แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นดำเนินมา มิใช่เป็นกรณีการพิจารณาโดยขาดนัด คู่ความจะร้องขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 207 ไม่ได้
เดิมบริษัทจำกัดจำเลย โดย ช. กรรมการผู้จัดการ ได้แต่งตั้งทนายความคนหนึ่งแล้วต่อมาบริษัทจำเลยได้เปลี่ยนกรรมการบริษัทใหม่บริษัทจำเลยโดยกรรมการชุดใหม่จึงได้แต่งตั้งทนายความอีกคนหนึ่งทนายความแต่ละคนดังกล่าวต่างมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความได้ดังนี้ เมื่อทนายความคนหลังได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ และศาลพิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแล้ว ย่อมเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมาย และผูกพันบริษัทจำเลย บริษัทจำเลยโดยทนายความคนแรกจะร้องขอให้พิจารณาใหม่ โดยเหตุที่ทนายความคนแรกไม่ได้รู้เห็นในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวนั้นด้วยหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองได้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและในกิจการของจำเลยแทนจำเลยตามคำขอร้องและความจำเป็นของจำเลยไปหลายครั้ง จำเลยยังค้างชำระเงินทดรองจ่ายและดอกเบี้ยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๒๘,๘๕๗.๖๔ บาท โจทก์ทวงถามแล้วไม่ชำระให้ จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้
จำเลยโดยนายชุมพล เที่ยงธรรม กรรมการผู้จัดการและกรรมการอำนวยการ (นายประดิษฐ สืบสุข ทนาย) ให้การต่อสู้ว่าไม่เคยเป็นหนี้โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยโดยนายพิณ สุวรรณประทีป และนายชัชวาลย์ ชุติมา กรรมการ (นายชาญ เมธางกูร ทนาย) ยื่นคำแถลงต่อศาลว่า บริษัทจำเลยได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการใหม่แล้วโดยมีนายพิณ สุวรรณประทีป นายประภาส สุวรรณประทีป นายชัชวาลย์ชุติมา เป็นกรรมการ กรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทคือกรรมการคนใดคนหนึ่งในสามคนนี้และประทับตราสำคัญของบริษัท และพร้อมนี้จำเลยได้แต่งตั้งทนายใหม่ด้วยแล้ว ศาลจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าโจทก์ที่ ๑ ทนายโจทก์และทนายจำเลยซึ่งจำเลยแต่งตั้งเข้ามาใหม่มาศาลทนายจำเลยคนเดิมไม่มาคู่ความตกลงทำยอมกัน ปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลได้พิพากษาคดีไปตามยอมในวันนั้น
ต่อมา จำเลยโดยนายประดิษฐ สืบสุข ทนายความคนเดิม ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ และไต่สวนในข้อที่ว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์ตนในฐานะทนายจำเลยมาศาลตามนัด และการที่จำเลยแต่งทนายเข้ามาใหม่และทำสัญญาประนีประนอมยอมความไปโดยทนายคนเดิมไม่ได้รับรู้ด้วยสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงไม่ชอบ
ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง
จำเลยโดยทนายความคนเดิมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลมิได้สั่งแสดงว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้มีการพิจารณาใหม่ พิพากษายืน
จำเลยโดยทนายความคนเดิมฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า กระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นดำเนินคดีนี้มานั้นมิใช่เป็นกรณีการพิจารณาโดยขาดนัด อันจะเป็นเหตุให้คู่ความร้องขอให้มีการพิจารณาใหม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๗ เพราะในวันนัดสืบพยานโจทก์ มิได้มีการสืบพยานโจทก์และคู่ความมาศาลทั้งสองฝ่าย แล้วคู่ความได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลจึงพิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น หากแต่กรณีเป็นคดีที่มีจำเลยคนเดียวและจำเลยได้แต่งตั้งทนาย ๒ คน โดยแต่งตั้งมาแต่เดิมคนหนึ่ง ต่อมาหลังจากที่จำเลยได้เปลี่ยนกรรมการบริษัทใหม่แล้ว ได้แต่งตั้งในภายหลังอีกคนหนึ่ง และให้ทนายแต่ละคนดังกล่าวมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความได้ เมื่อทนายคนหลังของจำเลยได้เข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับฝ่ายโจทก์ และศาลพิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแล้ว ดังนี้ ย่อมเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายและผูกพันจำเลย จำเลยโดยนายชุมพล เที่ยงธรรม กรรมการผู้จัดการและกรรมการอำนวยการ (นายประดิษฐ สืบสุข ทนาย) จะร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่โดยเหตุที่ทนายคนเดิมไม่ได้รู้เห็นในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวนั้นด้วย หาได้ไม่
พิพากษายืน