คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1412/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขับรถยนต์โดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและได้รับอันตรายแก่กายสาหัส กับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายได้รับความเสียหาย เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4)(8)ประกอบด้วย มาตรา 157 และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย และได้รับอันตรายแก่กายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390,300 การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และเมื่อเกิดเหตุแล้ว จำเลยได้หลบหนีและไม่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหาย ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลัง จากการที่จำเลยขับรถยนต์ชนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแล้ว ซึ่งเป็นการกระทำโดยเจตนาของจำเลยแยกต่างหากจากการกระทำความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาทอันเป็นเรื่องต่างกรรมกันจำเลยจึงต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 78 ประกอบด้วย มาตรา 160 วรรคหนึ่งอีกกระทงหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43(4)(8), 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี กับมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 วรรคสอง อีกกรรมหนึ่งจำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคหนึ่ง จำคุก1 เดือน เมื่อรวมกับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว รวมจำคุก 3 ปี 1 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยขับรถยนต์โดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและได้รับอันตรายแก่กายสาหัสกับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายได้รับความเสียหายนั้น ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43(4)(8) ประกอบด้วยมาตรา 157 และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย และได้รับอันตรายแก่กายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390, 300 การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 แต่เมื่อเกิดเหตุแล้วจำเลยได้หลบหนีและไม่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหาย ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 160 วรรคหนึ่งนั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากการที่จำเลยขับรถยนต์ชนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแล้วซึ่งเป็นการกระทำโดยเจตนาของจำเลยแยกต่างหากจากการกระทำความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาท อันเป็นเรื่องต่างกรรมกัน จำเลยจึงต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78ประกอบด้วย มาตรา 160 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาและลงโทษจำเลยเป็นสองกรรม โดยนับโทษติดต่อกันจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share