แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เจ้าหนี้รู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ยังยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้ขึ้น โดยเจ้าหนี้จำนองที่ดินค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้แม้เจ้าหนี้กระทำไปโดยตั้งใจจะพยุงฐานะของลูกหนี้ และกระทำโดยสุจริตก็ถือได้ว่าเป็นการยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้เพิ่มขึ้นทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ไม่ได้ตามมาตรา 94(2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483
ย่อยาว
เจ้าหนี้รายที่ 101, 102 ยื่นคำขอรับชำระหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า ลูกหนี้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้เจ้าหนี้รายที่102 ไว้เป็นมูลหนี้ที่ไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ ส่วนเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้รายที่ 101 เป็นหนี้ที่เจ้าหนี้เข้าค้ำประกันลูกหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ เห็นควรอนุญาตให้เจ้าหนี้รายที่ 102 ได้รับชำระหนี้ ส่วนหนี้รายที่ 101 ให้ยกเสีย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้รายที่ 101 ได้รับชำระหนี้จำนองค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้จำนวน 501,666.64 บาทตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 130(8) เต็มตามขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ลูกหนี้ขาดทุนหมุนเวียนธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนกิจ จำกัดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ จำกัด บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด เข้ามาช่วยเหลือทางด้านการเงินรวม 20 ล้านบาท โดยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ดังกล่าวได้ให้ลูกหนี้หาหลักทรัพย์มาจำนองเป็นประกันจำนวนเงินที่จะนำมาช่วยลูกหนี้ระหว่างนั้นคุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู เป็นผู้มีอำนาจทำการแทนลูกหนี้ด้วยผู้หนึ่งได้ขอให้เจ้าหนี้ซึ่งเป็นบุตรชายนำที่ดินโฉนดเลขที่ 113093 ตำบลประเวศ อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร ไปจำนองเป็นประกันหนี้ เจ้าหนี้จึงนำที่ดินดังกล่าวไปจำนองเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2524 ค้ำประกันในวงเงินบริษัทละ80,000 บาท ชำระดอกเบี้ยเดือนละครั้งในอัตราร้อยละ 20 ต่อปีปรากฏตามสำเนาโฉนดและสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.23 ถึงจ.27 ต่อมาวันที่ 31 ธันวาคม 2526 เจ้าหนี้ตกลงโอนที่ดินที่จำนองใช้หนี้ให้ผู้รับจำนองปรากฏตามสำเนาบันทึกข้อตกลง เอกสารหมายจ.33 เมื่อลูกหนี้ถูกฟ้องคดีล้มละลายและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเจ้าหนี้จึงมาขอรับชำระหนี้จำนองค้ำประกันของลูกหนี้เป็นเงิน501,666.64 บาท
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพียงว่า เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ตามหนี้ที่ค้ำประกันจำนวน501,666.64 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลย) หรือไม่ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่า การที่เจ้าหนี้รู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวยังยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้ขึ้นโดยการค้ำประกันลูกหนี้ จะถือว่าเป็นการกระทำโดยสุจริตไม่ได้ การยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้เพิ่มขึ้นทั้งรู้อยู่ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจึงเป็นหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าเกี่ยวกับหนี้รายนี้ในชั้นสอบสวนขอรับชำระหนี้ นายจุฑาเกียรติ เครือตราชูเจ้าหนี้ ได้ให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ในช่วงที่มารดาเจ้าหนี้ซึ่งเป็นประธานบริษัทฯ ลูกหนี้ขอให้เจ้าหนี้เอาที่ดินจำนองเป็นประกันนั้นเจ้าหนี้ทราบอยู่แล้วว่าบริษัทฯ ลูกหนี้มีภาวะหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินเพราะต้องไปยืมเงินจากบริษัทเงินทุนทั้ง 4บริษัทมาหมุนใช้จ่ายในกิจการของบริษัทลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้ทราบว่ากิจการของบริษัทลูกหนี้ประสบภาวะทางการเงินจากคุณหญิงบุญเลื่อนเครือตราชู มารดาของเจ้าหนี้ ซึ่งแสดงว่าเจ้าหนี้รู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และการที่เจ้าหนี้รู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวยังยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้ขึ้นโดยเจ้าหนี้ได้นำที่ดินของตนไปทำนิติกรรมจำนองค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ดังกล่าวโดยตั้งใจจะพยุงฐานะของลูกหนี้แม้จะกระทำโดยสุจริตก็ตามก็ถือได้ว่าเป็นการยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้เพิ่มขึ้นทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงเป็นหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ไม่ได้ตามมาตรา 94(2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483ส่วนเรื่องที่เจ้าหนี้อ้างว่าเมื่อเจ้าหนี้เข้าค้ำประกันเงินกู้ของลูกหนี้แล้วกิจการของลูกหนี้อาจดำเนินการต่อไปอันเป็นผลให้เจ้าหนี้อาจได้รับชำระหนี้ก็เป็นแต่เพียงคาดหมายเอาเองเท่านั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เจ้าหนี้รายที่ 101 ได้รับชำระหนี้จำนองค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้เต็มตามขอนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 101 เสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์