แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การฟ้องโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ที่ให้อำนาจแก่ผู้ถือหุ้นฟ้องกรรมการผู้ทำให้บริษัทเสียหาย ซึ่งโดยปกติบริษัทย่อมเป็นผู้ฟ้องเรียกให้กรรมการผู้นั้นชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท ส่วนผู้ถือหุ้นจะเป็นผู้ฟ้องตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ต้องฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทเฉพาะกรณีที่บริษัทไม่ฟ้องและเป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมขายสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและอาคารพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4เป็นโมฆะเช่นนี้ หาใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกไม่ได้เป็นกรรมการบริษัทโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเช่นเดียวกัน อำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลย จะไม่ให้การต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเซเว่นซีส์ แฟชั่นซิสเต็มส์ (ไทย) จำกัด โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันจัดตั้งบริษัท โดยจำเลยที่ 1 จัดหาที่ดินที่ตั้งบริษัทได้ที่โครงการหมู่บ้านสินเก้าถนนศรีนครินทร์ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร โจทก์ส่งเงินให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 219931 และ219932 อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร กับบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เรียลเอสเตท จำกัด เนื้อที่รวม 1 ไร่ 14 ตารางวา และสัญญาจ้างบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ คอนสตรั๊คชั่น จำกัด ปลูกสร้างอาคารโดยจำเลยที่ 1 ลงนามแทนบริษัท ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนตั้งบริษัทเซเว่นซีส์ แฟชั่น ซิสเต็มส์ (ไทย) จำกัด และยื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคารตึก 2 ชั้นเลขที่ 2/3 หมู่ 2 หมู่บ้านสินเก้า แขวงหนองบอน เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร โจทก์ส่งเงินให้จำเลยที่ 1 ชำระราคาบ้านและที่ดิน ประมาณเดือนธันวาคม 2532 จำเลยที่ 1 ได้นำสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินไปขายหรือสละสิทธิให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยมิชอบ เป็นเหตุให้บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เรียลเอสเตท จำกัด จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และได้ขายอาคารเลขที่ 2/3 ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยอ้างว่า คณะกรรมการบริษัทได้มีมติให้ขายได้ทั้ง ๆ ที่โจทก์และกรรมการอื่นไม่เคยทราบ ขอให้แสดงว่านิติกรรมขายสิทธิหรือสละสิทธิการซื้อขายที่ดินและนิติกรรมสัญญาขายอาคารระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 219931 และ 219932 ระหว่างบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ เรียลเอสเตท จำกัด กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวกลับมาเป็นของบริษัท เซเว่นซีส์ แฟชั่น ซิสเต็มส์ (ไทย) จำกัด ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4หากไม่สามารถบังคับตามคำขอดังกล่าวได้ให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้เงิน 60,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจโจทก์เป็นลายมือชื่อปลอมฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์เคยฟ้องบริษัทเซเว่นซีส์ แฟชั่น ซิสเต็มส์ (ไทย) จำกัด กับจำเลยที่ 1 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 15282/2533 เรียกเงินที่โจทก์กับผู้ลงทุนชาวญี่ปุ่นอีก 2 คน นำมาลงทุนในบริษัทคืน คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนจำเลยที่ 1 ร่วมกับโจทก์ตั้งบริษัทเซเว่นซีส์ แฟชั่น ซิสเต็มส์ (ไทย) จำกัด แต่จำเลยที่ 1 จองซื้อที่ดินพิพาทในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 1 ยอมให้ใช้ชื่อบริษัทเป็นเจ้าของอาคารเพื่อลดหย่อนภาษีโดยจำเลยที่ 1 นำเงินของโจทก์กับผู้ถือหุ้นชาวญี่ปุ่นมาจ่ายเป็นค่าก่อสร้างอาคารด้วยจำเลยที่ 1 ขายอาคารพิพาทให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะเป็นตัวแทนบริษัทโดยได้รับมอบหมายตามมติที่ประชุมกรรมการบริษัทซึ่งขายโดยสุจริตในราคาท้องตลาด โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอเพิกถอนมติภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลงมติ ราคาที่ดินที่โจทก์อ้างสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า หนังสือมอบอำนาจไม่ได้ระบุให้ฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์และหนังสือมอบอำนาจทำขึ้นภายหลังโจทก์ฟ้องคดีแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ เรียลเอสเตท จำกัด ได้จดทะเบียนการโอนโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผยไม่เคยมีผู้ใดโต้แย้ง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่เคยติดต่อกับบริษัทเซเว่นซีส์ แฟชั่น ซิสเต็มส์ (ไทย) จำกัด และจำเลยที่ 1 โจทก์กล่าวอ้างราคาที่ดินเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องบริษัทเซเว่นส์ แฟชั่น ซิสเต็มส์ (ไทย) จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 คดีนี้เป็น จำเลยที่ 2 ต่อศาลชั้นต้นตามคดีหมายเลขดำที่ 15282/2533 คดีหมายเลขแดงที่ 18365/2534 เรียกเงินทดรองค่าใช้จ่ายซื้อที่ดินพิพาทและอาคารที่ทำการของบริษัทคืนแก่โจทก์ ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ต่อมาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,628,376.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
พิเคราะห์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทเซเว่นซีส์ แฟชั่น ซิสเต็มส์ (ไทย)จำกัด โจทก์และจำเลยที่ 1 ร่วมกันตั้งบริษัทเซเว่นซีส์ แฟชั่น ซิสเต็มส์ (ไทย) จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2530 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 219931 และ 219932 ตำบลหนองบอน อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร จากบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เรียลเอสเตท จำกัด และทำสัญญาว่าจ้างบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ คอนสตรั๊คชั่น จำกัด ปลูกสร้างอาคารเลขที่ 2/3 ในที่ดินแปลงดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 ลงนามแทนบริษัท ต่อมาจำเลยที่ 1นำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและอาคารไปขายหรือสละสิทธิให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยมิชอบ ทำให้บริษัทเสียหายขอให้พิพากษาว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะและให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โอนที่ดินและอาคารคืนแก่บริษัท เซเว่นซีส์ แฟชั่น ซิสเต็มส์ (ไทย) จำกัด เห็นว่า โจทก์ฟ้องโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่าถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ๆ จะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่ากล่าวก็ได้ ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจแก่ผู้ถือหุ้นฟ้องกรรมการบริษัทผู้ทำให้บริษัทเสียหาย ซึ่งโดยปกติบริษัทย่อมเป็นผู้ฟ้องเรียกให้กรรมการผู้นั้นชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท ส่วนผู้ถือหุ้นจะเป็นผู้ฟ้องตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ต้องฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทเฉพาะกรณีที่บริษัทไม่ฟ้องและเป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมขายสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและอาคารพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นโมฆะเช่นนี้ หาใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 ไม่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกไม่ได้เป็นกรรมการบริษัท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตามบทบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกัน เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ให้การต่อสู้ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสี่ที่ว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 18365/2534 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น