แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
น. และจำเลยที่1ผู้จัดการมรดกของส. ต่างก็เป็นทายาทของเจ้ามรดกโดยน. เป็นภรรยาจำเลยที่1เป็นบุตรการที่บุคคลทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองและทายาทอื่นซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกอยู่แล้วมิใช่เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก. ผู้จัดการมรดกมิได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาลเป็นกรณีที่ศาลอาจถอนผู้จัดการมรดกเสียได้เท่านั้นหาเป็นเหตุให้อำนาจในการจัดการมรดกสิ้นสุดไปไม่เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลถอนผู้จัดการมรดกอำนาจในการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกยังคงมีอยู่ต่อไป เมื่อผู้จัดการมรดกได้ทำการโอนทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ทายาทของเจ้ามรดกไปหมดแล้วในวันที่29ตุลาคม2518ถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันดังกล่าวโจทก์ฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกเมื่อวันที่4มิถุนายน2524เกินกว่า5ปีนับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามป.พ.พ.มาตรา1733 คำฟ้องโจทก์มิได้แสดงโดยแจ้งชัดให้เห็นว่าผู้จัดการมรดกก็ดีจำเลยก็ดีได้กระทำการใดๆอันจะถือได้ว่าเป็นการรับสภาพความผิดต่อโจทก์ตามป.พ.พ.มาตรา172หรือกระทำการอื่นใดอันจะถือว่าเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามป.พ.พ.มาตรา192จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาในศาลชั้นต้นปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องอายุความฟ้องร้องมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก และทายาทผู้รับมรดกขอแบ่งมรดก
จำเลยให้การว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733
ศาลชั้นต้นพิพากษาฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาแรกการกระทำของผู้จัดการมรดกเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหรือไม่นั้นได้ความว่า นางนิตย์ หังสพฤกษ์และจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของนายสถิตย์เจ้ามรดกต่างก็เป็นทายาทของเจ้ามรดก โดยนางนิตย์เป็นภรรยา จำเลยที่ 1 เป็นบุตรเจ้ามรดกที่บุคคลทั้งสองโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองและทายาทอื่น ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกอยู่แล้ว จึงมิใช่เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3408/2525 ระหว่างนางนิตยา ตรีวรพันธุ์ ฯโจทก์ นายเที้ยง ตรีวรพันธุ์ หรือแช่ตี๋ จำเลย ซึ่งโจทก์ทั้งสามอ้างมาประกอบฎีกาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้เทียบเคียงกันไม่ได้ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไป กรณีสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้นโจทก์ฎีกาโต้เถียงว่าผู้จัดการมรดกมิได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาล ย่อมถือว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น อายุความจึงยังไม่เริ่มนับประการหนึ่ง และจำเลยละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความแล้ว คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความอีกประการหนึ่งนั้น เห็นว่าฎีกาข้อแรกที่ผู้จัดการมรดกมิได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาลเป็นกรณีที่ศาลอาจถอนผู้จัดการมรดกเสียได้ หาเป็นเหตุให้อำนาจในการจัดการมรดกสิ้นสุดไปไม่ เมื่อไม่ปรากฎว่าศาลถอนผู้จัดการมรดกอำนาจในการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกก็ยังคงมีอยู่ต่อไป และเมื่อทรัพย์มรดกมีเพียงที่ดิน 14 แปลง กับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินตามบัญชีทรัพย์มรดกท้ายฟ้องเอกสารหมายเลข 3 ผู้จัดการมรดกได้ทำการโอนทรัพย์มรดกเหล่านั้นให้แก่ทายาทของเจ้ามรดกไปหมดแล้วในวันที่29 ตุลาคม 2518 ถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันดังกล่าว คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 987/2485 ระหว่างนางสาวเกล็ดมณีบุนนาค โจทก์ คุณหญิงประชุม มนตรีสุริยวงศ์ กับพวก จำเลย และพิพากษาศาลฎีกาที่ 1628/2511 ระหว่างวัดมกุฎกษัตริยารามกับพวกโจทก์ นางมณี อุทกภาชน์ จำเลย ที่โจทก์ทั้งสามอ้างมาประกอบฎีกานั้นเห็นว่าข้อเท็จจริงทั้งสองคดีดังกล่าวได้ความว่าผู้จัดการมรดกยังมิได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททั้งหลายจนหมดสิ้นแต่อย่างใดกองมรดกจึงอยู่ในระหว่างจัดการ จึงนำมาเทียบเคียงกับคดีนี้ไม่ได้ส่วนฎีกาข้อที่ว่าจำเลยละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความ จะยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้นั้น เห็นว่า คำฟ้องโจทก์มิได้แสดงโดยชัดแจ้งให้เห็นว่าผู้จัดการมรดกก็ดี จำเลยทั้งหกก็ดีได้กระทำการใด ๆ อันจะให้ถือว่าเป็นการรับสภาพความรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 หรือกระทำการอื่นใดอันจะถือไ้ดว่าเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามยกปัญหาข้อนี้ขึ้นมาว่ากันในศาลชั้นต้น โจทก์เพิ่งยกขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ฎีกา ซึ่งปัญหานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอายุความฟ้องร้องมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามอุทธรณ์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา และต้องห้ามฎีกาด้วยศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้จัดการมรดกแบ่งมรดกทั้งหมดให้แก่ทายาทบางคนไปแล้ว ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2518 การจัดการมรดกย่อมสิ้นสุดตั้งแต่บัดนั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2524 เกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกเสร็จซึ่งตามฟ้องเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก โจทก์ทั้งสามต่างก็เป็นทายาทสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน”.