แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตัวความถอนทนายความได้ เป็นการบอกเลิกสัญญาจ้างว่าความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 605 ทนายความเรียกค่าจ้างตามผลงานที่ได้ทำไปตาม มาตรา 391 อายุความ 2 ปี ตาม มาตรา 165(15) นับตั้งแต่วันถอนทนายความ
ย่อยาว
โจทก์เป็นทนายความว่าต่างจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีเดิม ค่าจ้างตามสัญญา12,000 บาท กำหนดจ่ายครึ่งหนึ่งใน 1 เดือน ที่เหลือไม่ได้กำหนดว่าจ่ายเมื่อใดศาลชั้นต้นเห็นว่ากำหนดจ่ายค่าจ้างควรเป็นเวลาเดียวกัน จึงขาดอายุความ2 ปี พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าค่าจ้างว่าความครึ่งจำนวนหลังควรจ่ายเมื่อคดีถึงที่สุดตามที่โจทก์อ้างและจำเลยมิได้ต่อสู้ในข้อนี้ จึงไม่ขาดอายุความ พิพากษาแก้ ให้จำเลยใช้เงิน 6,000 บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะค่าจ้างครึ่งจำนวนหลัง ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนเดิมว่า จำเลยในคดีนี้ได้แต่งตั้งให้โจทก์ในคดีนี้เป็นทนายในคดีเดิม ซึ่งจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องนายสอด พูลสวัสดิ์กับพวกเป็นจำเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2517 จำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์คดีเดิมก็ยื่นคำแถลงในคดีเดิมว่า ที่โจทก์แต่งตั้งนายวัฒนา เงินดีเป็นทนายว่าต่างนั้น บัดนี้ปรากฏว่านายวัฒนา เงินดี มีความคิดเห็นไม่ตรงกันกับโจทก์ และไม่อาจทำความตกลงกันได้ โจทก์จึงขอถอนนายวัฒนา เงินดีออกจากการเป็นทนายของโจทก์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตในวันเดียวกันนั้น หลังจากนั้นนายวัฒนา เงินดี ก็ไม่ได้ว่าความให้โจทก์อีกเลย ศาลฎีกาเห็นว่า คำแถลงขอถอนทนายดังกล่าว ย่อมมีผลเป็นการบอกเลิกสัญญาจ้างว่าความ ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะบอกเลิกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 605 เมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาย่อมมีสิทธิที่จะกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยเฉพาะก็คือจำเลยต้องใช้ค่าจ้างตามควรค่าแห่งการงานของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 และสิทธิในการเรียกร้องค่าจ้างของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันที่จำเลยบอกเลิกสัญญา เพราะเมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้วก็ไม่มีเหตุผลที่โจทก์จะรอไว้เรียกร้องเมื่อคดีถึงที่สุดดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องจำเลยแถลงขอถอนโจทก์ออกจากการเป็นทนายในคดีเดิมเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์2517 นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โจทก์ไม่ได้ว่าความให้จำเลยอีกเลย แสดงว่าโจทก์รู้แล้วว่าจำเลยขอถอนโจทก์ออกจากการเป็นทนาย อายุความจึงต้องเริ่มนับแต่วันนั้น โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างครึ่งจำนวนหลังเมื่อเกินสองปี คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(15)”
พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น