คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่ยุยงพนักงานโจทก์ให้ทำงานกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 1,000,000 บาท และให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการจำหน่ายยาปีละ 500,000 บาท นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2534 จนกว่าจำเลยที่ 3 จะส่งยาให้โจทก์จำหน่าย โจทก์มิได้อุทธรณ์ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่เกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายในส่วนนี้จึงถึงที่สุด โจทก์จะฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 และจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้นอีกไม่ได้ แต่ในส่วนค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์จากการจำหน่ายยาปีละ 500,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้นับจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2539 โจทก์มีสิทธิฎีกาได้
จำเลยที่ 3 ไม่ส่งยาให้โจทก์จำหน่ายตามสัญญาตั้งแต่ประมาณเดือนมิถุนายน 2534 และตามสัญญาตั้งโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายยาของจำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียวในประเทศไทยจะสิ้นสุดสัญญาอีกครั้งในวันที่ 1 มกราคม 2539 ประกอบกับตามคำขอท้ายฟ้อง โจทก์ขอให้จำเลยที่ 3 ส่งยาให้แก่โจทก์ตามปกติ นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2539 อันตรงกับวันสิ้นสุดของสัญญาดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าสัญญาสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 3 ส่งยาให้โจทก์จำหน่ายได้อีก และจำเลยที่ 3 มีสิทธิส่งยาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำหน่ายได้ คำขอโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด กรรมการโจทก์มี 6 คน คือ ว. ส. และ พ. กับกรรมการอื่นอีก 3 คน กรรมการ 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์มีผลผูกพันโจทก์ได้ เมื่อคำฟ้องโจทก์ในช่องคู่ความระบุว่าโจทก์โดย ส. และ พ. กรรมการผู้มีอำนาจ แม้จะแตกต่างจากที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า กรรมการผู้มีอำนาจโจทก์คือ ว. และ พ. ก็ตาม แต่บุคคลทั้งสามตามที่ระบุชื่อต่างก็เป็นกรรมการโจทก์มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์มีผลผูกพันโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้สัญญาตั้งโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายยาแต่ผู้เดียวในประเทศไทยของจำเลยที่ 3 จะมิได้มีกรรมการ 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของโจทก์ตามข้อบังคับของโจทก์ก็ตาม แต่ก็มีข้อความระบุชื่อคู่สัญญาไว้ชัดเจนว่าเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 3 กับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 1 ทำสัญญาในนามโจทก์ จึงต้องถือว่าโจทก์เป็นคู่สัญญา ทั้งภายหลังทำสัญญาโจทก์และจำเลยที่ 3 ต่างถือเอาสัญญานั้นมาใช้เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของตน ย่อมถือว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันและมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 3 แล้ว
ปัญหาว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 และมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์จากการจำหน่ายยาโดยนับแต่ปี 2532 จนกว่าจำเลยที่ 3 จะหยุดส่งยาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำหน่ายหรือไม่นั้น เป็นมูลคดีเดียวกับคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอกและความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 46
ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาโดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ร่วมก่อการตั้งจำเลยที่ 2 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ยังเป็นกรรมการโจทก์อยู่ แต่จำเลยที่ 2 ยังมิได้ประกอบกิจการอันใด จึงไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ และระหว่างที่จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการโจทก์อยู่ จำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดให้จำเลยที่ 3 ยกเลิกไม่ส่งยาให้โจทก์จำหน่ายหรือชักนำให้จำเลยที่ 3 แต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายยาแต่ผู้เดียวในประเทศไทยแทนโจทก์ และการที่จำเลยที่ 1 นำยาของจำเลยที่ 3 ที่โจทก์จำหน่ายอยู่ก่อนไปจดทะเบียนซ้ำต่อคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข หรือเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2534 จำเลยที่ 1 ได้สั่งยาหรือนำเข้ายาชนิดเดียวกันกับยาที่จำเลยที่ 3 ส่งให้โจทก์จำหน่ายอยู่ก่อนมาจำหน่ายแทนโจทก์ ทำให้โจทก์ขาดรายได้ปกติและไม่มียาดังกล่าวจำหน่าย ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 พ้นจากการเป็นกรรมการโจทก์ทั้งสิ้น ดังนี้ ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง จึงต้องถือข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่ฟังยุติดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ร่วมก่อการตั้งจำเลยที่ 2 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ยังเป็นกรรมการโจทก์อยู่ แต่จำเลยที่ 2 ยังมิได้ประกอบกิจการอันใด ไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 สั่งหรือนำเข้ายาชนิดเดียวกันกับที่จำเลยที่ 3 ส่งให้โจทก์จำหน่ายอยู่ก่อนมาจำหน่ายแทนโจทก์ เป็นการกระทำภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 พ้นจากการเป็นกรรมการโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีอำนาจกระทำได้ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์จากการจำหน่ายยา
เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 แม้จำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิด กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันมิอาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 290,089,660 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสามจำหน่ายยาทุกชนิดของจำเลยที่ 3 ในประเทศไทย ให้จำเลยที่ 3 ส่งยาให้โจทก์จำหน่ายตามปกตินับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2539 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกถอนการจดทะเบียนตำรับยาของจำเลยที่ 3 ตามบัญชีรายชื่อยาและทะเบียนยาที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนต่อคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกเฉยให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายปีละ 500,000 บาท นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2534 จนกว่าจำเลยที่ 3 จะส่งยาให้แก่โจทก์และเพิกถอนทะเบียนตำรับยาระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 แต่ไม่เกิน 5 ปี ห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำหน่ายยาของจำเลยที่ 3 และให้เพิกถอนการจดทะเบียนตำรับยาของจำเลยที่ 3 ที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนไว้ต่อคณะกรรมการอาหารและยา คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายปีละ 500,000 บาท จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2539 ให้ยกคำขอให้จำเลยที่ 3 ส่งยาให้โจทก์และคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตำรับยา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่ยุยงชักชวนพนักงานโจทก์ให้ทำงานกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่มขึ้นเป็นเงิน 50,000,000 บาท และให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นค่าขาดประโยชน์จากการจำหน่ายยาเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 2,000,000 บาท นับแต่ปี 2532 จนกว่าจำเลยที่ 3 จะหยุดส่งยาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่ยุยงพนักงานโจทก์ให้ทำงานกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 1,000,000 บาท และให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการจำหน่ายยาปีละ 500,000 บาท นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2534 จนกว่าจำเลยที่ 3 จะส่งยาให้โจทก์จำหน่าย โจทก์มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่เกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายในส่วนนี้จึงถึงที่สุด โจทก์จะรื้อฟื้นฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 และจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้นอีกไม่ได้ แต่ในส่วนค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์จากการจำหน่ายยาปีละ 500,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นับจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2539 โจทก์มีสิทธิฎีกาได้และศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปพร้อมกับฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหาย
ที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกถอนการจดทะเบียนตำรับยาของจำเลยที่ 3 ที่ได้จดทะเบียนไว้ต่อคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากนายวีระพัฒน์กรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ไม่ส่งยาให้โจทก์จำหน่ายตามสัญญาตั้งแต่ประมาณเดือนมิถุนายน 2534 และตามสัญญาตั้งโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายยาของจำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียวในประเทศไทย ตามเอกสารหมาย จ. 5 จะสิ้นสุดสัญญาอีกครั้งในวันที่ 1 มกราคม 2539 ประกอบกับตามคำขอท้ายฟ้อง โจทก์ขอให้จำเลยที่ 3 ส่งยาให้แก่โจทก์ตามปกติ นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2539 อันตรงกับวันสิ้นสุดของสัญญาดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าสัญญาสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 3 ส่งยาให้โจทก์จำหน่ายได้อีก และจำเลยที่ 3 มีสิทธิส่งยาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำหน่ายได้ คำขอโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์บรรยายฟ้องว่า กรรมการผู้มีอำนาจโจทก์คือนายวิโรจน์และนายวีระพัฒน์ แต่ตามคำฟ้องในช่องคู่ความระบุว่า โจทก์โดยนายสุทธิเดชและนายวีระพัฒน์กรรมการผู้มีอำนาจ ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ทราบว่ากรรมการคนใดมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ทั้งลายมือชื่อในช่องผู้แต่งทนายความและตราประทับในใบแต่งทนายความเป็นลายมือชื่อและตราประทับปลอมนั้น เห็นว่า โจทก์มีนายวีระพัฒน์กรรมการผู้มีอำนาจโจทก์เบิกความว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ. 1 และตามหนังสือรับรองดังกล่าว กรรมการโจทก์มี 6 คน คือนายวิโรจน์ นายสุทธิเดช นายวีระพัฒน์ และกรรมการอื่นอีก 3 คน กรรมการ 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์มีผลผูกพันโจทก์ได้ เมื่อคำฟ้องโจทก์ในช่องคู่ความระบุว่าโจทก์โดยนายสุทธิเดชและนายวีระพัฒน์กรรมการผู้มีอำนาจ แม้จะแตกต่างจากที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า กรรมการผู้มีอำนาจโจทก์คือนายวิโรจน์และนายวีระพัฒน์ก็ตาม แต่บุคคลทั้งสามตามที่ระบุชื่อต่างก็เป็นกรรมการโจทก์มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์มีผลผูกพันโจทก์ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าลายมือชื่อในช่องผู้แต่งทนายความและตราประทับในใบแต่งทนายความเป็นลายมือชื่อและตราประทับปลอมนั้น เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องข้อ 4.1 โจทก์บรรยายว่า จำเลยที่ 3 เริ่มส่งยาให้โจทก์จำหน่ายแต่ผู้เดียวในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2524 โจทก์ต้องลงทุนโฆษณา อบรมพนักงาน แนะนำวิธีการใช้จนเป็นที่ต้องการในท้องตลาด แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยุยงชักชวนพนักงานขายโจทก์ให้ลาออก และไปจำหน่ายยาของจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 2 รวม 80 คน เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีพนักงานจำหน่าย สูญเสียเงินค่าอบรมพนักงาน เงินลงทุนโฆษณา รวมทั้งยาที่โจทก์มีอยู่เดิมแต่จำหน่ายไม่ได้และถูกทำลายทิ้งไป คิดค่าเสียหายเป็นเงิน 50,713,137 บาท และมีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายดังกล่าว เห็นได้ว่า คำฟ้องในส่วนนี้ โจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา พอที่จะให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าใจได้ จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียเปรียบ ส่วนรายละเอียดความเสียหายจะมีอย่างไรและเพียงใดเป็นเรื่องต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในคดี ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ให้การต่อสู้ในลักษณะเข้าใจข้อหาดี คำฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เคลือบคลุม
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ตั้งโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายยาของจำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียวในประเทศไทย แต่ทำสัญญาตั้งร้านไบโอฟาร์มเป็นตัวแทนจำหน่ายนั้น เห็นว่า โจทก์มีนายวีระพัฒน์กรรมการผู้มีอำนาจโจทก์เบิกความยืนยันว่า เมื่อปี 2524 จำเลยที่ 3 ทำสัญญาตั้งโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายยาของจำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียวในประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ. 5 โดยในการทำสัญญาดังกล่าวโจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 ซึ่งขณะนั้นเป็นกรรมการผู้จัดการโจทก์เป็นผู้ลงชื่อในสัญญาแทน หลังจากทำสัญญาแล้วโจทก์สั่งซื้อยาจากจำเลยที่ 3 เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยจนถึงกลางปี 2534 เมื่อพิเคราะห์สัญญาดังกล่าวซึ่งระบุชื่อคู่สัญญาเป็นภาษาอังกฤษโดยมีคำว่า “a company” ต่อท้ายชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย และเมื่อแปลรวมกับข้อความอื่นที่เป็นภาษาอังกฤษจะได้ความว่า เป็นสัญญาระหว่างจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบริษัทตั้งขึ้นตามกฎหมายของสาธารณรัฐไซปรัสกับโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย ตามคำแปลท้ายเอกสารหมาย จ. 5 แสดงว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 1 ลงชื่อในเอกสารหมาย จ. 5 ในฐานะผู้จัดการร้านไบโอฟาร์ม ตามสำเนาทะเบียนพาณิชย์เอกสารหมาย ล. 1 เห็นว่า ร้านไบโอฟาร์มเป็นเพียงชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจของโจทก์เท่านั้น หาได้มีฐานะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากโจทก์ไม่ ทั้งสำนักงานที่ใช้ประกอบพาณิชยกิจก็ตั้งอยู่ในสถานที่แห่งเดียวกัน ฉะนั้น แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะแปลคำว่า “a company” ในสัญญาดังกล่าวว่าเป็น “ร้าน” เมื่อใช้กับชื่อไบโอฟาร์ม และแปลคำเดียวกันนั้นว่าเป็น “บริษัท” เมื่อใช้กับชื่อจำเลยที่ 3 ตามคำแปลเอกสารหมาย ล. 10 ก็หาทำให้สัญญาดังกล่าวไม่ใช่สัญญาตั้งโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายยาของจำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียวในประเทศไทยไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าการกระทำที่มีผลผูกพันโจทก์ได้ต้องมีกรรมการ 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ แต่ในสัญญาตั้งโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายยาแต่ผู้เดียวในประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ. 5 มีจำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นคู่สัญญาเท่านั้น เห็นว่า แม้สัญญาดังกล่าวจะมิได้มีกรรมการ 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของโจทก์ตามข้อบังคับของโจทก์ก็ตาม แต่ก็มีข้อความระบุชื่อคู่สัญญาไว้ชัดเจนว่าเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 3 กับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 1 ทำสัญญาในนามโจทก์ต้องถือว่าโจทก์เป็นคู่สัญญา ทั้งภายหลังทำสัญญาโจทก์และจำเลยที่ 3 ต่างถือเอาสัญญานั้นมาใช้เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของตน ย่อมถือว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันและมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 3 แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ตั้งโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายยาของจำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียวในประเทศไทย หาใช่ตั้งร้านไบโอฟาร์มเป็นตัวแทนดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาไม่
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้ร่วมทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่วนโจทก์ฎีกาขอให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์จากการจำหน่ายยาโดยนับแต่ปี 2532 จนกว่าจำเลยที่ 3 จะหยุดส่งยาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำหน่ายนั้น เห็นว่า ในปัญหาดังกล่าวเป็นมูลคดีเดียวกับคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอกและความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 ตามคดีหมายเลขดำที่ 7443/2534 หมายเลขแดงที่ 7524/2536 ของศาลอาญา จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 คดีอาญาดังกล่าว ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในยกฟ้องโจทก์ โดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ร่วมก่อการตั้งจำเลยที่ 2 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ยังเป็นกรรมการโจทก์อยู่ แต่จำเลยที่ 2 ยังมิได้ประกอบกิจการอันใด จึงไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ และระหว่างที่จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการโจทก์อยู่ จำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดให้จำเลยที่ 3 ยกเลิกไม่ส่งยาให้โจทก์จำหน่ายหรือชักนำให้จำเลยที่ 3 แต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายยาแต่ผู้เดียวในประเทศไทยแทนโจทก์ และการที่จำเลยที่ 1 นำยาของจำเลยที่ 3 ที่โจทก์จำหน่ายอยู่ก่อนไปจดทะเบียนซ้ำต่อคระกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข หรือเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2534 จำเลยที่ 1 ได้สั่งยาหรือนำเข้ายาชนิดเดียวกันกับยาที่จำเลยที่ 3 ส่งให้โจทก์จำหน่ายอยู่ก่อนมาจำหน่ายแทนโจทก์ ทำให้โจทก์ขาดรายได้ปกติและไม่มียาดังกล่าวจำหน่าย ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 พ้นจากการเป็นกรรมการโจทก์ทั้งสิ้น ดังนี้ ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง จึงต้องถือข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่ฟังยุติดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ร่วมก่อการตั้งจำเลยที่ 2 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ยังเป็นกรรมการโจทก์อยู่ แต่จำเลยที่ 2 ยังมิได้ประกอบกิจการอันใดไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 สั่งหรือนำเข้ายาชนิดเดียวกันกับที่จำเลยที่ 3 ส่งให้โจทก์จำหน่ายอยู่ก่อนมาจำหน่ายแทนโจทก์เป็นการกระทำภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 พ้นจากการเป็นกรรมการโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีอำนาจกระทำได้ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์จากการจำหน่ายยา ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยุยงชักชวนให้พนักงานขายโจทก์ลาออกไปทำงานกับจำเลยที่ 2 รวม 92 คน เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการอบรมพนักงานและเงินลงทุนโฆษณานั้น ในข้อนี้ศาลคดีส่วนอาญามิได้วินิจฉัย จึงต้องวินิจฉัยให้และเห็นว่า ที่พนักงานโจทก์ลาออกมิได้เกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 แม้จำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิด กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันมิอาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247 และเมื่อวินิจฉัยดังกล่าว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความละเมิดหรือไม่
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

Share