คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เรือเจ้าทรัพย์ถูกคนร้ายลักไป หากเรือนั้นจะหลุดลอยจากคนร้ายมาได้อย่างไร หาเป็นข้อสารสำคัญไม่ เรือก็ยังคงเป็นทรัพย์มีเจ้าของที่หายไปอยู่
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 ร่วมกันรับของโจร
แต่ถ้าฟังได้ว่าจำเลยรับของโจรคนละที ศาลก็ลงโทษจำเลยแต่ละคนฐานรับของโจรได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยรับเอาเรือของกลางไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของร้ายที่ได้มาโดยการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ แต่ปรากฏในการพิจารณาว่าจำเลยรับเอาเรือของกลางไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของร้ายที่ได้มาโดยการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ทั้งจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ ดังนี้ ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในสารสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4/2510)

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๘ ถึงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๐๗ ซึ่งเป็นเวลากลางคืนตามกฎหมาย ได้มีคนร้ายบังอาจลักเรือชะล่า ๑ ลำ ราคา ๕๐๐ บาท พร้อมด้วยโซ่ ๑ เส้น กุญแจ ๑ ดอก ราคา ๓๐ บาทของนายเสมา จารุเศรณี ไปโดยทุจริต ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๐๗ พวกเจ้าทรัพย์พบเรือชะล่าที่ถูกจำเลยลักไปอยู่ที่จำเลยที่ ๑ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕, ๓๕๗ คืนเรือของกลาง และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาโซ่ กุญแจ ๓๐ บาทแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าซื้อเรือของกลางจากจำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๑๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๐๗ โดยไม่ทราบว่าเป็นเรือที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๐๗ เรือของกลางคว่ำลอดมาเหนือบ้านตามลำน้ำแม่ปิง จำเลยนำเอามาไว้ใต้ถุนบ้าน นำความแจ้งนายชมสารวัตรกำนัน วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๐๗ จำเลยที่ ๑ มาบอกว่าเป็นเรือของเขาจึงคืนให้จำเลยที่ ๑ ไปโดยไม่ได้ขาย
ศาลชั้นต้นฟังว่า เรือเจ้าทรัพย์หลุดลอยน้ำมา แม้จำเลยที่ ๑ จะซื้อหรือรับจากจำเลยที่ ๒ ก็ไม่ผิดฐานรับขอโจร เพราะไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ พิพากษายกฟ้อง เรือของกลางคืนเจ้าทรัพย์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในข้อที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองร่วมกันรับของโจร แต่ถ้าฟังได้ว่าจำเลยรับของโจรคนละที ศาลก็ลงโทษจำเลยแต่ละคนฐานรับของโจรได้ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนโจทก์อ้างว่าข้อต่อสู่ของจำเลยทั้งสองเป็นพิรุธ และต่างโยนความผิดให้กันและกัน แสดงว่าจำเลยทั้งสองเข้ามาพัวพันในเรือของกลางร่วมกัน การมีความผิดฐานรับของโจรอันได้มาจากการลักทรัพย์นั้น ก็เป็นการเถียงข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๙ ฎีกาโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ จึงไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ข้อวินิจฉัยต่อไปคงมีตามฎีกาโจทก์ประการสุดท้ายว่า การที่จำเลยที่ ๑ รับเรือไว้จากจำเลยที่ ๒ นั้นจะลงโทษจำเลยที่ ๑ ได้หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ฟังมาแต่การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์มิได้บ่งให้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ ๑ ได้รับไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดฐานใด ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นควรวินิจฉัยเสียเองว่า ตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมานั้น จำเลยที่ ๑ รับเรือของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดฐานยักยอก ปัญหามีว่าที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๑
รับเอาเรือของกลางไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของร้ายที่ได้มาโดยการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ แต่ปรากฏในการพิจารณาว่าจำเลยที่ ๑ รับเอาเรือของกลางไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของร้ายที่ได้มาโดยการกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ ศาลจะลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานรับของโจรได้หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่า เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย เพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาสอดคล้องต้องกัน แต่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙๒ วรรค ๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีต้องด้วยกฎหมายมาตราเดียวกันนี้ในวรรค ๒ ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ในศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสารสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้” ซึ่งจะพิจารณาต่อไปว่าเข้าข้อยกเว้นนี้หรือไม่ จริงอยู่ โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏตามสมควรว่า ทรัพย์ที่จำเลยที่ ๑ รับไว้ เป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดลักษณะใด เพื่อแสดงมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗
แต่ถ้าทางพิจารณาปรากฏว่าการกระทำความผิดไม่ตรงกับที่โจทก์บรรยายมา หาแต่ยังคงเป็นความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดในความผิด ๙ ลักษณะ ตามมาตรา ๓๕๗ นั้นแล้ว จะถือว่าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในสารสำคัญหาได้ไม่เพราะมาตรา ๓๕๗ ได้บัญญัติเป็นการแยกจำพวกความผิดไว้ต่างหากจากความผิดทั่วไปโดยใช้ถ้อยคำว่า “ฯลฯ ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะทรัพย์ ฯลฯ” เพื่อให้เห็นว่าทรัพย์ที่ได้รับไว้นั้น ผู้รับจะมีความผิดฐานรับของโจร ต่อเมื่อเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำผิดในจำพวกความผิดที่ระบุไว้เท่านั้น ถ้าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดอย่างอื่นนอกจากนี้ หามีความผิดฐานรับของโจรไม่ คดีนี้ จำเลยที่ ๑ ก็มิได้หลงข้อต่อสู้ เพราะจำเลยที่ ๑ ให้การว่าจำเลยซื้อเรือของกลางจากจำเลยที่ ๒ โดยไม่ทราบว่าเป็นเรือที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้ตามที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองคมคบกันรับของโจร แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ ๑ รับจากจำเลยที่ ๒ ไม่ใช่จากบุคคลอื่น ก็เป็นฟ้องที่ลงโทษจำเลยที่ ๑ ได้เช่นเดียวกับที่ได้ความว่าจำเลยแต่เพียงคนเดียวกระทำความผิด ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า คดีลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานรับของโจรตามมาตรา ๓๕๗
ได้ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ ให้ลงโทษจำคุก ๓ เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share