แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า “ผู้อื่น” ตามมาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้นหมายความถึงบุคคลอื่นนอกจากตัวลูกหนี้ จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ร่วม แล้วจำเลยที่ 1โอนที่ดินของจำเลยที่ 1ให้จำเลยที่ 3 ผู้มิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ร่วม ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3เป็นผู้อื่น ตามความหมายแห่งมาตรา 350 นั้นแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกหนี้ของนางหนุ่ยตามคำพิพากษาแล้วจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้ทำนิติกรรมยกที่ดินบ้านของตนให้จำเลยที่ ๓โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันที่จะมิให้นางหนุ่ย เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐, ๘๓
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ศาลอนุญาตให้นางหนุ่ยเข้าร่วมเป็นโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐ จำคุกคนละ ๔ เดือน ปรับคนละ๕๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ส่วนจำเลยที่ ๒พิพากษายกฟ้อง ผู้พิพากษานายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า จำเลยที่ ๓เป็นผู้รับโอนไม่น่าจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐ในฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ ๑ ผู้โอน ถ้าฟังว่าจำเลยที่ ๓ เป็นตัวการในการโอนร่วมกับจำเลยที่ ๑ ผู้โอน ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการโอนให้แก่ผู้อื่นเพราะเป็นการโอนให้ตนเอง
โจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดดังฟ้องพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๐ จำคุก ๔ เดือน ปรับ ๕๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ส่วนฎีกาของจำเลยที่ ๑ สั่งไม่รับ
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ ๒ ถึงแก่ความตาย คดีเฉพาะตัวจำเลยที่ ๒ เป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๙(๑) ศาลฎีกาให้จำหน่ายคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ ๒ จากสารบบความ
ข้อเท็จจริงฟังได้ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญากู้เงินนางหนุ่ย อินทศเพชร โจทก์ร่วม แล้วผิดสัญญาไม่ใช้คืนโจทก์ร่วมจึงฟ้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี ศาลจังหวัดปัตตานีบังคับให้จำเลยที่ ๑ ชำระต้นเงินกู้จำนวน ๑๗,๙๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมให้โจทก์ร่วม ต่อมาจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ซึ่งทราบดีว่าโจทก์ร่วมได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลจนศาลพิพากษาดังกล่าวได้ร่วมกันทำนิติกรรมยกที่ดินบ้าน ๑ แปลงตามฟ้องในส่วนของจำเลยที่ ๑ไปให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ร่วมผู้เป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติมาตรา ๓๕๐ นี้ ประสงค์จะลงโทษเฉพาะการโอนทรัพย์ให้แก่ “ผู้อื่น” ไม่ใช่โอนทรัพย์ให้แก่ “ตนเอง” ก็จริงอยู่แต่คำว่า “ผู้อื่น” นี้หมายความถึงบุคคลอื่นนอกจากตัวลูกหนี้ คดีนี้จำเลยที่ ๑เท่านั้นที่เป็นตัวลูกหนี้ จำเลยที่ ๓ หาใช่ลูกหนี้ของโจทก์ร่วมแต่ประการใดไม่จึงถือได้ว่าจำเลยที่ ๓ เป็น “ผู้อื่น” ตามความหมายแห่งมาตรา ๓๕๐ นั้นแล้วศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๓ ชอบแล้ว
พิพากษายืน