คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1424/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยได้ทำสัญญาประกันตัว ป. กับพวก ผู้ต้องหาไปจากการควบคุมของร้อยตำรวจโท ช.ในฐานะที่ร้อยตำรวจโทช. เป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงมิได้ทำในฐานะส่วนตัว เมื่อจำเลยผิดสัญญาประกัน จำเลยก็ต้องรับผิดชอบต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยได้แม้พันตำรวจโท ธ. มิได้ทำการสอบสวนหรือร่วมทำการสอบสวนคดีที่ ป. กับพวกตกเป็นผู้ต้องหา ตลอดจนมิใช่เป็นคู่สัญญาประกันแต่พันตำรวจโท ธ. ในฐานะพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงขณะยื่นคำฟ้อง ก็มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยได้ สัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ซึ่งจะต้องบังคับตามมาตรา 104 และมาตรา 118แห่ง ป.รัษฎากร เพราะฉะนั้นสัญญาประกันดังกล่าวแม้ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2525 เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมนายปอ รามพิชัย กับพวก รวม 7 คน ในข้อหาผิดพระราชบัญญัติการพนันส่งมอบให้โจทก์ดำเนินคดี วันเดียวกันจำเลยได้ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนไปโดยสัญญาว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนตามกำหนดของโจทก์ ถ้าผิดสัญญาจำเลยยอมใช้เงินแก่โจทก์คนละ 4,000 บาท โจทก์จึงได้มอบตัวผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนให้จำเลย ต่อมาโจทก์แจ้งกำหนดให้จำเลยส่งตัวผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนต่อโจทก์ จำเลยทราบกำหนดนัดแล้วไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนมาส่งได้ เป็นเหตุให้โจทก์และทางราชการเสียหายขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 28,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนตามฟ้อง โจทก์มิใช่คู่สัญญาไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากเงินที่ฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 28,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2525 เจ้าพนักงานตำรวจได้จับผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติการพนันส่งมอบให้โจทก์ดำเนินคดี วันเดียวกันจำเลยได้ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนไปจากโจทก์ โดยสัญญาว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนดนัดของโจทก์ ถ้าผิดสัญญาจำเลยยอมใช้เงินให้คนละ 4,000 บาทโดยร้อยตำรวจโทชำนาญ วรรลยางกูร พนักงานสอบสวนลงชื่อในสัญญาประกันในฐานะผู้รับสัญญาปรากฏตามสำเนาคำร้องขอประกันและบันทึกเสนอสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.8 จำเลยได้มอบโฉนดที่ดินแปลงหนึ่งในกรุงเทพมหานครให้โจทก์ไว้เป็นประกันปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.9 ต่อมาจำเลยไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนให้โจทก์ตามกำหนดนัดอ้างว่าผู้ต้องหาหลบหนี จำเลยจึงผิดสัญญาจะต้องชำระเงินค่าปรับให้โจทก์เป็นเงิน28,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า พันตำรวจโทธานี สมบูรณ์ทรัพย์ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.7ตลอดจนไม่มีฐานะเป็นพนักงานสอบสวนหรือหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีที่นายปอ รามพิชัย กับพวกรวม 7 คน ตกเป็นผู้ต้องหา และยังมิได้มีหน้าที่ทำการสอบสวน มิได้ทำการสอบสวนหรือร่วมทำการสอบสวนหรือสั่งคดีในระหว่างที่มีการสอบสวน พันตำรวจโทธานีจึงมิได้เป็นพนักงานสอบสวน หรือหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(6) และไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนั้น เห็นว่า จำเลยได้ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไปจากความควบคุมของร้อยตำรวจโทชำนาญวรรลยางกูร ในฐานะที่ร้อยตำรวจโทชำนาญเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 112 มิได้ทำในฐานะส่วนตัวเมื่อจำเลยผิดสัญญาประกัน จำเลยก็ต้องรับผิดชอบต่อพนักงานสอบสวนพนักงานสอบสวนมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยได้ ได้ความว่าพันตำรวจโทธานีเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ แม้พันตำรวจโทธานีมิได้ทำการสอบสวนหรือร่วมทำการสอบสวนคดีที่นายปอ รามพิชัย กับพวกตกเป็นผู้ต้องหาตลอดจนมิใช่เป็นคู่สัญญาประกัน แต่พันตำรวจโทธานีในฐานะพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงขณะยื่นคำฟ้อง ก็มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาประกันตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.7 เป็นสัญญาค้ำประกันที่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์และไม่ได้รับการยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 121 โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาประกันดังกล่าวหาได้ไม่นั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกประเด็นข้อนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ เห็นว่า สัญญาประกันตามฟ้องโจทก์ไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ซึ่งจะต้องบังคับตามมาตรา 104 และมาตรา 118 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะฉะนั้นสัญญาประกันดังกล่าวแม้ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้…”
พิพากษายืน.

Share