แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความในกรณีคู่ความมรณะตามมาตรา 42 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ต้องเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมรณะในระหว่างที่คดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลนั้นเอง เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องถึงแก่กรรมระหว่างที่คดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลอุทธรณ์โดยไม่มีผู้อยู่ในฐานะที่จะรับมรดกความแทนและไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขอให้หมายเรียกผู้ใดเข้ามาในคดีจนล่วงเลยกำหนดเวลา 1 ปี ย่อมเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ซึ่งคดีดังกล่าวค้างพิจารณาอยู่ที่จะสั่งจำหน่ายคดี คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนผู้มรณะไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา แต่เป็นคำสั่งใด ๆ ที่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจชี้ขาดได้ตามอำนาจที่มีอยู่และคำสั่งดังกล่าวอยู่ในบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดซึ่งต้องยื่นฎีกาภายในกำหนด 1เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งให้คู่ความฟัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223,229 ประกอบด้วยมาตรา 247
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและทายาทของนายฉ่ำ คงอ่อน และจำเลยที่ 3 ในฐานะส่วนตัวและผู้จัดการมรดกของนายฉ่ำ คงอ่อน ให้ชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยทั้งสามได้ทำไว้กับโจทก์ ในระหว่างคดีจำเลยทั้งสามได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล ยอมใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสามไม่ชำระ โจทก์จึงได้นำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 329 ตำบลเกาะเกร็ด (เกาะศาลากุน) อำเภอปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี ของนายฉ่ำ คงอ่อน ออกขายทอดตลาด
ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์และแก้ไขคำร้องขัดทรัพย์ว่าผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายฉ่ำ คงอ่อน โดยคำสั่งศาล และเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองทรัพย์มรดกของนายฉ่ำ คงอ่อน ที่ดินโฉนดเลขที่ 329 ที่โจทก์นำยึดมาขายทอดตลาดนั้น ผู้ร้องได้ครอบครองปรปักษ์ ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย นอกจากนี้ ศาลจังหวัดนนทบุรีได้พิพากษาว่าพินัยกรรมที่ตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของนายฉ่ำ คงอ่อน เป็นพินัยกรรมปลอม จำเลยที่ 3 จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนายฉ่ำ คงอ่อน และไม่มีอำนาจที่จะทำสัญญาประนีประนอมกับโจทก์ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลบังคับจำเลยทั้งสามโจทก์จึงไม่มีอำนาจยึดที่ดินโฉนดที่ 329 มาขายทอดตลาด ขอให้ถอนการยึดที่ดินดังกล่าว
โจทก์ให้การและแก้ไขคำให้การว่า คำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ที่ดินโฉนดเลขที่ 329 ที่โจทก์นำยึดคดีนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายฉ่ำ คงอ่อน เมื่อนายฉ่ำ คงอ่อนถึงแก่กรรม ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นมรดกแก่ทายาท ผู้ร้องไม่เคยครอบครองที่ดินด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ หนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยทั้งสามทำไว้ต่อโจทก์เป็นสัญญาที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ขอให้ยกคำร้องขัดทรัพย์
จำเลยทั้งสามให้การว่า หนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ ผู้ร้องไม่ได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 329 จนได้กรรมสิทธิ์ ขอให้ยกคำร้องขัดทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่ผู้ร้องร้องขัดทรัพย์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายฉ่ำ คงอ่อน นั้น ตามกฎหมายผู้ร้องจะร้องไม่ได้เพราะที่ดินพิพาทเป็นของนายฉ่ำอยู่แล้ว แต่ข้อความต่อมาที่ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว จึงไม่ชัดว่าผู้ร้องได้ร้องในฐานะส่วนตัวหรือผู้จัดการมรดกของนายฉ่ำ คงอ่อน ที่เป็นผู้ครอบครองปรปักษ์คำร้องขัดทรัพย์จึงเป็นคำร้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีคำสั่งยกคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ นางสาวเบ็ญจา สนใจแท้ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 17 สิงหาคม 2533 ว่า นางจันทร์ผู้ร้องได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2533 นางสาวเบ็ญจาเป็นทายาทของนางจันทร์ จึงขอเข้าสวมสิทธิของนางจันทร์ขอศาลอุทธรณ์ได้สั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความแทนนางจันทร์ผู้ร้องต่อไปด้วย
จำเลยทั้งสามยื่นคำคัดค้านใจความสำคัญว่า นางจันทร์ผู้ร้องยื่นคำร้องในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนายฉ่ำ คงอ่อน เป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่เป็นมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599,1600 ไม่อาจตกทอดอันผู้ร้องจะขอเข้ารับมรดกความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ได้ ทั้งต่อมาในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยทั้งสามได้ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ไม่ติดใจบังคับคดีและถอนการบังคับคดีต่อศาล ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตแล้วจึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาคดีต่อไป นอกจากนี้ยังปรากฏว่าศาลฎีกาได้พิพากษาถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว สิทธิในการร้องขัดทรัพย์ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงสิ้นสุดลง
โจทก์ไม่คัดค้าน
ในวันนัดไต่สวนคำร้องของนางสาวเบ็ญจา สนใจแท้ ทนายโจทก์แถลงว่าที่ดินพิพาทที่โจทก์ขอให้ยึดนั้น ฝ่ายโจทก์ได้ถอนการยึดแล้วตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2533 ทนายนางสาวเบ็ญจาแถลงว่าศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2529 โดยได้ถอนนางจันทร์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายฉ่ำ คงอ่อน ทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 แถลงรับว่านางสาวเบ็ญจา สนใจแท้ เป็นบุตรนางจันทร์ ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่มาศาล แต่ตามคำคัดค้านของจำเลยที่ 1 ไม่ได้คัดค้านว่านางสาวเบ็ญจาไม่ได้เป็นบุตรนางจันทร์ศาลชั้นต้นเห็นว่า เมื่อที่ดินพิพาทที่มีการร้องขัดทรัพย์ถูกถอนการยึดไปแล้วประกอบกับตามคำร้องขัดทรัพย์ คำแถลงของคู่ความในวันนัดไต่สวนคำร้องของนางสาวเบ็ญจา สนใจแท้ และคำแถลงคัดค้านของจำเลยทั้งสามเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ในเรื่องนางสาวเบ็ญจา สนใจแท้ ขอเข้ารับมรดกความแทนที่นางจันทร์ผู้มรณะได้จึงให้งดการไต่สวน รีบส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์สั่งต่อไป
ต่อมาศาลอุทธรณ์ไม่มีคำสั่งว่า “คดีนี้นางจันทร์ สนใจแท้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายฉ่ำ คงอ่อนเจ้ามรดกซึ่งการเป็นผู้จัดการมรดกนั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัวของนางจันทร์ สนใจแท้ เมื่อนางจันทร์ สนใจแท้ ถึงแก่กรรมแล้วการเป็นผู้จัดการมรดกย่อมระงับไปด้วย นางสาวเบ็ญจา สนใจแท้แม้จะเป็นบุตรและทายาทนางจันทร์ สนใจแท้ ก็จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนนางจันทร์ สนใจแท้ ผู้มรณะไม่ได้ เว้นแต่ผู้ร้อง (นางสาวเบ็ญจา) จะได้เป็นผู้จัดการมรดกของนายฉ่ำ คงอ่อน เจ้ามรดกก่อนจึงให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ” โดยศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2534
ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน 2534 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาว่าเมื่อนางจันทร์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายฉ่ำ คงอ่อนผู้ร้องถึงแก่กรรมไม่มีผู้อยู่ในฐานะที่จะรับมรดกความแทน นางจันทร์ผู้ร้องยื่นคำขอเข้ามาในคดีและไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดขอให้เรียกบุคคลที่อยู่ในฐานะที่จะรับมรดกความได้เข้ามาในคดี จนล่วงพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่ผู้ร้องถึงแก่กรรม จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2534
นางสาวเบ็ญจา สนใจแท้ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่นางสาวเบ็ญจา สนใจแท้ ฎีกาประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำหน่ายคดีเพราะไม่มีผู้อยู่ในฐานะที่จะรับมรดกความแทนผู้มรณะ และไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขอให้หมายเรียกผู้ใดเข้ามาในคดีจนล่วงเลยกำหนดเวลา 1 ปีนับแต่ (นางจันทร์) ผู้ร้องถึงแก่กรรมนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจที่จะสั่งจำหน่ายคดี ต้องส่งสำนวนไปให้ศาลฎีกาสั่ง เพราะเป็นคำสั่งผิดระเบียบ ขัดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 นั้น เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความตามมาตรา 42 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น จะต้องเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมรณะในระหว่างที่คดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลนั้นเอง คดีนี้ปรากฏว่านางจันทร์ สนใจแท้ ผู้ร้องถึงแก่กรรม ระหว่างที่คดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลอุทธรณ์โดยไม่มีผู้อยู่ในฐานะที่จะรับมรดกความแทนและไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขอให้หมายเรียกผู้ใดเข้ามาในคดีจนล่วงเลยกำหนดเวลา1 ปี เช่นนี้ ย่อมเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ซึ่งคดีดังกล่าวค้างพิจารณาอยู่ที่จะสั่งจำหน่ายคดีเสียได้ หาใช่ต้องส่งสำนวนไปให้ศาลฎีกาสั่งดังที่นางสาวเบ็ญจาผู้ฎีกาเข้าใจไม่ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งจำหน่ายคดีชอบแล้ว ฎีกาของนางสาวเบ็ญจาฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่นางสาวเบ็ญจา สนใจแท้ ฎีกาประการต่อไปว่าที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องของนางสาวเบ็ญจาโดยอ้างว่านางจันทร์ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดในฐานะผู้จัดการมรดกของนายฉ่ำคงอ่อน จึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของนางจันทร์ สนใจแท้ นั้นไม่ถูกต้อง เพราะนางจันทร์ สนใจแท้ มิได้ร้องขอในฐานะผู้จัดการมรดกฐานะเดียวแต่นางจันทร์ร้องขอในฐานะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์โดยปรปักษ์ด้วยเห็นว่า คำร้องของนางสาวเบ็ญจา สนใจแท้ ที่ขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนนางจันทร์ผู้มรณะ และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องของนางสาวเบ็ญจาโดยศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2534 นั้น ไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา แต่เป็นคำสั่งใด ๆ ที่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจสั่งชี้ขาดได้ตามอำนาจที่มีอยู่ และคำสั่งเช่นนี้อยู่ในบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี ซึ่งนางสาวเบ็ญจาสนใจแท้ ต้องยื่นฎีกาภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ 21 มีนาคม2534 ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223, 229ประกอบด้วยมาตรา 247 แต่นางสาวเบ็ญจา สนใจแท้ ยื่นฎีกาคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534 จึงเกินกำหนด 1 เดือนเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของนางสาวเบ็ญจา สนใจแท้ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน