แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 5 บัญญัติว่า ไม้สักและไม้ยางทั่วไปในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใด เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้อื่นในป่าจะให้เป็นไม้ห่วงห้ามประเภทใดให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา เมื่อไม้ยางนาถูกกำหนดให้เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505 ไม้ยางนาจึงเป็นไม้อื่นตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7 ที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจร่วมกันแปรรูปไม้ยางนาโดยใช้เลื่อยเลื่อยออกเป็นแผ่น รวม ๙ แผ่น ปริมาตรเนื้อไม้ ๑.๕๒ ลูกบาศก์เมตร แล้วจำเลยร่วมกันมีไม้หวงห้ามดังกล่าวไว้ในความครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานและมิได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗,๔๘,๗๓,๗๔,๗๔ ทวิ , ๗๔ จัตวา (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๕,๑๗,๑๘ ;(ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๙,๒๘ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓,๙๑ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑๖ ข้อที่ ๔ และฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๒ ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ไม้ยางนาของกลางเป็นไม้หวงห้ามโดยพระราชกฤษฎีกาจึงเป็นไม้หวงห้ามประเภทอื่น พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗,๔๘,๗๓,๗๔,๗๔ ทวิ , ๗๔ จัตวา (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๕,๑๗,๑๘; (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๙,๒๘ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓,๙๑ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑๖ ข้อที่ ๔ และฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๒ ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา ๗๓ วรรคแรก ฐานแปรรูปไม้หวงห้าม จำคุกคนละ ๔ เดือน และปรับคนละ ๘๐๐ บาท ฐานมีไม้แปรรูปหวงห้าม จำคุกคนละ ๒ เดือน และปรับคนละ ๖๐๐ บาท รวมจำคุกคนละ ๖ เดือนและปรับคนละ ๑,๔๐๐ บาท ลดโทษคนละกึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกคนละ ๓ เดือน และปรับคนละ ๗๐๐ บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙,๓๐ ของกลางริบ
โจทก์อุทธรณ์ว่า ไม้ยางนาของกลางเป็นไม้ยางตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งต้องโทษตามมาตรา ๗๓ วรรค ๒ ศาลชั้นต้นลงโทษต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๕ บัญญัติว่า “ไม้สักและไม้ยางทั่วไปในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใด เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้อื่นในป่าจะให้เป็นไม้ห่วงห้ามประเภทใดให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา” และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๔ บัญชีที่ ๓ อันดับ ๑๐๖ กำหนดให้ไม้ยางนาเป็นไม้หวงห้าม ตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ ถ้าไม้ยางกับไม้ยางนาเป็นไม้อย่างเดียวกัน ก็หาจำเป็นต้องออกพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้เช่นนี้อีกไม้ ดังนั้น เมื่อไม้ยางนาที่โจทก์ฟ้อง ถูกกำหนดให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทก. โดยพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ไม้ยางนาจึงเป็นไม้อื่นตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๕
พิพากษายืน