คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1440/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อัยการผู้ช่วยก็มีอำนาจลงนามเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาได้ เพราะอัยการผู้ช่วยก็เป็นพนักงานอัยการ (พ.ร.บ.อัยการ 2478 มาตรา 11) จึงอาจเป็นโจทก์ในคดีอาญาได้ตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา 28(1) ประกอบกับ พ.ร.บ.อัยการ 2478 มาตรา 19(1)
ศาลชั้นต้นสั่งไม่ประทับฟ้องที่อัยการเป็นโจทก์ โดยเห็นว่าผู้ลงนามเป็นโจทก์นั้นไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ ศาลอุทธรณ์ยกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปนั้น จำเลยย่อมฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ เพราะคดีที่อัยการเป็นโจทก์เมื่อยื่นฟ้องก็ถือว่าผู้ถูกฟ้องตกเป็นจำเลยทันทีผิดกับคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ผู้ถูกฟ้องไม่เป็นจำเลยจนกว่าศาลจะประทับฟ้อง
(ประชุมใหญ่)

ย่อยาว

พนักงานอัยการยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ภาษีชั้นใน โดยนายสหัส ยศธำรงลงนามเป็นโจทก์
ศาลจังหวัดแม่สอด สั่งไม่ประทับฟ้องเพราะนายสหัส ยศธำรงเป็นอัยการผู้ช่วยไม่มีอำนาจสั่งฟ้องและเป็นโจทก์ฟ้องคดีโดยพละการ อ้างป.ม.วิ.อาญามาตรา ๑๖, ๒๘, ๑๕๘ และ พ.ร.บ.พนักงานอัยการ ๒๔๗๘ มาตรา ๑๖
โจทก์อุทธรณ์, ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่าคดีนี้แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้ประทับฟ้องของโจทก์ แต่ก็มีการฎีกาได้ตามมาตรา ๒๑๖ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา ๑๗๐ เพราะมาตรา ๑๗๐ เป็นข้อบัญญัติให้คำสั่งศาลเด็ดขาด แต่ในเรื่องไต่สวนมูลฟ้องและสั่งว่าคดีมีมูล คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หาเป็นในรูปนั้นไม่และเห็นว่าจำเลยเป็นผู้ฎีกาได้ เพราะคดีนี้อัยการเป็นโจทก์ เมื่อยื่นฟ้องก็ถือว่าผู้ถูกฟ้องตกเป็นจำเลยทันทีตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา ๒(๓), มาตรา ๑๖๕ วรรคต้น
ศาลฎีกาเห็นด้วยกับศาลอุทธรณ์ว่าอัยการผู้ช่วยก็มีอำนาจลงนามเป็นโจทก์ในฟ้องได้ เพราะอัยการผู้ช่วยก็เป็นพนักงานอัยการจึงอาจเป็นโจทก์ในคดีอาญาได้ตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา ๒๘(๑) ประกอบกับ พ.ร.บ.อัยการ ๒๔๗๘ มาตรา ๑๙(๑)
พิพากษายืน

Share