แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมโจทก์ จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันโดยจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระเป็นค่าซื้อที่ดินบางส่วน ต่อมา เมื่อโจทก์จำเลยต่างบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อกันแล้ว จำเลยก็ไม่มีหน้าที่ชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์อีก โจทก์ไม่อาจนำเช็คพิพาทมาฟ้องเรียกเงินจากจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนด ๑ แปลง เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๒๓ จำเลยกับพวกได้ร่วมกันซื้อที่ดินข้างต้นจากโจทก์ในราคา ๓,๓๐๐,๐๐๐ บาท โดยชำระค่ามัดจำจำนวน ๙๐๗,๕๐๐ บาท ด้วยเช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาถนนตากสิน กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๓ แต่เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระโจทก์ไม่สามารถรับเงินตามเช็คได้ เนื่องจากจำเลยมีคำสั่งให้ธนาคารระงับการจ่าย เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๔๑,๙๗๑.๙๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๙๔๙,๔๗๑.๙๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในต้นเงินจำนวน ๙๐๗,๕๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์เพื่อชำระค่าที่ดินบางส่วนล่วงหน้า มิใช่เป็นค่ามัดจำ จำเลยได้บอกล้างสัญญา และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่นกัน จึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิด โจทก์ทั้งสองคนหลอกลวงจำเลยให้ซื้อที่ดินตามฟ้องโดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินของโจทก์ถูกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแล้วปิดบังจำเลย สัญญาจึงเป็นโมฆียกรรม โจทก์ที่ ๒ มิได้เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๙๐๗,๕๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๑ สำหรับโจทก์ที่ ๒ นั้นให้ยกฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นในชั้นฎีกามีว่า จำเลยต้องรับผิดตามเช็คพิพาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันฟังได้ว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๑๑๙๖ แขวงแสมคำ (บางบอน) เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นเงิน ๓,๓๐๐,๐๐๐ บาท ในการนี้จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๓ ให้แก่โจทก์ ก่อนเช็คพิพาทถึงกำหนด จำเลยได้มีหนังสือบอกล้างสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน อ้างว่าโจทก์ทำกลฉ้อฉล และต่อมาได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๓ ถึงทนายความโจทก์ ปฏิเสธการชำระเงินตามเช็คโดยเหตุว่าที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายจะถูกเวนคืนจากทางราชการ โจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและเรียกร้องค่าเสียหายตามสัญญาดังกล่าวจากจำเลยเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทแล้ว ต่อมาโจทก์ได้ขายที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่ผู้อื่นไปในราคา ๓,๓๐๐,๐๐๐ บาท จากข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่า โจทก์จำเลยต่างได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อกันแล้ว ปรากฏตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๒๓ ข้อ ๒ มีข้อความว่า “ในวันทำสัญญานี้ ผู้จะซื้อได้ชำระเงินบางส่วนให้ผู้จะขายรับไว้แล้วเป็นจำนวน ๙๐๗,๕๐๐ บาท ฯลฯ สำหรับเงินค่าที่ดินที่ยังค้างอยู่อีก ๒,๓๙๒,๕๐๐ บาทฯลฯผู้จะซื้อให้สัญญาว่าจะผ่อนชำระให้ผู้จะขายเป็นงวด ฯลฯ” ข้อสัญญาซึ่งระบุไว้โดยชัดแจ้ง เห็นได้ว่าเงินจำนวน ๙๐๗,๕๐๐ บาท ตามเช็คที่ระบุไว้ในสัญญาข้างต้นเป็นค่าที่ดินส่วนหนึ่งที่จำเลยจะชำระให้แก่โจทก์เมื่อเช็คถึงกำหนด หาใช่เป็นค่ามัดจำตามฟ้องของโจทก์ไม่ เมื่อไม่ใช่ค่ามัดจำและโจทก์จำเลยต่างได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อกันในภายหลังแล้ว จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ชำระเงินตามเช็คซึ่งเป็นค่าที่ดินส่วนหนึ่งให้แก่โจทก์อีก ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดตามเช็คพร้อมดอกเบี้ย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง