไทยไปใช้จ่ายในการก่อสร้าง เพื่อธนาคารจะได้หักกับเงินที่กู้ไปนั้นคืนเหตุผลเป็นเช่นนี้ จึงฟังไม่ได้ว่าบริษัทคอมเมนตรีอัวเซลจำกัด มีสาขาดำเนินการค้าในประเทศไทยเป็นตนเองโดยโจทก์มิใช่ผู้ทำการแทนที่ศาลล่างทั้งสองฟังต้องกันมาว่า โจทก์เป็นผู้ทำการแทนในประเทศไทยของบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัดในการประกอบการค้ารับจ้างทำของสร้างโรงกลั่นน้ำมันให้กระทรวงกลาโหมนั้นชอบแล้วและโดยที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 78 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไข เพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16)พ.ศ. 2502 มาตรา 37 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ได้วิเคราะห์คำว่า “ผู้ประกอบการค้า” ไว้ว่า “ผู้ประกอบการค้า” หมายความว่า บุคคลธรรมดาคณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์การใด ๆ ที่ประกอบหรือดำเนินการค้าในประเทศไทย ทั้งนี้ให้รวมถึงผู้ทำการแทนด้วย ฯลฯ เมื่อโจทก์เป็นผู้ทำการแทนผู้ประกอบการค้า โจทก์ย่อมมีหน้าที่ยื่นคำขอจดทะเบียนการค้าตาม มาตรา 81ยื่นรายการตาม มาตรา 85 และเสียภาษีตามมาตรา 79, 84 และตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2504 มาตรา 14 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าตามกฎหมายฉบับก่อน (ฉบับที่ 16) ยังต้องเสียภาษีการค้าตามกฎหมายฉบับนั้น เช่นนี้ เมื่อกระทรวงกลาโหมจ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาหมาย จ.4 และ จ.8 อันได้ทำไว้ก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โจทก์จึงต้องเสียภาษีการค้าตามรายรับเงินค่าจ้างดังกล่าวนั้น
ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้บอกเลิกการเป็นตัวแทนของบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2508 ตามเอกสารหมาย จ.6ก่อนที่บริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด มีรายรับ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีและแบบแจ้งประเมินฉบับแรกเอกสารหมาย จ.21/1 สำหรับรายรับประจำเดือนสิงหาคม 2503 ประเมินไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่ค่าจ้าง แต่เป็นเงินที่กู้มาจากธนาคารกรุงไทย จำกัด นั้น ศาลฎีกา เห็นว่า โจทก์บอกเลิกเป็นตัวแทนตามหนังสือมอบอำนาจหมาย จ.10 เท่านั้น ส่วนการเป็นตัวแทนตามหนังสือมอบอำนาจหมาย จ.12 มิได้บอกเลิก และโจทก์บอกเลิกเมื่อสร้าง โรงกลั่นน้ำมันส่งมอบให้กระทรวงกลาโหมไปแล้วตามสัญญาประมาณ 4 เดือน แต่เนื่องจากตามสัญญาเอกสารหมาย จ.5 กำหนดไว้ว่ากระทรวงกลาโหมจะจ่ายค่าจ้างงวดแรกให้แก่ผู้รับจ้างภายในเดือนที่ 12 นับแต่วันที่กระทรวงกลาโหมผู้จ้างได้รับมอบงานที่จ้าง ซึ่งโจทก์ในฐานะตัวแทนบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัดย่อมรู้ข้อสัญญานี้ดี การที่โจทก์บอกเลิกเป็นตัวแทนในระยะนี้ย่อมเป็นพิรุธ คือเพื่อจะให้มีหลักฐานขึ้นว่าโจทก์ได้บอกเลิกเป็นตัวแทนบริษัทคอมเมนตรีอัวเซลจำกัด แล้ว เพื่อให้โจทก์พ้นความรับผิดในฐานะเป็นผู้กระทำการประกอบการค้าซึ่งจะได้รับเงินค่าจ้างนั้น แต่ความจริงยังปรากฏว่า หลังจากที่โจทก์บอกเลิกการเป็นตัวแทนนี้แล้ว เงินซึ่งเป็นค่าจ้างตามสัญญา เอกสารหมาย จ.5 และจ.8 ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด รับมาจากกระทรวงกลาโหมก็ยังคงนำเข้าบัญชีทั้ง 4 บัญชีที่โจทก์เปิดไว้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ซึ่งโจทก์แต่ผู้เดียวมีอำนาจสั่งจ่ายเงินตามบัญชีดังกล่าวหากเป็นความจริงว่าโจทก์ได้บอกเลิกเป็นตัวแทนแล้ว โจทก์ก็คงจะไม่เกี่ยวข้องกับการเงินของบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัดอีกดังที่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.44 เหตุนี้โจทก์จะอ้างหนังสือที่โจทก์บอกเลิกการเป็นตัวแทนของบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ดังกล่าว เพื่อให้ฟังว่าโจทก์พ้นจากการเป็นตัวแทนผู้ประกอบการค้าของบริษัทคอมเมนตรีอัวเซลจำกัด และโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าจึงรับฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาโจทก์ที่ว่าแบบแจ้งการประเมินฉบับแรกเอกสารหมาย จ.21/1 สำหรับรายรับประจำเดือนสิงหาคม 2503 ไม่ใช่ค่าจ้าง แต่เป็นเงินที่กู้มาจากธนาคารกรุงไทย จำกัด นั้น ศาลฎีกา เห็นว่า เงินยอดหนี้นอกจากโจทก์จะได้ให้ถ้อยคำในการสอบสวนที่เจ้าพนักงานประเมินได้สอบไว้ตามเอกสารหมาย จ.32 แผ่นที่ 4 ว่ากระทรวงกลาโหมได้จ่ายให้ธนาคารกรุงไทยเพื่อมอบให้แก่บริษัทคอมเมนตรีอัวเซลจำกัด แล้ว ยังปรากฏข้อความตามเอกสารหมาย จ.44 ที่กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย จำกัด ได้แจ้งให้อธิบดีกรมสรรพากรทราบถึงเงินจำนวนนี้ว่าธนาคารกรุงไทย จำกัด ได้รับเงินจำนวนนี้มาจากระทรวงกลาโหมและธนาคารกรุงไทย จำกัด ได้จ่ายเงินจำนวนนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทคอมเมนตรีอัวเซลจำกัด ไปเป็นข้อยื่นยันอีกด้วย ฉะนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่า เงินจำนวนนี้เป็นเงินที่กู้จากธนาคาร ไม่ใช่เงินที่กระทรวงกลาโหมจ่ายให้บริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัดจึงรับฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า การเสียอากรแสตมป์นั้น เมื่อบริษัทคอมเมนตรีอัวเซลจำกัด เป็นผู้รับจ้าง บริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ต้องเป็นผู้เสียอากรแสตมป์เพราะตามมาตรา 104 ไม่มีบทบัญญัติให้ผู้ทำการแทนผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่เสียเหมือนภาษีการค้า และที่ผู้ประกอบการค้าจะต้องเสียก็มีแต่ในมาตรา 105(1)เฉพาะการรับเงินชำระราคา ไม่ใช่สัญญาจ้างทำของนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด เป็นผู้รับจ้างโดยโจทก์เป็นผู้ลงนามในสัญญารับจ้างแทนและเป็นผู้ทำการแทนบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด และการที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ได้รับเงินค่าจ้างจากกระทรวงกลาโหมผู้จ้าง ก็เป็นการรับแทนบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด โดยข้อสัญญาให้รับแทน แต่เงินนี้ก็คือเงินค่าจ้างทำของอยู่นั่นเอง ซึ่งจะต้องเสียค่าอากรแสตมป์ตามจำนวนเงินแห่งสินจ้าง การรับเงินค่าจ้างของธนาคารเป็นการรับผ่านมือไปเพื่อมอบให้แก่ผู้รับจ้างคือบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด เมื่อโจทก์เป็นผู้ทำการแทนบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ในประเทศไทย โดยโจทก์เปิดบัญชีแทนผู้รับจ้างไว้กับธนาคาร เหตุนี้ การที่ให้โจทก์ ซึ่งเป็นผู้ทำการแทนเสียค่าอากรแสตมป์ในเงินค่าจ้างที่รับไปนี้ ก็เสมือนเรียกค่าอากรแสตมป์จากผู้รับจ้าง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน