คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14150/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 24 เป็นบทบัญญัติความผิดสำหรับผู้ที่มีหรือจำหน่ายซึ่งอาวุธปืนสำหรับการค้าโดยเฉพาะ อันมีอัตราโทษหนักกว่าผู้ที่กระทำผิดฐานมีอาวุธปืนทั่ว ๆ ไปซึ่งมิใช่เพื่อการค้า เมื่ออาวุธปืนที่จำเลยมีและจำหน่ายสำหรับการค้านี้เป็นปืนจำนวนเดียวกันและไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธปืนอื่นอีก จึงลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7 อีกกระทงหนึ่งไม่ได้ ส่วนการที่จำเลยมีอาวุธปืนจำนวนดังกล่าวสำหรับการค้าไว้ในความครอบครองของจำเลยและจำเลยได้จำหน่ายอาวุธปืนจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อนั้น พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 24 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำ ประกอบ ซ่อมแซม เปลี่ยนลักษณะ สั่ง นำเข้า มีหรือจำหน่าย ซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่” และหากผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตราดังกล่าวจะต้องได้รับโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 73 เช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่า แม้จำเลยจะมีและจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้า ก็ถือเป็นกรรมในบทมาตราเดียวกัน ไม่ต่างกัน เพราะการที่จำเลยจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าได้ จำเลยย่อมจะต้องมีอาวุธปืนนั้นไว้ในครอบครองอยู่ก่อนเมื่อจำเลยมีอาวุธปืนสำหรับการค้าและจำหน่ายอาวุธปืนดังกล่าวไปทั้งหมดแล้วก็ไม่มีอาวุธปืนสำหรับการค้าเหลืออยู่ในความครอบครองของจำเลยอีก ดังนั้น การที่จำเลยมีและจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าจึงเป็นความผิดต่อเนื่องกรรมเดียวตั้งแต่เริ่มมีจนเลิกมีคือจำหน่ายอาวุธปืนไปแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าเพียงกรรมเดียว ปัญหาดังกล่าวแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 24, 72, 72 ทวิ, 73 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 371
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 24, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง, 73 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ฐานร่วมกันจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท รวมจำคุก 3 ปี 6 เดือน และปรับ 30,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 9 เดือน และปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติมีกำหนด 4 ครั้ง และให้ทำงานบริการสังคมมีกำหนด 12 ชั่วโมง (ที่ถูก ต้องระบุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ประกอบมาตรา 83 อีกบทหนึ่ง ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ไม่รอการลงโทษจำคุก ไม่ปรับและไม่คุมความประพฤติจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า อาวุธปืนเป็นอาวุธที่ร้ายแรงโดยสภาพ สามารถใช้ทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของผู้อื่นได้ ทั้งอาวุธปืนของกลางทั้งสองกระบอกยังเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ หากนำไปก่ออาชญากรรมแล้ว ย่อมยากแก่การตรวจสอบและติดตามหาตัวผู้กระทำความผิด การที่จำเลยมีและพาอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืนของกลางติดตัวไปบริเวณถนนสาธารณะในท้องที่ หมู่ที่ 8 ตำบลน้ำทรง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และหมู่ที่ 6 ตำบลหาดทนง อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี และร่วมกับพวกจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต นับว่าเป็นการกระทำที่ไม่เคารพเกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่มีประวัติการกระทำความผิดมาก่อน หรือมีภาระต้องอุปการะบุคคลในครอบครัว หรือมีเหตุอื่นตามที่จำเลยฎีกา ก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอจะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย อีกทั้งในความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลล่างทั้งสองจำคุกจำเลย 1 ปี และความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลล่างทั้งสองจำคุกจำเลย 2 ปี ก่อนลดโทษให้ เป็นอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสุดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่อาจกำหนดโทษสถานเบากว่านี้ได้อีก ส่วนความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ก่อนลดโทษให้ ก็เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่เหมาะสมแก่สภาพแห่งความผิดแล้ว และยังลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ซึ่งเป็นการลดโทษขั้นสูงตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะลงโทษสถานเบากว่านี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 24, 72 วรรคหนึ่ง, 73 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนมานั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 24 เป็นบทบัญญัติความผิดสำหรับผู้ที่มี หรือจำหน่ายซึ่งอาวุธปืนสำหรับการค้าโดยเฉพาะ อันมีอัตราโทษหนักกว่าผู้ที่กระทำผิดฐานมีอาวุธปืนทั่ว ๆ ไปซึ่งมิใช่เพื่อการค้า เมื่ออาวุธปืนที่จำเลยมีและจำหน่ายสำหรับการค้านี้เป็นปืนจำนวนเดียวกันและไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธปืนอื่นอีก จึงลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7 อีกกระทงหนึ่งไม่ได้ ส่วนการที่จำเลยมีอาวุธปืนจำนวนดังกล่าวสำหรับการค้าไว้ในความครอบครองของจำเลยและจำเลยได้จำหน่ายอาวุธปืนจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อนั้น พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 24 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำ ประกอบ ซ่อมแซม เปลี่ยนลักษณะ สั่ง นำเข้า มีหรือจำหน่าย ซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่” และหากผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตราดังกล่าวจะต้องได้รับโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 73 เช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่า แม้จำเลยจะมีและจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้า ก็ถือเป็นกรรมในบทมาตราเดียวกัน ไม่ต่างกัน เพราะการที่จำเลยจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าได้ จำเลยย่อมจะต้องมีอาวุธปืนนั้นไว้ในครอบครองอยู่ก่อนเมื่อจำเลยมีอาวุธปืนสำหรับการค้าและจำหน่ายอาวุธปืนดังกล่าวไปทั้งหมดแล้วก็ไม่มีอาวุธปืนสำหรับการค้าเหลืออยู่ในความครอบครองของจำเลยอีก ดังนั้น การที่จำเลยมีและจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าจึงเป็นความผิดต่อเนื่องกรรมเดียวตั้งแต่เริ่มมีจนเลิกมีคือจำหน่ายอาวุธปืนไปแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าเพียงกรรมเดียว ปัญหาดังกล่าวแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีและจำหน่ายอาวุธปืนสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 24, 73 จำคุก 2 ปี รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี เมื่อรวมกับความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร รวมจำคุก 1 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share