แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ขอจดทะเบียนคือ “GLUCOLIN””GLAXO” ของจำเลยคือ “UTOPIAN” ตัวอักษรเป็นแนวเดียวกัน สีที่ใช้และกระป๋องอย่างเดียวกัน เมื่อดูทั้งหมดแล้วเกือบเหมือนกัน สามารถทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่า เป็นสินค้าของผู้ผลิตเดียวกัน โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้ามาก่อนมีสิทธิดีกว่าจำเลย การที่บริษัทอื่นเป็นผู้ผลิตสินค้านั้นไม่หมายความว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้า จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายของจำเลยและใช้เครื่องหมายนั้น ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทดีกว่าจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 120,000 บาทกับดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะให้ยกคำขอให้ใช้ค่าเสียหายโจทก์จำเลย
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาที่จะต้องพิเคราะห์ต่อไปก็คือเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.2 ที่โจทก์ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.3 ที่จำเลยขอจดทะเบียนนั้นเหมือนหรือเกือบเหมือนกันจนถึงทำให้สาธารณชนสับสนเข้าใจผิดหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์เครื่องหมายการค้าที่โจทก์จำเลยต่างขอจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.2 จ.3 ซึ่งปรากฏบนกระป๋องวัตถุพยานเอกสาร จ.11 จ.12 แล้ว เห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์จำเลยต่างขอจดทะเบียนมีลักษณะการจัดวางรูปแบบใกล้เคียงกันมาก กล่าวคือ มีคำว่า “Glucolin” และ “Glucose” ซึ่งเป็นตัวอักษรโรมัน และคำว่า “กลูโคลิน” และ “กลูโคส” ซึ่งเป็นอักษรไทยอยู่ในกรอบสีดำที่มีขนาดเกือบเท่ากัน ทั้งอักษรโรมันและอักษรไทยเขียนแบบเดียวกัน และจำนวนตัวอักษรก็ใกล้เคียงกัน ใต้ตัวอักษรดังกล่าวมีตัวอักษรอีกแถวหนึ่งเช่นเดียวกัน และใต้แถบดำทางมุมล่างด้านขวามีรูปดาวกระจาย ในดาวกระจายมีตัวอักษรเช่นเดียวกัน ตัวอักษรเล็กแถวล่างและใต้ดาวกระจายก็เขียนแบบเดียวกัน ใต้แถบสีดำในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนมีรูปสามเหลี่ยมบรรจุคำว่า “Glaxo” ส่วนในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนมีรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนบรรจุคำว่า “Utopian” ใต้เครื่องหมายดังกล่าวมีข้อความเป็นตัวหนังสือขนาดเล็กบรรยายเกี่ยวกับสินค้าเช่นเดียวกันสี่ที่ใช้เป็นสีพื้นและเป็นสีตัวอักษรดังกล่าวแล้วก็เป็นสีเดียวกัน และกระป๋องที่ใช้ก็เป็นขนาดเดียวกัน แม้ตัวอักษรในแถบดำแถวล่างในรูปดาวกระจาย รูปสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนไม่เหมือนกันก็ตาม ก็เป็นเพียงรายละเอียดและมีขนาดเล็กไม่ทำให้ส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นเมื่อดูทั้งหมดแล้วเห็นว่า เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งปรากฏบนวัตถุพยานหมาย จ.11 และเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งปรากฏบนวัตถุพยานหมาย จ.12 เกือบเหมือนกัน สาธารณชนอาจสับสนเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้าของผู้ผลิตเดียวกัน
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ยื่นไว้ต่อนายทะเบียน ตามเอกสารหมาย จ.2 ดีกว่าจำเลย
จำเลยฎีกาว่า วัตถุพยานหมาย จ.11 มีข้อความว่า “ผลิตสำหรับแกล๊กโซกรู๊พประเทศอังกฤษ โดยบริษัทแกล๊กโซวิทยาศรม จำกัด” และนายอาร์.แอล.เฮดส์พยานโจทก์ว่า บริษัทแกล๊กโซวิทยาศรม เป็นผู้ผลิตสินค้ากลูโคส โจทก์จึงสืบไม่ได้ว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้า จ.11 บริษัทแกล๊กโซวิทยาศรมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า จ.11 โจทกจึงไม่มีอำนาจฟ้อง เรื่องอำนาจฟ้องเป็นเรื่องสำคัญที่ศาลควรจะต้องหยิบยกขึ้นวินิจฉัยนั้น เห็นว่าข้อความตามวัตถุพยานหมาย จ.11 และคำเบิกความของนายอาร์.แอล.เฮดส์ ดังกล่าวเพียงแต่ได้ความว่า บริษัทแกล๊กโซวิทยาศรมเป็นผู้ผลิตสินค้าตามวัตถุพยานหมาย จ.11 เท่านั้น ยังไม่พอให้ฟังว่า โจทก์ไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งปรากฏบนวัตถุพยานหมาย จ.11 และยังไม่พอฟังว่าบริษัทแกล๊กโซวิทยาศรมจำกัดเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.2 ไม่ใช่โจทก์เป็นเจ้าของ จึงยังไม่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ศาลฎีกาจะต้องหยิบยกขึ้นวินิจฉัยดังฎีกาของจำเลย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่โจทก์ฎีกาว่าไม่ได้ฟ้องว่าจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.2 แต่ฟ้องว่าเป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าคำว่า “Glucolin” ที่โจทก์จดทะเบียนไว้แล้วตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ พิเคราะห์แล้ว ฟังข้อ 4 ของโจทก์กล่าวว่า “นอกจากที่จำเลยไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ยังปรากฏอีกว่า ฯลฯ จำเลยยังมิได้ผลิตจำหน่ายสินค้าที่ใช้ฉลากเครื่องหมายการค้าตามที่จำเลยขอจดทะเบียนนั้น อันเป็นสินค้าอย่างเดียวกันกับที่โจทก์ผลิตและจำหน่ายอยู่ ฯลฯ” และตามฟ้องข้อ 2 ของโจทก์ได้ความว่า สินค้าที่โจทก์ผลิตและจำหน่ายเป็นสินค้ามีคำว่า “Glucolin” กับภาษาไทยว่า “กลูโคลิน” ประกอบอยู่ในลักษณะพิเศษซึ่งโจทก์ประดิษฐ์ขึ้นพร้อมกับมีรอยประดิษฐ์รวมอยู่ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย 3 ซึ่งก็คือเอกสารหมาย จ.2 นั้นเอง ดังนั้นจึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลียนแบบเครื่องหมายการค้าคำว่า “Glucolin” ที่โจทก์จดทะเบียนไว้แล้วตามฎีกาโจทก์
โจทก์ฎีกาอีกว่า โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตใช้สิทธิอันมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 มาตรา 421 และการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำด้วยเจตนาให้ประชาชนหลงเชื่อว่า สินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์อันอยู่ในข้อยกเว้นตามวรรค 2 ของมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่า เครื่องหมายการค้าที่จำเลยขดจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งปรากฏอยู่บนกระป๋องสินค้าวัตถุพยานหมาย จ.12 เกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งปรากฏอยู่บนกระป๋องสินค้าวัตถุพยานหมาย จ.11 สาธารณชนอาจสับสนเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้าของผู้ผลิตเดียวกัน แต่ในเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.3ซึ่งปรากฏอยู่บนกระป๋องสินค้าวัตถุพยานหมาย จ.12 ก็มีคำว่า “Utopian” อยู่ในรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้แล้วตามเอกสารหมาย ล.4 แสดงว่าในการผลิตและจำหน่ายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.3 ลงบนกระป๋องสินค้าวัตถุพยานหมาย จ.12 นี้ จำเลยก็กระทำให้ปรากฏว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าของจำเลย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือใช้สิทธิโดยมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ หรือจำเลยมีเจตนาจะเอาสินค้าของจำเลยไปวางขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ดังฎีกาของโจทก์
พิพากษายืน