คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14319/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นผู้ดำเนินการหรือบริการภายใต้ข้อตกลงตามสัญญาและเงื่อนไขตามสัญญาเช่าเวลาเพื่อออกอากาศรายการระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง และในการดำเนินการก็ต้องเป็นไปตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2536 ตลอดจนการควบคุมจัดการการตกลงกำหนดวันเวลาที่จะแพร่ภาพออกอากาศที่มีการกำหนดกันไว้เป็นการแน่นอน โดยคิดค่าบริการหรือค่าตอบแทนตามอัตราที่โจทก์กำหนดไว้ ถือได้ว่าโจทก์โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นผู้ค้ารับทำการงานดังกล่าวให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้รับบริการ โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าซึ่งต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 53,642,309.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 23,784,796.56 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับทั้งสองฝ่าย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาถึงข้อตกลง รวมทั้งเงื่อนไขการปฏิบัติตามสัญญาท้ายสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า มีการกำหนดเงื่อนไขในการที่จำเลยทั้งสองประสงค์จะนำเทปโทรทัศน์ประเภทละครรวมทั้งเทปการโฆษณามาให้สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ของโจทก์ทำการแพร่ภาพและเสียงออกอากาศว่าจะต้องนำเทปที่มีคุณภาพดีออกอากาศตามวัตถุประสงค์เพื่อให้โจทก์พิจารณาว่าสมควรออกอากาศหรือไม่เพียงใดและเมื่อมีความจำเป็นโจทก์มีสิทธิงดหรือเลื่อนการแพร่ภาพออกอากาศรายการของจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิดต่อจำเลยทั้งสอง ทั้งได้กำหนดวันเวลาการแพร่ภาพออกอากาศไว้เป็นการแน่นอนตลอดจนมีการกำหนดอัตราค่าแพร่ภาพออกอากาศครั้งละเป็นจำนวนเงินตามที่ตกลงกันไว้และจะต้องชำระราคาค่าแพร่ภาพออกอากาศแต่ละครั้งก่อนหรือหลังแพร่ภาพกี่วันตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาและเงื่อนไขท้ายสัญญา ประกอบกับเมื่อได้พิจารณาถึงระเบียบกองทัพบกว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2536 จะเห็นได้ว่าแม้ตามระเบียบดังกล่าวในข้อ 7 ที่ระบุถึงวัตถุประสงค์ของการส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ทั้ง 10 ข้อ จะไม่ได้มีการระบุถึงวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจก็ตาม แต่ตามระเบียบฉบับดังกล่าวเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานีข้อที่ 25 ข้อที่ 26.3 และข้อที่ 28.2 มีการระบุถึงหลักเกณฑ์การดำเนินการโฆษณาและบริการธุรกิจของสถานี โดยความในหมวด 2 ข้อ 10 กำหนดถึงการดำเนินการโฆษณาและบริการธุรกิจของสถานีกำหนดให้ กบว.ทบ. เป็นผู้มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลด้วยแล้ว เห็นได้ว่าฝ่ายโจทก์โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 นอกจากจะเป็นผู้ดำเนินการหรือบริการภายใต้ข้อตกลงตามสัญญาและเงื่อนไข แล้ว ในการดำเนินการก็ต้องเป็นไปตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2536 ตลอดจนการควบคุมจัดการการตกลงกำหนดวันเวลาที่จะแพร่ภาพออกอากาศที่มีการกำหนดกันไว้เป็นการแน่นอนโดยคิดค่าบริการหรือค่าตอบแทนตามอัตราที่โจทก์กำหนดไว้ซึ่งถือได้ว่าโจทก์โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นผู้ค้ารับทำการงานดังกล่าวให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้รับบริการ โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าซึ่งต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 193/34 (1) ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีฐานะเป็นส่วนราชการ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ซึ่งเป็นหน่วยงานของโจทก์ให้บริการและแพร่ภาพออกอากาศเพียงเพื่อให้ความบันเทิงแก่ประชาชนมิใช่เป็นการดำเนินธุรกิจเป็นเอกเทศเพื่อประโยชน์ทางการค้าจึงฟังไม่ขึ้น ที่โจทก์อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2348/2552 ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โจทก์ ห้างหุ้นส่วนคิวมิคกับพวก จำเลยนั้น ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวไม่ตรงกันกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาด้วยว่าคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่ระบุแต่เพียงว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์เพราะฟ้องของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) เท่านั้นมิได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งนั้น เห็นว่า แม้คำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจะระบุแต่เพียงว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 193/34 (1) โดยไม่ได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งก็ถือได้ว่าเป็นการแก้อุทธรณ์ที่กล่าวอ้างถึงเหตุแห่งการปฏิเสธไว้แล้วโดยชอบ ไม่ทำให้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยแต่อย่างใด ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share