แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยขาดนัดพิจารณาและโจทก์สืบพยานไปบ้างแล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่าการขาดนัดเป็นไปโดยไม่จงใจให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ โจทก์โต้แย้งคำสั่งไว้ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน กรณีเป็นเรื่องการขอพิจารณาคดีใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 206 วรรคสาม ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาไว้ หาใช่อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่หลังจากศาลมีคำสั่งชี้ขาดให้จำเลยแพ้คดีโดยการขาดนัดพิจารณา ตามมาตรา 199 ตรี และมาตรา 207 อันเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ วรรคสี่ ไม่ โจทก์จึงฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในปัญหาเรื่องการจงใจขาดนัดพิจารณาหรือไม่ ได้
ในวันนัดไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา นอกจากศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาแล้ว ยังมีคำสั่งให้รับคำฟ้อง หมายเรียกให้จำเลยยื่นคำให้การ และนัดสืบพยานโจทก์ด้วย ซึ่งในวันดังกล่าวทนายจำเลยไม่ได้มาศาลหรือลงชื่อทราบวันนัดของศาลแต่อย่างใด และแม้ทนายจำเลยเคยระบุไว้ในคำแถลงวันที่ 5 เมษายน 2544 ว่าศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 23 พฤษภาคม 2544 เวลา 13.30 นาฬิกา ก็ตาม แต่ปรากฏตามคำร้องลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2544 ของทนายจำเลยที่ขอให้จำหน่ายคดีเนื่องจากโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาก่อนจึงเป็นการไม่ชอบซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “รวมและรอไว้สั่งในวันนัด” ที่หัวกระดาษบนด้านขวาเหนือตราประทับของแผนกเก็บสำนวนคดีดำเขียนว่า “24 พค 44” นอกจากนั้นบัญชีพยานจำเลยลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 หัวกระดาษตอนบนมีข้อความระบุว่า “นัดวันที่ 24 พค 44 13.30 น” เมื่อพิจารณาถึงเหตุที่ทนายจำเลยมาศาลในวันที่ 24 พฤษภาคม 2544 และยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในวันนั้นโดยระบุชัดแจ้งถึงเหตุที่มาศาลในวันนั้นเพื่อปฏิบัติหน้าที่คดีนี้และเหตุที่ไม่ได้มาศาลในวันนัด พร้อมสำเนาหลักฐานสมุดนัดความของทนายจำเลยซึ่งสอดคล้องกับเอกสารสำนวนศาล พฤติการณ์ตามข้ออ้างของทนายจำเลยจึงน่าเชื่อว่าทนายจำเลยสำคัญผิดในวันนัดและไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณา
จำเลยออกกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่ จ. แต่อ้างว่าผู้แสดงเจตนาขอเอาประกันภัยไม่ใช่ จ. ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่าสัญญาประกันภัยบังคับได้หรือไม่ เพียงใด จำเลยซึ่งมีภาระการพิสูจน์ย่อมสามารถนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อหักล้างให้เห็นว่าสัญญาประกันภัยไม่มีผลผูกพันได้
คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ส่งเอกสารไปตรวจพิสูจน์นั้นเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หากโจทก์ไม่เห็นด้วยต้องโต้แย้งคัดค้านไว้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นทั้งที่มีเวลาเพียงพอโจทก์ไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 3,570,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา ภายหลังสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วจำเลยยื่นคำร้องว่าทนายจำเลยไม่จงใจขาดนัดพิจาณาแต่เข้าใจวันนัดพิจารณา โดยผิดหลงและจดแจ้งวันนัดลงในสมุดนัดความผิดพลาด ทำให้ไม่ได้มาศาลตามกำหนดนัดขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ โจทก์คัดค้านว่า ทนายจำเลยทราบวันนัดแล้วจึงไม่อาจอ้างความผิดหลงได้ขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่า การขาดนัดเป็นไปโดยไม่จงใจให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
ระหว่างพิจารณาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของนางจิตติมา ตามคำขอเอาประกันภัยในใบสมัครแผนประกันภัย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต กองพิสูจน์หลักฐานขอตัวอย่างลายมือชื่อเพิ่มเติมและแจ้งค่าตรวจพิสูจน์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแจ้งให้จำเลยทราบ แต่จำเลยเพิกเฉยศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าจำเลยไม่ติดใจตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อดังกล่าว ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อนางจิตติมาอีกครั้ง โจทก์แถลงคัดค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์ฎีกาคำสั่งและคำพิพากษาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2542 นายทวีสารนำคำขอเอาประกันภัยของนางจิตติมา ในวงเงินเอาประกัน 2,000,000 บาท ยื่นต่อจำเลยผ่านนางหรม ตัวแทนของจำเลยตามคำขอเอาประกันในใบสมัครแผนประกันภัย หลังจากนั้นมีบุคคลนำใบคำขอเอาประกันภัยของนางจิตติมายื่นต่อนางหรมโดยแจ้งว่านางจิตติมาต้องการเพิ่มวงเงินประกันอีก 1,000,000 บาท ตามใบคำขอเอาประกันภัย โดยเอกสารทั้งสองฉบับระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ วันที่ 10 มิถุนายน 2542 และวันที่ 17 มิถุนายน 2542 จำเลยออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้ขอเอาประกันภัยในนามนางจิตติมา มีผลคุ้มครองวันที่ 8 มิถุนายน 2542 ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2543 และวันที่ 15 มิถุนายน 2542 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2543 ตามตารางกรมธรรม์ ต่อมานางจิตติมาถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2542 ตามสำเนามรณบัตร โจทก์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับดังกล่าวจากจำเลย แต่จำเลยปฏิเสธอ้างว่าสัญญาประกันภัยไม่ผูกพันเนื่องจากลายมือชื่อของนางจิตติมาในใบคำขอเอาประกันภัยเป็นลายมือชื่อปลอม ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ และมีคำสั่งระหว่างพิจารณาตามคำขอของจำเลยให้ส่งลายมือชื่อของนางจิตติมาที่ปรากฏตามใบคำขอเอาประกันในใบสมัครแผน-ประกันภัย ไปตรวจพิสูจน์อีกครั้งหลังจากมีคำสั่งให้งดการตรวจพิสูจน์ที่ได้เคยอนุญาตมาก่อนแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยก่อนว่า ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่โต้แย้งเกี่ยวกับคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่หรือไม่ เห็นว่า จำเลยขาดนัดพิจารณาและโจทก์สืบพยานไปบ้างแล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่าการขาดนัดเป็นไปโดยไม่จงใจให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ โจทก์โต้แย้งคำสั่งไว้ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน กรณีเป็นเรื่องการขอพิจารณาคดีใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 206 วรรคสาม ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาไว้ หาใช่อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่หลังจากศาลมีคำสั่งชี้ขาดให้จำเลยแพ้คดีโดยการขาดนัดพิจารณา ตามมาตรา 199 ตรี และมาตรา 207 อันเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 เบญจ วรรคสี่ ดังที่จำเลยอ้างไม่ โจทก์จึงฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในปัญหาเรื่องการจงใจขาดนัดพิจารณาหรือไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาข้อนี้มาเป็นการชอบแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในปัญหาดังกล่าวได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ชอบหรือไม่ ข้อนี้โจทก์ฎีกาว่า การที่ทนายจำเลยไม่มาศาลโดยอ้างว่าจดวันนัดผิดพลาด เป็นการกล่าวอ้างอย่างไม่มีเหตุผลเพราะทนายจำเลยระบุในคำแถลงลงวันที่ 5 เมษายน 2544 ว่าศาลนัดวันที่ 23 พฤษภาคม 2544 แสดงให้เห็นว่าทนายจำเลยทราบวันนัดแล้ว ทั้งเป็นความบกพร่องของทนายจำเลย จึงไม่มีเหตุอันควรให้พิจารณาคดีใหม่ นั้น คดีนี้ทนายจำเลยอ้างว่าจำวันนัดผิดเนื่องจากจดวันนัดผิดพลาดและเชื่อโดยสุจริตว่าศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 24 พฤษภาคม 2544 ทั้งวันที่ 23 พฤษภาคม 2544 ทนายจำเลยว่าความอยู่ที่ศาลแพ่ง จึงไม่ได้มาศาลในวันนัด เห็นว่า ในวันนัดไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา นอกจากศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาแล้ว ยังมีคำสั่งให้รับคำฟ้องหมายเรียกให้จำเลยยื่นคำให้การและนัดสืบพยานโจทก์ด้วยซึ่งในวันดังกล่าวทนายจำเลยไม่ได้มาศาลหรือลงชื่อทราบวันนัดของศาลแต่อย่างใด และแม้ทนายจำเลยเคยระบุไว้ในคำแถลงวันที่ 5 เมษายน 2544 ว่าศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 23 พฤษภาคม 2544 เวลา 13.30 นาฬิกา ก็ตาม แต่ปรากฏตามคำร้องลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2544 ของทนายจำเลยที่ขอให้จำหน่ายคดีเนื่องจากโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาก่อนจึงเป็นการไม่ชอบซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “รวมและรอไว้สั่งในวันนัด ” ที่หัวกระดาษบนด้านขวาเหนือตราประทับของแผนกเก็บสำนวนคดีดำเขียนว่า “24 พค 44” นอกจากนั้นบัญชีพยานจำเลยลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 หัวกระดาษตอนบนมีข้อความระบุว่า “นัดวันที่ 24 พค 44 13.30 น” เมื่อพิจารณาถึงเหตุที่ทนายจำเลยมาศาลในวันที่ 24 พฤษภาคม 2544 และยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในวันนั้นโดยระบุชัดแจ้งถึงเหตุที่มาศาลในวันนั้นเพื่อปฏิบัติหน้าที่คดีนี้และเหตุที่ไม่ได้มาศาลในวันนัด พร้อมสำเนาหลักฐานสมุดนัดความของทนายจำเลยซึ่งสอดคล้องกับเอกสารสำนวนศาล พฤติการณ์ตามข้ออ้างของทนายจำเลยจึงน่าเชื่อว่าทนายจำเลยสำคัญผิดในวันนัดและไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่ามีเหตุอันควรและอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยออกกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่นางจิตติมาแล้ว สัญญาประกันชีวิตจึงมีผลสมบูรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงไม่อาจรับฟังพยานบุคคลหรือพยานเอกสารใดมาหักล้างสัญญาประกันชีวิตได้นั้น เห็นว่า จำเลยออกกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่นางจิตติมา แต่อ้างว่าผู้แสดงเจตนาขอเอาประกันภัยไม่ใช่นางจิตติมา ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่าสัญญาประกันภัยบังคับได้หรือไม่ เพียงใด จำเลยซึ่งมีภาระการพิสูจน์ย่อมสามารถนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อหักล้างให้เห็นว่าสัญญาประกันภัยไม่มีผลผูกพันได้ ที่ศาลอุทธรณ์รับฟังพยานบุคคลและพยานเอกสารที่จำเลยนำสืบจึงชอบแล้ว ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า นางจิตติมา เป็นผู้เอาประกันชีวิต ลงลายมือชื่อไว้ตามคำขอเอาประกันในใบสมัครแผนประกันภัยด้วยตนเองนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยถึงข้อพิรุธเกี่ยวกับคำเบิกความของนางหรม ประจักษ์พยานโจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้นำใบคำขอเอาประกันภัยไปให้นางจิตติมาลงลายมือชื่อไว้โดยละเอียดแล้วว่านางหรมเบิกความขัดแย้งกับพยานเอกสารและพยานบุคคลในเรื่องสถานที่ลงลายมือชื่อ การรับมอบใบคำขอเอาประกันภัย การกรอกรายละเอียดในใบคำขอเอาประกันภัย ตลอดจนสถานที่อยู่ของนางจิตติมา ทั้งพยานแวดล้อมอื่นของโจทก์ล้วนแต่ขัดกันจนไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนจำเลยมีเจ้าพนักงานตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเบิกความยืนยันถึงความเห็นต่อศาลตามหลักวิชาการว่าลายมือชื่อในใบคำขอเอาประกันภัยกับลายมือชื่อในเอกสารตัวอย่างไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน อันเป็นการวินิจฉัยไว้โดยละเอียดและชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีก ที่โจทก์ฎีกาว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตตามคำร้องของจำเลยขอให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของนางจิตติมา ที่ปรากฏในใบสมัครแผนประกันภัยอีกครั้งหลังจากที่จำเลยละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่ให้ดำเนินดังกล่าวมาแล้วส่อไปในทางประวิงคดี คำสั่งศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ส่งเอกสารไปตรวจพิสูจน์นั้นเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หากโจทก์ไม่เห็นด้วยต้องโต้แย้งคัดค้านไว้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นทั้งที่มีเวลา เพียงพอโจทก์ไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่านางจิตติมาไม่ได้เป็นผู้แสดงเจตนาเอาประกันภัยกับจำเลย จำเลยรับประกันภัยโดยตรวจสอบคำขอเอาประกันจากใบสมัครแผนประกันภัย เป็นการสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาประกันภัยตกเป็นโฆมะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119 ไม่มีผลผูกพันจำเลยให้ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ