แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาเช่าซื้อมีข้อความว่า “เจ้าของและผู้เช่าตกลงกันว่า หากมีการฟ้องร้องดำเนินคดีในทางแพ่งเกี่ยวกับข้อพิพาทใด ๆ ตามสัญญานี้ ให้ฟ้องร้องและดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลแพ่งในจังหวัดพระนครเท่านั้น” เจ้าของคือจำเลยที่ 1 ส่วนผู้เช่าคือโจทก์ สัญญาเช่าซื้อรายนี้จึงมีผลผูกพันเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น เมื่อโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 ก็ย่อมยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาคือศาลจังหวัดนครสวรรค์ และกรณีที่มีจำเลยหลายคน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลของศาลสองศาลหรือกว่านั้นขึ้นไป และมูลความแห่งคดีไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 5 ยอมให้โจทก์เสนอคำฟ้องจำเลยต่อศาลหนึ่งศาลใดก็ได้ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ จำเลยที่ 1 ก็มิได้ให้การโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องที่ศาลนั้น พึ่งจะมาโต้แย้งในชั้นฎีกา ดังนี้ โจทก์มีสิทธิยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองโอนทะเบียนรถคันหมายเลขทะเบียน น.ว.๐๓๗๗๘ ตามสัญญาเช่าซื้อให้โจทก์ ฯลฯ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ผิดสัญญา และฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนรถ ฯลฯ
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ผิดนัดไม่ส่งเงินค่างวดและโจทก์ฟ้องผิดศาล เพราะตามสัญญาเช่าซื้อ หากมีการฟ้องร้องกัน ให้ฟ้องที่ศาลแพ่งเท่านั้น ฯลฯ
วันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าตามสัญญาเช่าซื้อให้ฟ้องร้องที่ศาลแพ่งเท่านั้น ให้จำหน่ายคดีโจทก์และจำเลยที่ ๑ เสีย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้มีจำเลยสองคน แม้จำเลยที่ ๑ กับโจทก์จะได้มีสัญญาผูกพันกันเช่นนั้นก็ตาม ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์ เพราะจำเลยที่ ๒ มีภูมิลำเนาที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์ พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาเช่าซื้อรายนี้ ข้อ ๑๑ มีข้อความว่า “เจ้าของและผู้เช่าตกลงกันว่าหากมีการฟ้องร้องดำเนินคดีในทางแพ่งเกี่ยวกับข้อพิพาทใด ๆ ตามสัญญานี้ ให้ฟ้องร้องและดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลแพ่งในจังหวัดพระนครเท่านั้น” เจ้าของคือจำเลยที่ ๑ ส่วนผู้เช่าคือโจทก์ สัญญาเช่าซื้อรายนี้จึงมีผลผูกพันเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เท่านั้น เมื่อโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ ๒ โจทก์ย่อมจะยื่นฟ้องจำเลยที่ ๒ ต่อศาลที่จำเลยที่ ๒ มีภูมิลำเนา คือศาลจังหวัดนครสวรรค์ และกรณีที่มีจำเลยหลายคนซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลของศาลสองศาลหรือกว่านั้นขึ้นไป และมูลความแห่งคดีไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้ มาตรา ๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งยอมให้โจทก์เสนอคำฟ้องจำเลยต่อศาลใดศาลหนึ่งก็ได้ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ จำเลยที่ ๑ ก็มิได้ให้การโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องที่ศาลนั้น จำเลยที่ ๑ พึ่งจะมาโตแย้งในชั้นฎีกานี้เอง ศาลฎีกาจึงเห็นว่าโจทก์ก็มีสิทธิยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ได้
พิพากษายืน