แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เข้าถางที่รกร้างว่างเปล่าจนเตียน แล้วยกคันนาทำเป็นนาขึ้นย่อมได้สิทธิครอบครองแม้จะได้ทำเมื่อใช้พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดินฉบับที่ 6 แล้ว โดยมิได้ขอใบเหยียบย่ำ สิทธิครอบครองก็ไม่เสื่อมเสียไปเป็นแต่เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งให้ออกจากที่ดิน ถ้าขัดขืนก็มีโทษตามพระราชบัญญัติ
ที่ดินที่มีผู้ครอบครองอยู่แล้ว แม้จะครอบครองโดยไม่ได้ขอใบเหยียบย่ำตามพระราชบัญญัติผู้ใดจะขอใบเหยียบย่ำทับที่นั้นไม่ได้
ใบเหยียบย่ำออกทับที่ ที่ มีผู้ครอบครองอยู่แล้วศาลพิพากษาให้ทำลายเสียได้
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ๆ ได้สิทธิครอบครองมา 17 ปีแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2490 นายคล้าย พลฤทธิ์ จำเลยซึ่งเป็นกำนันมีความประสงค์จะเป็นเจ้าของที่รายนี้ จึงเชิดให้นายคล้ายสายสินธ์ จำเลยยื่นคำร้องขอจับจองที่พิพาททั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นของโจทก์ โจทก์ได้ทำประโยชน์อยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ก็โดยประสงค์ว่าเมื่อที่พิพาทตกเป็นของ นายคล้าย สายสินธ์ แล้วก็จะโอนสับเปลี่ยนมือกันได้ง่ายภายหลัง ครั้น พ.ศ. 2493 กรมการอำเภอได้ออกใบเหยียบย่ำที่พิพาทให้กับนายคล้าย สายสินธ์ ซึ่งเป็นการออกทับที่โจทก์จึงขอให้ศาลแสดงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ขอให้สั่งว่าใบเหยียบย่ำของนายคล้าย สายสินธ์ เป็นโมฆะ และขอให้ทำลายใบเหยียบย่ำนั้นเสีย
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่พิพาทไม่ได้เป็นของโจทก์ เดิมเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จำเลยที่ 1 จึงร้องขอเหยียบย่ำ เจ้าพนักงานได้ไปชันสูตรและประกาศโฆษณาแล้วไม่มีใครคัดค้าน จึงได้ออกใบเหยียบย่ำให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็เข้าทำประโยชน์ปกครองถือสิทธิเป็นเจ้าของมาโดยชอบด้วยกฎหมายจนบัดนี้ โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ขอเหยียบย่ำก็เข้าบุกรุกแผ้วถางทำพิธีเพื่อจะแย่งสิทธิของจำเลยโจทก์จึงยังหามีสิทธิอะไรที่จะฟ้องจำเลยได้ไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่เคยเกี่ยวข้องกับที่พิพาทและไม่เคยเชิดให้จำเลยที่ 1 ขอเหยียบย่ำเลย เป็นแต่เคยลงความเห็นว่าที่พิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่าควรอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เหยียบย่ำได้ จำเลยที่ 2 กระทำไปโดยสุจริตในฐานะเป็นกำนันผู้ปกครองท้องที่เท่านั้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ฟังว่าที่พิพาทนี้โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์มา 14-15 ปีแล้ว เมื่อทางอำเภอมารังวัดให้จำเลยผู้ใหญ่บ้าน กำนันก็มีรายงานว่า โจทก์ครอบครองอยู่ก่อน จึงเป็นการบ่งชัดว่าใบเหยียบย่ำของจำเลยออกทับที่โจทก์ แต่จะฟังว่าจำเลยที่ 2 ได้เชิดจำเลยที่ 1 ให้จับจองแทนตนยังไม่ได้ จึงพิพากษาว่า ที่พิพาทในเส้นหมายสีแดงของแผนที่วิวาทเป็นของโจทก์ ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 เข้าเกี่ยวข้อง ให้เพิกถอนทำลายใบเหยียบย่ำหมาย จ.ล.1 ที่กรมการอำเภอห้วยยอดออกให้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 นั้นเสีย ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าธรรมเนียมกับค่าทนาย 100 บาทแทนโจทก์ให้ยกฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ใช้ค่าธรรมเนียมกับค่าทนาย 50 บาทแทนจำเลยที่ 2 ด้วย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาได้ประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว ได้ความตามทางพิจารณาว่าเมื่อ พ.ศ. 2493 นายคล้าย สายสินธ์ จำเลยได้ร้องขอเหยียบย่ำจับจองที่รายนี้ต่ออำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง โจทก์ได้ไปร้องคัดค้านว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ครอบครองอยู่ ทางอำเภอสั่งให้โจทก์นำหลักฐานการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่นี้ไปแสดงต่อเจ้าพนักงาน โจทก์ได้นำกำนันผู้ใหญ่บ้านไปตรวจที่พิพาทแล้ว กำนันผู้ใหญ่บ้านได้ทำรายงานมายังอำเภอว่า โจทก์ครอบครองที่พิพาทมาก่อน แต่ทางอำเภอเห็นว่าหลักฐานโจทก์ไม่พอ จึงได้ออกใบเหยียบย่ำให้จำเลยไปเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2493
ข้อที่ว่าโจทก์ครอบครองอยู่ในที่พิพาทมาก่อนนั้น ฟังเป็นความจริงได้ เพราะกำนันผู้ใหญ่บ้านมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันเช่นนั้น นอกจากนั้นพนักงานป่าไม้อำเภอพยานจำเลย ซึ่งเป็นผู้ได้ไปตรวจที่พิพาทพร้อมด้วยพนักงานที่ดินอำเภอก็เบิกความว่า เห็นที่พิพาทเป็นที่เตียนแล้ว และมีหัวคันนาซึ่งคะเนว่าคงทำไว้ประมาณ 3 ปีมาแล้วอยู่ด้วย พนักงานที่ดินอำเภอก็เบิกความว่า คนทั่ว ๆ ไปได้บอกว่า โจทก์ครอบครองที่พิพาทมาก่อน แต่ยังไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้เข้าไปครอบครองที่พิพาทได้แผ้วถางจนเตียนแล้ว และยกคันนาทำเป็นนาอยู่ก่อนแล้วเช่นนี้ โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิครอบครองในที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 แม้ว่าโจทก์จะเข้าครอบครองภายหลังใช้พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดินฉบับที่ 6 และโจทก์มิได้ร้องขอเหยียบย่ำต่อเจ้าพนักงานก็ดี ก็หาทำให้สิทธิครอบครองของโจทก์ที่ได้มาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เสียไปไม่เพราะพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ฉบับที่ 6 มิได้บัญญัติล้างสิทธิครอบครองที่ได้มาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อย่างใด เป็นแต่ว่าให้เจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะสั่งให้โจทก์ออกไปจากที่พิพาทเสียได้และถ้าโจทก์ขัดขืนก็ให้มีโทษเท่านั้น ซึ่งในกรณีนี้เจ้าพนักงานก็มิได้สั่งให้โจทก์ออกไปจากที่ดินตามอำนาจที่มีอยู่นั้นไม่ การที่จำเลยร้องขอเหยียบย่ำตามทางการและเจ้าพนักงานได้ออกใบเหยียบย่ำให้จำเลยแล้วนั้น ไม่ทำให้จำเลยมีอำนาจดีกว่าโจทก์ เพราะการเหยียบย่ำจับจองจะต้องขอในที่รกร้างว่างเปล่า จะขอทับที่ ๆ มีคนครอบครองอยู่แล้วไม่ได้ คดีทำนองนี้ศาลฎีกาเคยพิพากษาเป็นบรรทัดฐานมาแล้ว คือ ฎีกาที่ 1045/2485 ระหว่าง นายช้าง บุตตาแสน โจทก์นายดาบเพี้ยนพงส์ประไพ จำเลย ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ทำลายใบเหยียบย่ำเสียนั้น เป็นการถูกต้องชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
จึงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 เสียค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์อีก 75 บาท