แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่ ประกอบด้วย มาตรา 340 ตรี ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่22 ปี 6 เดือน ถึง 30 ปี เป็นบทที่มีโทษเบากว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ประกอบด้วยมาตรา 80,52(1) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว จำเลยกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษ ตามบทหนัก ศาลล่างปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดที่มีโทษเบากว่า ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ แต่เมื่อโจทก์มิได้ อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อนี้ จึงพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายและใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายกับใช้ไม้ตีผู้เสียหายหลายทีโดยเจตนาฆ่าเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์ พาทรัพย์ไป ฯลฯ แต่จำเลยยิงไม่แม่นและผู้เสียหายได้รับการรักษาทันท่วงทีจึงไม่ถึงแก่ความตายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 80, 340,340 ตรี, 83 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายและริบของกลาง จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 80, 340, 340 ตรี, 83 แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามมาตรา 340, 340 ตรี จำคุกคนละ 22 ปี 6 เดือนให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย ของกลางริบ จำเลยที่ 2อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงยังมีน้ำหนักและเหตุผลไม่เพียงพอจะฟังว่าจำเลยที่ 2คือคนร้ายรายนี้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฟ้องหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 เสียนั้น ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 289, 80, 340, 340 ตรี, 83 โดยมิได้ระบุวรรคของมาตรา 340 และลงโทษฐานปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนตามมาตรา 340, 340 ตรี โดยระบุว่าเป็นบทหนักให้จำคุกจำเลยที่ 122 ปี 6 เดือนนั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสี่ ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 22 ปี 6 เดือน ถึง 30 ปีนั้น โทษเบากว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ประกอบด้วยมาตรา80, 52(1) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว แต่เนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อนี้ จึงพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยไม่ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 ประกอบด้วยมาตรา 80 และมาตรา 340 วรรคสี่ ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี, 83 ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289, 80 ซึ่งเป็นบทหนัก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์