แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต. ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษไปแล้ว. ต่อมาเมื่อคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์. ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนฯ ฉบับที่ 4(พ.ศ.2510) ออกมาให้ผู้มีอาวุธปืน กระสุนปืนโดยผิดกฎหมาย. นำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายใน 90 วัน. จึงจะได้รับการยกเว้นโทษ. เมื่อจำเลยได้ทำอาวุธปืนกระสุนปืนสูญหายเสียในวันเกิดเหตุ. จึงไม่มีอาวุธปืน. กระสุนปืนผิดกฎหมายไปจดทะเบียนขออนุญาต. ฉะนั้นจำเลยย่อมไม่ได้รับการยกเว้นโทษตามกฎหมายดังกล่าว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจมีอาวุธปืนสั้นชนิดทำเองใช้ยิงได้กับกระสุนปืนหลายนัดโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้ใช้อาวุธปืนดังกล่าวนี้ยิงนายโสภณผู้เสียหายหลายนัด กระสุนปืนที่จำเลยยิงไม่ถูกผู้เสียหาย จึงไม่ตายสมเจตนาของจำเลย ขอให้ลงโทษ จำเลยให้การปฏิเสธทั้ง 2 ข้อหา เมื่อสืบพยานโจทก์หมดแล้วจำเลยจึงรับสารภาพฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยได้กระทำผิดทั้ง 2 ข้อหา พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ซึ่งเป็นกระทงหนัก จำคุก10 ปี ลดให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยได้กระทำผิดจริงฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามฟ้องของโจทก์ ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืน กระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้จะมีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 ซึ่งให้ใช้บังคับระหว่างวันที่ 4 ตุลาคม2510 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2511 มีกำหนด 90 วัน ระหว่างที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีนี้อยู่ ถ้าได้นำอาวุธปืน กระสุนปืนและวัตถุระเบิดมาขออนุญาตหรือมอบให้นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนด ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับคดีนี้จำเลยไม่มีอาวุธปืนและกระสุนปืนไปขออนุญาตหรือไปมอบให้นายทะเบียนท้องที่ เพราะได้ทำสูญหายเสียในวันเกิดเหตุ จำเลยจึงไม่ได้รับการยกเว้นโทษ พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยได้ท้าทายให้ผู้เสียหายออกมาสู้กันผู้เสียหายรับคำท้าและได้เกิดต่อสู้กันขึ้น เป็นการสมัครใจวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน จำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายหลายนัดโดยเจตนาจะฆ่า แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหาย จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ในขณะที่จำเลยกระทำผิดฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ยังไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษสำหรับความผิดฐานนี้ เพิ่งมีพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 ออกใช้ระหว่างคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ให้ผู้มีอาวุธปืน กระสุนปืนโดยผิดกฎหมาย นำไปจดทะเบียนหรือขออนุญาตต่อนายทะเบียนภายใน 990 วัน จึงจะได้รับการยกเว้นโทษ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยไม่มีอาวุธปืนและกระสุนปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายไปจดทะเบียน เพราะได้ทำสูญหายเสียในวันเกิดเหตุ จึงไม่ได้รับการยกเว้นโทษตามพระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น พิพากษายืน.