แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้ขายสินค้าและรับประโยชน์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงในกาส่งสินค้าและรวบรวมเอกสารการส่งสินค้าให้ตรงตามเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อยืนยันและขอรับตามเลตเตอร์ออฟเครดิต จำเลยเป้นธนาคารผู้แจ้งเครดิตและตามเลตเตอร์ออฟเครดิตจำเลยได้รับการแต่งตั้งให้กระทำการแทนในการจ่ายเงินหรือการรับซื้อตั๋วเงินและเอกสารด้วยจำเลยจึงปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวในฐานะตัวแทนของธนาคารผู้เปิดเครดิตกับธนาคารผู้ยืนยันเครดิตดังกล่าว หากจำเลยปฏิบัติหน้าที่บกพร่องก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารซึ่งเป็นตัวการ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบต่อตัวการ แต่ความผิดชอบในการตรวจเอกสารตามยูซีพี 500 มิใช่หน้าที่เพื่อประโยชน์แก่ผู้รับประโยชน์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ต้องตัดหาเอกสารที่ถูกต้องครบถ้วนมาแสดงเองโดยตรง จึงเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบเอกสารการส่งสินค้าต่อโจทก์
จำเลยไม่มีหน้าที่และความรับผิดในการตรวจสอบเอกสารส่งสินค้าออกให้แก่โจทก์และสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัย การที่จำเลยจัดส่งเอกสารการส่งสินค้าออกไปให้ธนาคารผู้ยืนยันเครดิตโดยจำเลยมิได้สลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าแต่ละงวด และเอกสารการส่งสินค้าออกมีข้อความไม่ตรงตามเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิตเป็นเหตุให้ผู้ซื้อปฏิเสธไม่รับสินค้าของโจทก์ และธนาคารผู้ยืนยันเครดิตปฏิเสธไม่จ่ายเงินค้าสินค้า โดยแจ้งสาเหตุว่าการสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยมิได้เป็นไปตามคำสั่งของธนาคารผู้เปิดเครดิตและใบตราส่งสินค้าระบุค่าใช้จ่ายอื่นด้วยนอกเหนือจากค่าระวางเรือจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติผิดหน้าที่ตามสัญญาค่อโจทก์หรือความเสียหายของโจทก์เกิดจากการกระทำของจำเลย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนเมษายน 2541 ลูกค้าจากประเทศสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์สั่งซื้อสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของโจทก์โดยให้ขนส่งทางเรือและชำระราคาด้วยเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งดำเนินการผ่านธนาคารจำเลย ต่อมาผู้ซื้อดำเนินการขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารไฟซาลอิสลามิกแห่งอียิปต์ ธนาคารดังกล่าวตกลงเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้วขอให้ธนาคารบริติชอาหรับคอมเมอร์เยลแห่งอังกฤษขอให้ธนาคารจำเลยแจ้งเครดิตแก่โจทก์ โดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ จำนวนเงิน 89,250 ดอลลาร์สหรัฐ มีเงื่อนไขสำคัญ 2 ข้อ คือ (1) ให้กรมธรรม์ประกันภัยที่ออกระบุว่าเป็นไปตามคำสั่งของธนาคารผู้เปิดเครดิต และ (2) ใบตราส่งสินค้าจะต้องระบุค่าระวางเรือเท่านั้น ห้ามแสดงค่าใช้จ่ายอื่น ยกเว้นค่าล่วงเวลาของตู้เก็บสินค้า เมื่อโจทก์รับแจ้งเครดิตแล้ว โจทก์ได้ส่งสินค้าและจัดทำเอกสารการส่งสินรวม 4 งวด มอบหมายให้จำเลยเป็นผู้ตรวจให้ตรงตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิต จำเลยเก็บเงินค่าตรวจเอกสารและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จากโจทก์แล้วชำระเงินค่าสินค้าให้โจทก์ก่อนที่จะเรียกเก็บจากผู้ซื้อ โดยจำเลยได้หักเงินค่าตรวจเอกสารและค่าใช้จ่ายอืน ๆ ออกจากราคาสินค้าก่อนแล้วนำเงินที่เหลือเข้าบัญชีของโจทก์ ในการมอบหมายดังกล่าวจำเลยมีหน้าที่ตรวจเอกสารของโจทก์ให้ตรงตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิต แต่จำเลยกลับปฏิบัติผิดหน้าที่ กล่าวคือ มิได้สลักหลังกรมธรรม์ประกันภัย และปรากฏว่า ใบตราส่งสินค้าระบุค่าใช้จ่ายอื่นนอกเหนือจากค่าระวางเรือ ผู้ซื้อจึงปฏิเสธไม่ยอมรับสินค้า และธนาคารไม่ยอมจ่ายเงินค่าสินค้า 3 งวดแรก ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตโดยอ้างความผิดพลาดทางเอกสารทั้ง 2 ข้อดังกล่าว สำหรับเงินค่าสินค้าที่จำเลยนำเข้าบัญชีของโจทก์ไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วนั้น จำเลยก็หักออกจากบัญชีของโจทก์ ส่วนสินค้างวดที่ 4 หลังจากจำเลยทราบเหตุขัดข้องแล้วก็ได้ตรวจเอกสารให้ตรงตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตโดยสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยจนธนาคารผู้เปิดเครดิตจ่ายเงินค่าสินค้างวดที่ 4 และคืนเอกสารการส่งสินค้า 3 งวดแรกมายังโจทก์ การที่จำเลยไม่ตรวจเอสารให้ตรงตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินค่าสินค้า 3 งวดแรก รวมเป็นเงิน 79,090 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 3,215,799.40 บาท สินค้า 3 งวดแรก ซึ่งเป็นเสื้อผ้าเฟชั่นเมื่อตกค้างอยู่ในประเทศสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ก็ย่อมเสือมราคาลงมากและหากนำส่งกลับมายังประเทศไทยก็ยิ่งเสียหายมากขึ้น เพื่อบรรเทาความเสียโจทก์จำต้องขายสินค้า 3 งวด นี้ให้แก่ผู้ซื้อรายอื่นในราคาเพียง39,195 ดอลลาร์สหรัฐ หักค่าใช้จ่าย 4,391 ดอลลาร์สหรัฐ ออกแล้วโจทก์คงได้รับเพียง 34,784 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 1,274,621.45 บาท ซึ่งน้อยกว่าเงินที่โจทก์จะได้รับอยู่ถึงจำนวน 1,941,177.95 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รับค่าขายสินค้าจากผู้ซื้อรายใหม่คือวันที่ 5 สิงหาคม 2541 ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยจำนวน 206,250 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,147,428.95 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอกสารการส่งสินค้าของโจทก์ แต่เป็นเรื่องที่โจทก์กับบริษัทเรือดำเนินการกันเองโดยโจทก์แจ้งให้บริษัทเรือปฏิบัติตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้วโจทก์นำเอกสารนั้นมายื่นต่อจำเลย สำหรับเอกสารการส่งสินค้างวดที่ 1 โจทก์นำมาขายให้จำเลยเพื่อขอรับเงินไปก่อนโดยตกลงว่าหากจำเลยไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ โจทก์ยอมชดใชเงินคืนแก่จำเลยพร้อมชำระดอกเบี้ยอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยนับแต่วันที่โจทก์ได้รับเงินไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่จำเลยครบถ้วน ส่วนเอกสารการส่งสินค้าค้างงวดที่ 2 และงวดที่ 3 จำเลยไมได้รับซื้อไว้ จำเลยมิใช่ธนาคารผู้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตหรือธนาคารผู้ยืนยันการจ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตไม่สามารถรับรองความถูกต้องสมบูรณ์ของเอกสารการส่งสินค้า จำเลยเป็นเพียงธนาคารผู้แจ้งการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้โจทก์ทราบ รับซื้อเอกสารการส่งสินค้าของโจทก์และเป็นตัวแทนรวบรวมเอกสารนั้นส่งไปเรียกเก็บเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตเท่านั้น และจำเลยปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวครบถ้วนถูกต้องตามหลักการค้าระหว่างประเทศแล้ว โดยเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมซึ่งมิใช่ค่าตรวจเอกสารตามที่โจทก์กล่าวอ้างสำหรับเอกสารการส่งสินค้างวดที่ 4 โจทก์ได้แก้ไขเองจนถูกต้องหลังจากทราบว่าเอกสารการส่งสินค้า 3 งวดแรกเคยมีปัญหามาก่อนกรณีขัดข้องทางเอกสารดังกล่าวจำเลยได้ช่วยเจรจากับธนาคารในต่างประเทศโดยจำเลยชี้แจงไปให้ทราบว่า กรมธรรม์ประกันภัยได้สลักหลังโอนให้แก่ธนาคารผู้รับประโยชน์แล้ว ส่วนใบตราส่งสินค้าโจทก์ก็ได้แก้ไขจนถูกต้องแล้ว ความบกพร่องทางเอกสารเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่น่ามีผลถึงขนาดทำให้ผู้ซื้อปฏิเสธไม่รับสินค้าของโจทก์แต่ต่อมาเมื่อโจทก์แจ้งว่าหาผู้ซื้อรายใหม่ได้แล้วขอให้จำเลยเรียกเอกสารการส่งสินค้ากลับคืนมาจากธนาคารในต่างประเทศ มีผลให้การเจรจาระงับไปโดยปริยาย จำเลยจึงปฏิบัติตามความประสงค์ของโจทก์ การที่โจทก์นำสินค้าไปขายให้บุคคลอื่นและได้รับความเสียหายจำนวน 1,941,177.95 บาท เป็นเรื่องที่โจทก์ยอมขายและยอมขาดทุนด้วยความสมัครใจเองไม่เกี่ยวกับจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันและไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2541 บริษัทอัลมัดดาห์เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศไทยสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ได้สั่งซื้อสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากโจทก์รวม 2 ครั้ง ครั้งแรกจำนวน 550 โหล เป็นเงิน 79,250 ดอลลาร์สหรัฐ ครั้งที่สองจำนวน 250 โหล เป็นเงิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีข้อตกลงให้ขนส่งสินค้าทางเรือและสามารถทยอยส่งมอบเป็นงวด ๆ ได้ กับชำระราคาสินค้าโดยการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตผ่านธนาคารจำเลย ผู้ซื้อได้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตชนิดเพิกเพิกถอนไม่ได้กับธนาคารไฟซาลอสลามิกแห่งอียิปต์ จำนวน 2 ฉบับ และให้ธนาคารบริติชอาหรับคอมเมอร์เชียลแห่งกรุงลอนดอนเป็นผู้ยืนยันการจ่ายเงิน และแจ้งเครดิตผ่านธนาคารจำเลยโดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ในเงินค่าสินค้าดังกล่าว ซึ่งเงื่อนไขสำคัญ 2 ข้อ คือให้กรมธรรม์ประกันภัยที่ ออกระบุว่าเป็นไปตามคำสั่งของธนาคารผู้เปิดเครดิต และใบตราส่งสินค้าจะต้องระบุค่าระวางเรือเท่านั้น ห้ามแสดงค่าใช้จ่ายอื่นยกเว้นค่าล่วงเวลาของตู้เก็บสินค้าตามสำเนาเลตเตอร์ออฟเครดิต เลขที่ 17556/98 และเลขที่ 17557/98 เอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ตามลำดับ เมื่อโจทก์ได้รับการแจ้งเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตทั้งสองฉบับจากจำเลยแล้ว โจทก์ได้จัดส่งสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตฉบับแรกไปให้ผู้ซื้อโดยทยอยส่งเป็น 3 งวด งวดที่ 1 ตามใบกำกับสินค้า เลขที่ 1139/98 สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจำนวน 80 โหล รวมค่าสินค้า ค่าระวางเรือ ค่าประกันภัยทางทะเลเป็นเงิน 11,200 ดอลลาร์สหรัฐ งวดที่ 2 ตามใบกำกับสินค้า เลขที่ 1140/98 สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจำนวน 198 โหล ควมค่าสินค้า ค่าระวางเรือ และค่าประกันภัยทางทะเลเป็นเงิน 27,390 ดอลลาร์สหรัฐ งวดที่ 3 ตามใบกำกับภาษี เลขที่ 1141/98 สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจำนวน 280 โหล ควมค่าสินค้า ค่าระวางเรือ และค่าประกันภัยทางทะเลเป็นเงิน 40,500 ดอลลาร์สหรัฐ โดยโจทก์ได้เอาประกันภัยสินค้าดังกล่าวไว้บริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) และได้ว่าจ้างให้บริษัทขนส่งสากล จำกัด เป็นผู้ขนสินค้าของโจทก์ หลังจากส่งมอบสินค้าแต่ละงวดให้แก่ผู้ขนส่งแล้ว โจทก์ได้นำเอกสารเกี่ยวกับการส่งสินค้าออกทางเรื่อต่าง ๆ ได้แก่ ใบตราส่งซึ่งระบุถึงค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอกเหนือค่าระวางเรือ ใบกำกับสินค้าและกรมธรรม์ประกันภัย โดยกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละฉบับจะมีข้อความทำนองเดียวกันว่า การจ่ายเงินให้เป็นไปตามคำสั่งของธนาคารไฟซาลอิสลามิกแห่งอียิปต์และโจทก์ได้สลักหลังลอยไว้เสนอต่อจำเลยเพื่อให้ดำเนินการเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อหรือธนาคารผู้จ่ายเงินในต่างประเทศ โดยโจทก์ได้ลงชื่อในเอกสารคำขอขายเอกสาร (REQUEST FOR NEGOTIATION) ซึ่งมีข้อความสำคัญว่า หากจำเลยเรียกเก็บเงินค่าสินค้าไม่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ โจทก์ยินยอมคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลย สำหรับสินค้างวดที่ 1 ธนาคารจำเลยได้จ่ายเงินค่าสินค้าให้โจทก์ไปก่อนโดยหักเงินค่าธรรมเนียม 800 บาท กับค่าธรรมเนียมอื่นอีกหลายรายการรวมเป็นเงิน 1,358 บาท และนำเงินส่วนที่เหลือจำนวน 458,514 บาท เข้าบัญชีของโจทก์เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2541 ตามใบแจ้งเข้าบัญชีเอกสารหมาย จ.19 และคำแปลเอกสารหมาย จ.20 ส่วนสินค้างวดที่ 2 และที่ 3 โจทก์ขอให้ธนาคารจำเลยส่งเอกสารไปเพื่อเรียกเก็บเงินค่าสินค้าตามปกติ ซึ่งจำเลยได้เรียกเก็ยเงินค่าธรรมเนียมรวม 1,358 บาทเช่นเดียวกันตามใบแจ้งหักบัญชีเอกสารหมาย จ.21 และ จ.23 กับคำแปลเอกสารหมาย จ.22 และ จ.24 ตามลำดับ เมื่อจำเลยได้ส่งเอกสารการส่งสินค้าออกจากโจทก์ไปเพื่อเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่ามีการปฏเสธไม่จ่ายเงินค้าสินค้าโดยอ้างว่า เอกสารการส่งสินค้าไม่ตรงตามเงื่อนไขของเลตเอตร์ออฟเครดิตโดยการสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยมิได้เป็นไปตามคำสั่งของธนาคารผู้เปิดเครดิต และใบตราส่งสินค้าระบุค่าใช้จ่ายอื่นด้วยนอกเหนือค่าระว่างเรือ จำเลยจึงเรียกเงินค่าสินค้างวดที่ 1 คืนจากโจทก์ โดยการหักเงินจำนวนดังกล่าวออกจากบัญชีของโจทก์ ในการส่งสินค้าตามเลตเอตร์ออฟเครดิตฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นการส่งสินค้าในงวดที่ 4 ได้มีการแก้ไขข้อบกพร่องเรียบร้อยแล้ว และธนาคารผู้ยืนยันเครดิตได้จ่ายเงินค่าสินค้าในช่วงที่ 4 ให้แก่โจทก์ โดยผ่านธนาคารจำเลย สำหรับสินค้างวดที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ที่ผู้ซื้อปฏเสธไม่ยอมรับสินค้า โจทก์ได้ขอเอกสารการส่งสินค้าคืนจากจำเลยและได้ติดต่อขายให้แก่บริษัทซาห์รัตอีลคาลิล จำกัด ซึ่งอยู่ในประเทศสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ได้ในราคา 5,600 ดอลลาร์สหรัฐ และ20,050 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ในการตรวจสอบเอกสารการส่งสินค้าออกที่โจทก์นำมายื่นต่อจำเลยให้ถูกต้องตามเงื่อนไขของเลตเอตร์ออฟเครดิตหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้จำเลยจะเป็นธนาคารผู้แจ้งเครดิต แต่เมื่อโจทก์นำเอกสารการส่งสินค้าออกยื่นต่อจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงินค่าสินค้า จำเลยได้เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการตรวจเอกสารโดยระบุรายการเป็นภาษาอังกฤษ ว่า NEGO. FEE ครั้งละ 800 บาท ถือได้ว่าค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นค่าจ้างในการตรวจสอบเอกสารการส่งสินค้าออกของโจทก์ นอกจากนี้จำเลยยังได้มอบอำนาจจากธนาคารบริติชอาหรับคอมเมอร์เชียลแห่งกรุงลอนดอนผู้ยืนยันเครดิตให้ดำเนินการรับซื้อตั๋วเงินตามเลตเอตร์ออฟเครดิต จำเลยจึงเป็นธนาคารผู้รับซื้อตั๋วด้วย ดังนั้น จำเลยจึงมีหน้าที่ตรวจสอบจำเลยจึงมีหน้ที่ตรวจสอบเอกสารการส่งสินค้าออกของโจทก์ด้วยความระมัดระวังให้ถูกต้องครบถ้วนตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตตามกำหนดในยูซีพี 500 (UCP 500) ข้อ 13 (เอ) การที่จำเลยมิได้ตรวจเอกสารการส่งสินค้าออกด้วยความระมัดระวัง โดยเอกสารดังกล่าวบางส่วนไม่ตรงตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิต ทำให้ผู้ซื้อปฏิเสธไม่ยอมรับสินค้า จำเลยจึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้ขายสินค้าและเป็นผู้รับประโยชน์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตมีหน้าที่และรับผิดชอบโดยตรงในการดำเนินการส่งสินค้าและรวบรวมเอกสารการส่งสินค้าให้ตรงตามเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อยืนยันขอรับเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตจำเลยเป็นเพียงธนาคารผู้แจ้งเครดิต (ADVISING BANK) และตามเลตเตอร์ออฟเครดิตมีข้อความว่าธนาคารบริติชอาหรับคอมเมอร์เชียลแห่งกรุงลอนดอนผู้ยืนยันเครดิต (COMFIRMING BANK) มอบอำนาจให้จำเลยในการหักบัญชีของธนาคารบริติชอาหรับคอมเมอร์เชียลแห่งกรุงลอนดอน ตามมูลค่าของตั๋วเงินที่จำเลยได้รับซื้อและจ่ายเงินตามมูลค่าเครดิตและเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิตภายหลัง 5 วันทำการ นับแต่วันที่ธนาคารดังกล่าวได้รับข้อความการตรวจสอบเอกสารของจำเลยว่าถูกต้องตามเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งหมายความว่าจำเลยเป็นธนาคารที่ได้รับการแต่งตั้งให้กระทำการแทนในการจ่ายเงินหรือการรับซื้อตั๋วและเอกสารด้วยก็ตาม แต่การที่จำเลยได้รับซื้อตั๋วเงินหรือเอกสารการส่งสินค้าออกของโจทก์ที่ 1 โดยนำเงินค่าสินค้าในงวดที่ 1 หลังจากหักค่าธรรมเนียมแล้วเข้าบัญชีของโจทก์ ก็เป็นกรณีที่จำเลยให้สินเชื่อแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อในการซื้อขายเอกสารการส่งออกกับจำเลยเป็นความผูกพันโดยเฉพาะระหว่างจำเลยกับโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยในการรับซื้อตั๋วเงินและเอกสารและจ่ายเงิรค่าสินค้าให้แก่โจทก์ไปก่อน แล้วเรียกเก็บเงินนำเข้าชำระหนี้ต่อไป แต่ทั้งนี้โจทก์ได้ทำหนังสือรับรองไว้ว่า หากจำเลยเรียกเก็บเงินค่าสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้นไม่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ โจทก์ยินยอมคืนเงินให้แก่จำเลย ดังนี้ แม้หากจะฟังว่าธนาคารจำเลยเป็นธนาคารผู้รับซื้อตั๋วเงินและเอกสารจากโจทก์ด้วย ซึ่งจำเลยจะต้องตรวจสอบเอกสารการส่งสินค้าออกก็ตาม แต่หน้าที่ของจำเลยดังกล่าวเกิดจากการแต่งตั้งและมอบหมายจากธนาคารไฟซาลอิสลามิกแห่งอียิปต์และธนาคารบริติชอาหรับคอมเมอร์เชียลแห่งกรุงลอนดอน จำเลยจึงปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวในฐานะตัวแทนของธนาคารผู้เปิดเครดิตกับธนาคารผู้ยืนยันเครดิตดังกล่าวหากจำเลยปฏิบัติห้าที่บกพร่องก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารซึ่งเป็นตัวการ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบต่อตัวการดังกล่าวนั้น โดยความรับผิดชอบในการตรวจเอกสารตามยูพีซี 500 ดังกล่าวมุ่งหมายถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของธนาคารที่เกี่ยวข้องในการตรวจเอกสารตามเลตเตอร์ออฟเครดิตก็เพื่อให้ถูกต้องตามเงื่อนไขในการขอเปิดเครดิตของลูกค้าผู้ขอเปิดเครดิตเพื่อประโยชน์แก่ผู้ขอเครดิตนั้นในอันที่จะได้รับเอกสารถูกต้องครบถ้วนตามคำขอเปิดเครดิตมิใช่หน้าที่เพื่อประโยชน์แก่ผู้รับประโยชน์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ต้องจัดหาเอกสารที่ถูกต้องครบถ้วนมาแสดงเองโดยตรงดังกล่าวมาข้างต้นแต่อย่างใด จึงมิใช่กรณีที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจเอกสารการส่งสินค้าต่อโจทก์ตามข้อกำหนดของยูพีซี 500 ดังที่โจทก์อ้าง ส่วนปัญหาว่าการที่จำเลยเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจำนวน 800 บาท โดยระบุรายการว่า COMM. REC. – NEGO. FEE ถือเป็นกรณีมีข้อตกลงพิเศษอันที่จำเลยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนในการรับตรวจเอกสารการส่งสินค้าออกให้แก่โจทก์ดังที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่ โจทก์มีนายวิโรจน์ ศรีวิทิตกุล หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารการส่งสินค้าออกของโจทก์ให้ตรงตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตเพราะจำเลยได้เรียกเก็บเงินจำนวน 800 บาท เป็นค่าจ้างในการตรวจเอกสารดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วคำว่า “NEGO FEE” คือค่าตรวจเอกสารและรวบรวมเอกสารส่งไปเรียกเก็บเงิน และโจทก์มีนายธวัชชัย หนุนภักดี มาเบิกความสนับสนุนว่า คำว่า “NEGO.FEE” ย่อมาจากคำว่า “NEGOTIATING FEE” หมายความว่า ธนาคารมีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารให้เป็นไปตามเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิตและมีการจ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ส่งออก แล้วจึงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ส่วนจำเลยมีนายถนอม ตั้งปอง ผู้จัดการศูนย์บริการธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของจำเลยมาเบิกความเป็นพยานว่าคำว่า “NEGO. FEE” คือค่าธรรมเนียมในการจ่ายเงิน เงินที่จำเลยเรียกเก็บจากโจทก์จำนวน 800 บาท เป็นค่า “HANDLING FEE” หมายถึง ค่าแบบพิมพ์เอกสาร เครื่องมือ เครื่องใช้ ค่าปฏิบัติงานของพนักงานเป็นต้น “NEGO. FEE” ไม่ใช่ค่าตรวจเอกสารเมื่อลูกค้านำเอกสารการส่งสินค้าออกมาให้แก่จำเลย จำเลยรับดำเนินการให้ก็จะเรียกเก็บเงิน “NEGO. FEE” เมื่อจำเลยรับเอกสารแล้วก็มีการตรวจเอกสาร แต่ไม่ได้แจ้งเรื่องเกี่ยวกับเอกสารไปยังธนาคารผู้ยืนยันการจ่ายเงิน กล่าวคือ จำเลยรวบรวมเอกสารเสร็จก็จะจ่ายเงินให้ทันที และมีนางอรุณี อัครประเสริฐกุล ผู้จัดการฝ่ายการต่างประเทศของธนาคารทหารไทยมาเบิกความเป็นพยานว่า การที่ลูกค้านำเอกสารมาให้ธนาคารเพื่อให้เรียกเก็บเงินหรือขอให้ธนาคารจ่ายเงินก่อน ลูกค้าจะต้องเสียธรรมเนียม 800 บาท เป็นค้าใช้จ่าย ค่าดำเนินการ ค่าพนักงาน คำว่า COMM. REC. – NEGO. FEE ต้องแปลว่า ค่าธรรมเนียมในการเรียกเก็บเงินตามเอกสาร ทั้งจำเลยยังมีนายสุธิน สมุทวนิช ที่ปรึกษาสมาคมธนาคารไทยมาเบิกความเป็นพยานด้วยคำว่า “NEGO. FEE” คือค่าธรรมเนียมในการรับซื้อตั๋วส่วนคำว่า WCOMM. REC.” คือ COMMISSLON RECEIPT คำว่า “NEGO. FEE” ตามเอกสารหมาย จ.22 จ.24 และ จ.26 ที่แปลว่า ค่าตรวจเอกสารเป็นคำแปลที่ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับกันว่า “NEGO. FEE” มาจากคำว่า “NEGOTIATING FEE” ซึ่งหน้าจะแปลได้ว่าค่าธรรมเนียมในการรับซื้อเอกสารหรือเรียกเก็ฐเงินตามเอกสาร แม่ตามคำเบิกความของนายถนอม ตั้งปอง พยานจำเลยจะรับว่า เมื่อธนาคารจำเลยรับเอกสารก็จะต้องมีการตรวจเอกสาร เจือสมกับคำเบิกความของนายธวัชชัย หนุกภักดี พยานโจทก์ที่ว่าคำว่า “NEGOTIATING FEE” หมายความว่า ธนาคารมีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารให้เป็นไปตามเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิตและมีการจ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ส่งออกแล้วจึงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงการที่จำเลยต้องให้โจทก์ลงื่อในเอกสารการส่งสินค้าออกมายื่น โดยมีข้อความส่วนหนึ่งเป็นการประกันความเสียหายของจำเลยว่า หากจำเลยเรียกเก็บเงินค่าสินค้าไม่ได้ไม่ว่าว่าด้วยเหตุใด ๆ โจทก์ยินยอมคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลย แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ยินยอมเสี่ยงภัยรับประกันการรับและตรวจเอกสารการส่งสินค้าออกให้แก่โจทก์ว่าสามารถเรียกเก็บเงืนได้อย่างแน่นอน ซึ่งรวมไปถึงรับรองความถูกต้องของเอกสารว่าตรวตามเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่โจทก์ ดังนั้นแม้จำเลยจะเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากโจทก์ในกรณีรับซื้อเอกสารหรือเรียกเก็บเงินตามเอกสารให้โจทก์ และจำเลยมีหน้าที่ตรวจเอกสารการส่งสินค้าออกของโจทก์ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิตก็ตาม ก็เป็นหน้าที่ที่จำต้องเพื่อระมัดระวังรักษาประโยชน์ของจำเลยเองมิได้มีหน้าที่ตรวจเอกสารให้แก่โจทก์ตามสัญญาดังที่โจทก์อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยตกลงทำสัญญาในการรับตรวจสอบเอกสารการส่งสินค้าออกให้ถูกต้องตามเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่โจทก์อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยในเอกสารการส่งสินค้าของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตตามฟ้อง จำเลยเป็นธนาคารผู้แจ้งเครดิตและธนาคารผู้ได้รับการแต่งตั้งให้กระทำการแทนธนาคารผู้ยืนยันเครดิตในการรับ ตรวจสอบและส่งต่อเอกสารการส่งสินค้าออกจากโจทก์เท่านั้น เงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตในส่วนที่เกี่ยวกับการประกันภัยสินค้าระบุเพียงว่ากรมธรรม์ประกันให้ออกว่าเป้นไปตามคำสั่งของธนาคารผู้เปิดเครดิตและให้แสดงให้เห็นว่าการร้องขอรับเงินค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าทำได้ที่ปลายทางในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้าบวกกับอีกร้อยละ 10 ของจำนวนเงินดังกล่าว รวมทั้งให้มีข้อความคลอบคลุมถึงความเสี่ยงภัยดังต่อไปนี้ ภัยทางทะเล สงคราม ระเบิด ความเสี่ยงภัยทุกชนิด ได้ความว่าโจทก์ได้เอาประกันภัยสินค้าของโจทก์ทั้ง 4 งวด ไว้แก่บริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) และกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 4 ฉบับ ที่บริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ออกให้แก่โจทก์ ก็มีข้อความเป็นไปตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิต โดยเฉพาะข้อความที่ว่า ให้เป็นไปตามคำสั่งของธนาคารไฟซาลอิสลามิกแห่งอียิปต์ แต่ปรากฏว่า สินค้าของโจทก์รวม 3 งวดแรก ผู้ซื้อปฏิเสธไม่รับสินค้าและธนาคารผู้ยืนยันเครดิตปฏิเสธไม่จ่ายเงินค่าสินค้าด้วยเหตุผลข้อหนึ่งว่า การสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยมิได้เป็นไปตามีคำสั่งของธนาคารผู้เปิดเครดิต โจทก์ไม่มีพยานมาเบิกความยืนยันว่า ข้อความในเลตเตอร์ออฟเครดิตอันเกี่ยวกับการกระกันภัยสินค้าดังกล่าวข้างต้น ผู้ประกอบวิชาชีพธนาคารซึ่งมีธุรกรรมเกี่ยวกับวิธีการชำระเงินในการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศต้องเข้าใจว่าธนาคารผู้รับแจ้งเครดิตหรือได้รับแต่งตั้งมีหน้าที่สลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยด้วย นายถนอม ตั้งปอง พยานจำเลยเบิกความว่า ข้อความที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยทุกฉบับ มีปรากฏหมายความอยู่แล้วว่าหากสินค้าได้รับความเสียหาย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยคือธนาคารไฟซาลอิสลามิกแห่งอียิปต์ตึงไม่จำเป็นต้องมีการสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยอีก นางาสวศิริรัตน์ หวังธนาเลิศ เจ้าหน้าที่รับประกันของบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) มาเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.57 จ.58 และ 59 มีโจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับประกันภัย คำว่า TO ORDER OF FAISAL ISLAMIC BANK นั้น หมายถึง การจ่ายตามคำสั่งของธนาคารไฟซาลอิลามิก ธนาคารจำเลยไม่ใช่คู่สัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว และเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า หากผู้เอาประกันภัยประสงค์จะโอนสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัยก็จะต้องสลักหลังลอย ถ้าผู้ซื้อไม่รู้จักผู้ขายสินค้าก็ต้องดำเนินการผ่านธนาคาร ถ้าผู้เอาประกันภัยสลักหลังลอบให้ธนาคารก็จะต้อสลักหลังต่อให้ผู้รับประโยชน์ในการส่งสินค้าไปให้ผู้ซื้อในต่างประเทศธนาคารจำเลยจะต้องตรวจสอบเอกสารถูกต้องตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้วจึงจะส่งสินค้าออกไปได้ ถ้าผู้ซื้อสินค้าให้ธนาคารจำเลยสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัย ธนาคารจำเลยก็ต้องสลักหลัง ถ้าผู้ซื้อสินค้าระบุเงื่อนไขพิเศษให้ธนาคารจำเลยสลักหลังเพิ่มเติมนอกเหนือจากกรณีผู้เอาประกันภัยสลักลอยแล้ว ธนาคารจำเลยก็ต้องสลักหลังเพิ่มเติมตามคำสั่งของผู้ซื้อ เห็นได้ว่า ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตทั้ง 2 ฉบับ ตามฟ้องที่เปิดและให้ธนาคารจำเลยแจ้งไปยังโจทก์ผู้รับประโยชน์ไม่ปรากฏข้อความที่เป็นเงื่อนไขพิเศษให้จำเลยต้องสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยต่อการจากสลักหลังของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย ทั้งข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับสินค้างวดที่ 1 ถึงงวดที่ 3 ก็สอดคล้องตรงกับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิต การที่ผู้ซื้อปฏิเสธไม่รับสินค้าและธนาคารผู้ยืนยันเครดิตไม่จ่ายเงินค่าสินค้าในงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 3 ของโจทก์โดยอ้างว่า การสลักหลังในกรมธรรม์ประกันภัยมิได้เป็นไปตามคำสั่งของธนาคารผู้เปิดเครดิต โจทก์ก็ไม่สามารถนำสืบไปได้ว่าธนาคารจำเลยทราบอยู่แล้วว่าต้องสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัย พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยตามข้ออ้างของโจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีหน้าที่และความรับผิดในการตรวจสอบเอกสารส่งสินค้าออกให้แก่โจทก์และมีหน้าที่สลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยดังที่โจทก์อ้าง การที่จำเลยจัดส่งเอกสารการส่งสินค้างวดที่ 1 ถึงงวดที่ 3 ไปธนาคารผู้ยืนยันเครดิตโดยจำเลยมิได้สลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าแต่ละงวด และเอกสารการส่งสินค้าออกมีข้อความไม่ตรงตามเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิตเป็นเหตุให้ผู้ซื้อปฏิเสธไม่รับสินค้าของโจทก์ในงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 3 และธนาคารผู้ยืนยันเครดิตปฏเสธไม่จ่ายเงินค้าสินค้าในงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 3 โดยแจ้งสาเหตุว่า การสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยมิได้เป็นไปตามคำสั่งของธนาคารผู้เปิดเครดิต และใบตราส่งสินค้าระบุค่าใช้จ่ายอื่นด้วยนอกเหนือจากค่าระวางเรือ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติผิดหน้าที่ตามสัญญาต่อโจทก์หรือความเสียหายของโจกท์เกิดจากการกระทำของจำเลย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียให้แก่โจทก์ได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดอีกต่อไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่าง
ประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ