คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1411/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยกับพวกมายืนรออยู่หน้าปากซอยที่เกิดเหตุ เมื่อผู้ตายขับรถยนต์มาจอดที่ปากซอย จำเลยก็เข้าไปใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเช่นนี้ เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยได้เตรียมการมาเพื่อที่จะฆ่าผู้ตายไว้ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นการฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แม้จะฟังได้ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและในชั้นสืบพยานจำเลย จำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า จำเลยไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีหรือพกพาอาวุธปืนมาก่อนก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ คงลงโทษได้เพียงฐานพาอาวุธไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4), 371, 83, 91, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ,72, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4), 371, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8 ทวิ วรรคสอง (ที่ถูกวรรคหนึ่ง), 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 8 เดือน สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 6 เดือน เมื่อรวมโทษทั้งสามกระทงแล้ว ให้ประหารชีวิตจำเลยเพียงสถานเดียว ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องนายเรืองศักดิ์ เสนาคำ ขับรถยนต์มาจอดรออยู่ที่ปากซอยใหม่คลองประปาและมีคนร้ายที่มารออยู่ก่อนแล้วใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายปัญหาวินิจฉัยมีว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่กระทำผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่…
พิเคราะห์แล้ว โจทก์มีพยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะที่เกิดเหตุยิงกันมาเบิกความสองคนคือ นายประกรณ์และนายปรีชา พยานทั้งสองคนนี้ไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน ทั้งการได้คนทั้งสองมาเป็นพยานก็ได้ความตามคำของพันตำรวจโทลิขิต กลิ่นอวล พนักงานสอบสวนที่ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุในเวลาที่ใกล้ชิดกับที่มีการยิงกันว่า พยานทั้งสองคนนี้เป็นคนขายหนังสือพิมพ์ที่ถนนบริเวณที่เกิดเหตุ จึงเชื่อได้ในชั้นแรกว่าพยานทั้งสองคนนี้จะเป็นผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะที่เกิดเหตุจริง และไม่มีข้อที่จะทำให้สงสัยว่าพยานจะเบิกความปรักปรำจำเลย เพราะไม่มีมูลเหตุเป็นส่วนตัวระหว่างจำเลยกับพยานโจทก์ทั้งสองคนนี้ ข้อที่จะต้องพิจารณาต่อไปคือพยานโจทก์ทั้งสองคนนี้จำคนร้ายได้หรือไม่ว่าเป็นจำเลยนี้ ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากคำของคนทั้งสองประกอบแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.1 แล้วสำหรับแผนที่เกิดเหตุนั้น พนักงานสอบสวนได้ทำขึ้นในวันเกิดเหตุนั้นเองโดยยังไม่รู้ว่าคนร้ายเป็นใคร และทำขึ้นตามหน้าที่โดยมีนายประกรณ์ และนายปรีชา ซึ่งเห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุเป็นผู้นำชี้จึงเป็นที่เชื่อได้ว่าได้ทำขึ้นถูกต้องตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ตามแผนที่เกิดเหตุนี้ นายปรีชาอยู่ห่างจากจุดที่คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายประมาณ 10 เมตร และนายประกรณ์อยู่ห่างประมาณ 14 เมตร เหตุเกิดในเวลากลางวัน ขณะเกิดเหตุ ทั้งนายประกรณ์และนายปรีชายืนขายหนังสือพิมพ์อยู่ การที่คนทั้งสองยืนขายหนังสือพิมพ์อยู่เช่นนั้น ย่อมจะมองเห็นความเป็นไปในบริเวณนั้นได้ นายประกรณ์และนายปรีชาเบิกความได้ข้อเท็จจริงต้องกันในสาระสำคัญว่า ขณะที่เดินขายหนังสือพิมพ์อยู่ ได้เห็นจำเลยนั่งซ้อนท้ายจักรยานยนต์ที่พวกของจำเลยขับมา จำเลยลงจากรถจักรยานยนต์ไปอยู่ที่ปากซอยที่เกิดเหตุ ส่วนพวกของจำเลยขับรถจักรยานยนต์คอยอยู่สักครู่ก็มีรถยนต์ขับมาจากในซอยมาจอดรอเพื่อเลี้ยวออกถนน จำเลยได้เข้าไปใช้อาวุธปืนยิงคนที่ขับรถยนต์มา 3 นัด แล้วก็ขึ้นรถจักรยานยนต์ที่พวกของจำเลยขับจอดรออยู่หลบหนีไป เห็นว่า ระยะห่างระหว่างจุดที่พยานโจทก์ทั้งสองอยู่กับจุดที่คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย อยู่ห่างกันไม่มาก และไม่มีอะไรบัง ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน อีกทั้งคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายก็ยืนยิงในที่โล่งแจ้งโดยไม่มีอะไรปิดบังส่วนบนใบหน้าหรือศีรษะแต่อย่างใดเช่นนี้ ทั้งการมีเหตุการณ์ยิงกันโดยไม่คาดมาก่อนย่อมเป็นที่สนใจของพยานโจทก์ทั้งสองคนซึ่งอยู่ในบริเวณนั้น เมื่อคำนึงถึงว่าพยานโจทก์ทั้งสองคนที่เห็นคนร้ายตั้งแต่ก่อนที่จะมีการยิงกันคือตอนซ้อนท้ายจักรยานยนต์มาแล้วจำเลยลงมายืนคอยและเห็นในขณะที่มีการยิงกันอีกจนยิงแล้วจำเลยขึ้นนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่พวกของจำเลยจอดรออยู่ขับหลบหนีไป เช่นนี้ มีเหตุผลและน้ำหนักให้เชื่อได้ว่าประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองคนดังกล่าวจำคนร้ายได้ว่าเป็นจำเลยจริง ส่วนที่พยานโจทก์ทั้งสองคนนี้เบิกความต่างกันไปในเรื่องที่คนร้ายขับรถจักรยานยนต์มาถึงที่เกิดเหตุนานเท่าใดจึงมีการยิงกันโดยนายประกรณ์ว่ามาจอดประมาณ 2 นาที นายปรีชาว่ามาจอดประมาณ 3 ช่วงไฟแดง คนร้ายที่ยิงเปิดประตูรถยนต์ของผู้ตายได้หรือไม่ คนร้ายคนที่ยิงลงจากรถจักรยานยนต์แล้วยืนอยู่หรือเดินไปที่ปากซอยที่เกิดเหตุ และคนร้ายไว้หนวดหรือไม่นั้นเป็นข้อแตกต่างกันในรายละเอียดของเหตุการณ์ซึ่งพยานอาจเบิกความไปตามจังหวะของเหตุการณ์คนละตอนซึ่งอาจผิดแผกแตกต่างกันได้ โดยเฉพาะข้อที่นายประกรณ์ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยไว้หนวดนั้นก็ปรากฏว่าในชั้นที่พยานปากนี้ชี้ตัวจำเลยตามภาพถ่ายการชี้ตัวผู้ต้องหาหมายจ.4 นั้น จำเลยไว้หนวดยาวซึ่งอาจจะทำให้นายประกรณ์เข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้เพราะระยะเวลาที่ชี้ตัวและเบิกความนั้นห่างจากเวลาที่เกิดเหตุนานถึงเกือบ 6 ปี จึงมิใช่ข้อที่จะทำให้สงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสองคนนี้จะไม่เห็นเหตุการณ์และจำคนร้ายไม่ได้ว่าเป็นจำเลยจริงจากคำของพันตำรวจโทลิขิตพนักงานสอบสวนที่สอบปากคำของพยานโจทก์ทั้งสองคนนี้ไว้ในวันเกิดเหตุก็ได้ความว่า พยานโจทก์ทั้งสองคนให้การชั้นสอบสวนโดยยืนยันว่าเห็นและจำหน้าคนร้ายได้ ทั้งเมื่อได้พิจารณาถึงการที่จะได้ตัวจำเลยมาว่าเป็นคนร้ายหรือไม่นั้นก็ได้ความว่าพนักงานสอบสวนได้นำภาพถ่ายของผู้ที่มีประวัติเป็นมือปืนรับจ้างมาให้พยานโจทก์ทั้งสองคนดูหลายครั้ง พยานก็มิได้ชี้ภาพถ่ายที่นำมาให้ดู และยืนยันว่าเป็นคนร้ายจนเมื่อได้ภาพถ่ายหมาย จ.2 ซึ่งเป็นภาพถ่ายของจำเลยมาให้ดู พยานโจทก์ทั้งสองคนจึงได้ยืนยันว่าเป็นภาพถ่ายของคนร้ายที่เห็นในวันเกิดเหตุพนักงานสอบสวนจึงได้ออกหมายจับจำเลยตามหมายจับเอกสารหมาย จ.8หลังจากที่พยานโจทก์ทั้งสองคนนี้ชี้ว่าเป็นภาพถ่ายของคนร้ายที่เห็นในวันเกิดเหตุ ยิ่งกว่านั้นยังได้ความจากพันตำรวจโทลิขิตว่าก่อนที่จะมีการจับกุมจำเลยเจ้าพนักงานตำรวจเคยจับกุมตัวนายธนสารหรือแดงพรายทองแย้ม พี่ชายจำเลยมา แต่เมื่อนายประกรณ์ และนายปรีชามาดูตัวนายธนสารก็ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นคนร้ายที่เห็นในวันเกิดเหตุทำให้เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองคนนี้ชี้ยืนยันว่าใครเป็นคนร้ายหรือไม่ไปตามที่ตนรู้เห็นจริง ๆ ไม่ใช่เกิดจากการชี้นำหรือทำไปโดยไม่มีความมั่นใจในความทรงจำของตนแต่อย่างใด เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวจำเลยมาได้ นายประกรณ์ก็ชี้ตัวยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธยิงผู้ตายในวันเกิดเหตุ ตามบันทึกการชี้ตัวเอกสารหมาย จ.3 และภาพถ่ายหมาย จ.4 ในชั้นที่พยานโจทก์ทั้งสองคนมาเบิกความก็ชี้ตัวยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้าย และเมื่อได้พิจารณาภาพถ่ายหมาย จ.2 กับภาพของคนที่นายประกรณ์ชี้ตัวตามภาพถ่ายการชี้ตัวผู้ต้องหาหมาย จ.4 ก็เห็นได้ว่าเป็นภาพของบุคคลคนเดียวกันคือจำเลย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมานั้นมีเหตุผลต่อเนื่องกันทั้งพยานที่ได้มาทันทีหลังจากที่เกิดเหตุและเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ต่อเนื่องจนได้ตัวจำเลยมา จึงเชื่อได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ได้กระทำผิดตามที่ฟ้องจริงข้อนำสืบอ้างฐานที่อยู่ของจำเลยนั้น ตัวจำเลยอ้างว่าอยู่ที่จังหวัดตาก ตั้งแต่ปี 2522 ในปี 2524 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเหตุนั้นไม่เคยเดินทางเข้ามากรุงเทพมหานครเลย แต่นางสุกัญญาพรายทองแย้ม พี่สาวจำเลยกลับเบิกความว่าระหว่างปี 2522-2524นั้นจำเลยเคยเดินทางเข้ามากรุงเทพมหานครบ้าง จึงแตกต่างขัดแย้งกันไม่มีน้ำหนักพอที่จะนำมาฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ การที่จำเลยกับพวกมายืนรออยู่หน้าปากซอยที่เกิดเหตุ เมื่อผู้ตายขับรถยนต์มาจอดที่ปากซอย จำเลยก็เข้าไปใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเช่นนี้ เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยได้เตรียมการมาเพื่อที่จะฆ่าผู้ตายไว้ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นการฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
อย่างไรก็ตาม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิวรรคสอง นั้นเห็นว่า คดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบว่าจำเลยกระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง แต่คดีนี้โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้จะฟังได้ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย และในชั้นสืบพยานจำเลย จำเลยจะตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า จำเลยไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีหรือพกพาอาวุธปืนมาก่อนก็ตามก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบให้เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ไม่ได้ คงลงโทษได้เพียงฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4), 371, 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิต ฐานพาอาวุธไปในเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ปรับ 100 บาทแต่เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยแล้วก็ไม่อาจลงโทษปรับอีกได้คงให้ประหารชีวิตจำเลยสถานเดียวริบของกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share