คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1427/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ศาลจะต้องพิจารณาว่ามีเหตุเพียงพอให้เลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ เมื่อฟังได้ว่าโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่ ละเลยไม่ตรวจสอบการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา จำเลยที่ 1 จึงเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุผลเพียงพอ ลำพังแต่ไม่มีการสอบสวนก่อนไม่ทำให้การเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน ๒๒,๖๕๔,๔๘๕.๖๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ขอให้จำเลยที่ ๑ รับโจทก์กลับเข้าทำงานในสภาพการจ้างเช่นเดิม
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ในขณะที่จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ยังไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยเพิ่มขึ้นอีก ๓ เดือน โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้อง จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มิได้เป็นนายจ้างของโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๓ ไม่ใช่นายจ้างโจทก์ โจทก์ไม่ได้ข่มขู่จำเลยที่ ๓ โจทก์เป็นหัวหน้าส่วนงานคดี มีหน้าที่ดูแลควบคุมทนายความในสำนักงาน โจทก์เป็นผู้บังคับบัญชานายทัพพสาร ปานศรี ทนายความประจำแผนกกฎหมายของจำเลยที่ ๑ โจทก์มีหน้าที่จ่ายสำนวนให้แก่นายทัพพสารและตรวจสำนวนที่มอบหมายโจทก์ละเลยไม่ตรวจสอบการดำเนินการในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๗๐๗/๒๕๔๑ ที่นายทัพพสารยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้อันเป็นความบกพร่องต่อหน้าที่ จำเลยที่ ๑ จัดส่งระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้แก่อธิบดีกรมแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมแรงงานมอบหมายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๖๘, ๖๙ เพียงฉบับเดียวคือเอกสารหมาย ล.๑ (จ. ๑๘) จึงต้องฟังว่าระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๑ มีเพียงเอกสารหมาย ล.๑ (จ. ๑๘) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลย ๑ เลิกจ้างโจทก์ เมื่อเอกสารหมาย ล.๑ (จ. ๑๘) ไม่ได้กำหนดเรื่องการสอบสวนไว้และความผิดของโจทก์เป็นเรื่องที่ปรากฏชัดแจ้ง การลงโทษโจทก์ (เลิกจ้างโดยไม่มีการสอบสวน) จึงไม่ใช่การปฏิบัติผิดขั้นตอนตามเอกสารหมาย ล.๑ (จ. ๑๘) จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยแล้ว การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ โดยศาลจะต้องพิจารณาว่ามีเหตุเพียงพอให้เลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยแล้วว่าโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่ ละเลยไม่ตรวจสอบการทำงานของนายทัพพสาร ปานศรี ผู้ใต้บังคับบัญชาในคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๗๐๗/๒๕๔๑ ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จำเลยที่ ๑ จึงเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุผลเพียงพอ โดยมิพักต้องคำนึงว่าจำเลยที่ ๑ ได้ตั้งกรรมการสอบสวนความผิดโจทก์ก่อนหรือไม่ ลำพังแต่ไม่มีการสอบสวนก่อนไม่ทำให้การเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ดังนั้นไม่ว่าศาลแรงงานกลางจะนำระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ เอกสารหมาย ล.๑ (จ.๑๘) หรือ ล.๒ มาวินิจฉัยเกี่ยวกับการสอบสวนความผิดของโจทก์ก็ไม่ทำให้ผลของคดีตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไว้เปลี่ยนแปลงไปอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์

นางสาวสุจิตรา พัฒนภักดี ผู้ช่วยฯ
นางสาวสุดรัก สุขสว่าง ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายไมตรี ศรีอรุณ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ

Share