แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติข้อยกเว้นให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ เมื่อผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจ แล้วแต่กรณีซึ่งการขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้นั้นมาตรา 224 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าวเพื่อพิจารณารับรอง ดังนั้น หากโจทก์ประสงค์จะขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงโจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์โดยไม่ได้ยื่นคำร้องเพื่อให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนความแล้วเห็นว่าอุทธรณ์นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เสียได้ตามมาตรา 242 (1) ทั้งการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์มาโดยไม่ชอบนั้น มิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามมาตรา 243 (1) อันจะเป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อให้มีคำสั่งใหม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 8 ตำบลบางพรม อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร และโฉนดเลขที่ 58172 ตำบลทวีวัฒนา อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่และบริวารย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 8 ตำบลบางพรม อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร และโฉนดเลขที่ 58172 ตำบลทวีวัฒนา อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555) ไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่และบริวารจะออกจากที่ดินดังกล่าว กับให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะค่าเสียหาย
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่และบริวารจะออกจากที่ดินพิพาท โจทก์อุทธรณ์ประเด็นเดียวว่า ค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้นั้นน้อยเกินไป โดยจำเลยทั้งสี่ไม่อุทธรณ์ คดีจึงไม่มีประเด็นการได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองปรปักษ์ในชั้นอุทธรณ์ คงมีปัญหาเฉพาะค่าเสียหายอย่างเดียว ซึ่งเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลชั้นต้นและเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ทั้งค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าเสียหายนับแต่วันฟ้อง กรณีจึงเป็นค่าเสียหายในอนาคตอันจะนำมาใช้คำนวณเป็นทุนทรัพย์ด้วยไม่ได้ ต้องถือว่าจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้โจทก์ ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของโจทก์ที่ว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายหลังวันฟ้องเพิ่มขึ้นจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นเดือนละ 135,000 บาท ซึ่งถือเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ถูกต้องแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีในส่วนนี้ไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ชอบหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์โดยมิได้ส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อให้แก้ไขข้อบกพร่องที่สั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์แล้วมีคำสั่งใหม่ ทำให้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง หรือขออนุญาตอุทธรณ์ต่ออธิบดีผู้พิพากษาชั้นต้นได้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ในการยื่นอุทธรณ์คดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติข้อยกเว้นให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้เมื่อผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจแล้วแต่กรณี ซึ่งการขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้นั้น มาตรา 224 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าวเพื่อพิจารณารับรอง ดังนั้น หากโจทก์ประสงค์จะขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงโจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์โดยไม่ได้ยื่นคำร้องเพื่อให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนความแล้วเห็นว่าอุทธรณ์นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เสียได้ตามมาตรา 242 (1) ทั้งการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์มาโดยไม่ชอบนั้น มิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามมาตรา 243 (1) อันจะเป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อให้มีคำสั่งใหม่ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ