แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยขอเงินผู้เสียหาย 1,000 บาท ผู้เสียหายว่าไม่มี จำเลยจึงชี้ไปที่สร้อยคอของผู้เสียหายพร้อมกับเปิดชายเสื้อให้ดูอาวุธปืนสั้นที่เหน็บอยู่ที่เอวจำเลย จากนั้นจำเลยก็กระชากสร้อยคอผู้เสียหายหลุดติดมือไป ผู้เสียหายแย่งคืนได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง โดยมีอาวุธปืน กรณีจึงต้องระวางโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 ตรี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2533เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกับพวกอีกหนึ่งคนที่หลบหนีได้ร่วมกันกระทำความผิดกล่าวคือจำเลยมีอาวุธปืนสั้นลูกซองชนิดประกอบขึ้นเองจำนวน 1 กระบอก ไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงาน เครื่องกระสุนปืนลูกซองจำนวน 1 นัด และซองพกในจำนวน 1 ซอง ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยได้พาอาวุธปืนกับเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ทั้งไม่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์จำเลยกับพวกอีกหนึ่งคนที่หลบหนีได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำและพระเลี่ยมทองของผู้เสียหายโดยร่วมกันบังคับขู่เข็ญผู้เสียหายว่าในทันใดจะใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงประทุษร้ายผู้เสียหาย ในการชิงทรัพย์ดังกล่าวจำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะในการกระทำผิดและเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83,91, 339 วรรคสอง, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคแรก, 72, 72 ทวิ วรรคสอง ริบอาวุธปืนและซองพกในของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหามีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร แต่ให้การปฏิเสธข้อหาชิงทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคสอง, 80 ลงโทษจำคุก 4 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7 ประกอบมาตรา 72 วรรคแรก ลงโทษจำคุก 2 ปีฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคแรก ประกอบมาตรา72 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง ทางสาธารณะ จำคุก 6 เดือน สำหรับข้อหาพยายามกรรโชก ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน รวมลงโทษจำคุก4 ปี 2 เดือน ริบอาวุธปืนลูกซองพกสั้นและซองพกใน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานพยายามกรรโชกโดยมีอาวุธปืน หากเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ให้จำคุกจำเลย 10 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีฎีกาแต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติจากคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้ความว่า เมื่อวันที่23 มกราคม 2533 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา นายสมหมายผู้เสียหายได้พบจำเลยกับพวกอีกคนหนึ่งที่บริเวณปากซอยอินทามระ 23 จำเลยขอเงินผู้เสียหาย 1,000 บาท ผู้เสียหายว่าไม่มี จำเลยจึงชี้ไปที่สร้อยคอของผู้เสียหายพร้อมกับเปิดชายเสื้อให้ดูอาวุธปืนสั้นที่เหน็บอยู่ที่เอวจำเลย จากนั้นจำเลยก็กระชากสร้อยคอผู้เสียหายหลุดติดมือไปผู้เสียหายแย่งคืนได้ จำเลยกับพวกหนีไป ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสองพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง โดยมีอาวุธปืน กรณีจึงต้องระวางโทษหนักขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี วางโทษจำคุก 15 ปีลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยข้อหานี้ 10 ปี รวมทุกกระทงเป็นจำคุก 11 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์