คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1408/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามคำขอของโจทก์ จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะอุทธรณ์ แต่เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่พิพาทอันดับ 1, 2 ไม่ใช่มรดกของ ส. แต่เป็นของจำเลยก่นสร้างครอบครองมา และแม้จะฟังว่าเป็นมรดกของ ส. ก็ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทร่วมกับจำเลย คดีโจทก์ขาดอายุความ คดีจึงมีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์ขึ้นมาว่า โจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทอันดับ 1, 2 อันเป็นมรดกของ ส. ร่วมกับจำเลยหรือไม่ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นควรฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์จำเลยได้แบ่งกันครอบครองที่พิพาทอันเป็นมรดกของ ส.คนละแปลง เป็นส่วนสัดมาช้านาน ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ มิได้ครอบครองที่พิพาททั้งสองแปลงร่วมกันดังที่ศาลชั้นต้นรับฟังมา ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่
โจทก์ฟ้องขอแบ่งครึ่งที่ดินมรดกของ ส. รวม 3 แปลง เฉพาะที่ดินแปลงอันดับ 3 ได้ความว่าจำเลยขายไปก่อน โจทก์จึงไม่ติดใจว่ากล่าว คงพิพาทกันเฉพาะที่ดินแปลงอันดับ 1 เนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 20 วา อันดับ 2 เนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 84 วา ซึ่งมีราคาแปลงละ 4,000 บาทเท่ากัน ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์จำเลยได้รับที่ดินพิพาทซึ่งมีราคาเท่ากันคนละแปลงตามที่ได้แบ่งกันครอบครองเป็นส่วนสัดจึงเท่ากับโจทก์ได้รับมรดกเพียงครึ่งหนึ่ง ไม่เป็นการนอกประเด็นและเกินคำขอของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนายเจียมนางแดง นางแดงเป็นบุตรนายสง นางซุ้น นายสงนางซุ้นตายก่อน นางแดงตายทีหลังเมื่อประมาณ ๑๕ ปีมานี้ ทรัพย์มรดกตกได้แก่จำเลยและนางแดงมารดาโจทก์ซึ่งเป็นพี่น้องกัน ได้ปกครองร่วมกันมา นายแดงตายเมื่อโจทก์อายุ ๘-๙ ปี มรดกส่วนได้ของนางแดงซึ่งปกครองร่วมกับจำเลย จำเลยได้ตกลงกับโจทก์และบิดาโจทก์ว่าจะปกครองไว้ก่อนจนกว่าโจทก์จะมีครอบครัวแล้วจึงแบ่งให้โจทก์บิดาโจทก์กับจำเลยปกครองร่วมกันมา ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยแบ่งที่นาทั้ง ๓ แปลง ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง ถ้าไม่แบ่งเนื้อนาก็ขอให้ขายนาโดยวิธีขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกัน
จำเลยให้การว่า ทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องอันดับ ๑, ๒ จำเลยกับสามีเบิกสร้างกันมา
โจทก์และบิดาโจทก์ไม่เคยเข้าปกครองร่วมกับจำเลย จำเลยไม่เคยตกลงจะแบ่งให้โจทก์
คู่ความตกลงกันไม่ติดใจเรียกร้องทรัพย์อันดับ ๓
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งทรัพย์อันดับ ๑, ๒ ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง ฯลฯ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์กับบิดาโจทก์และจำเลยต่างแบ่งกันครอบครองที่พิพาทส่วนของตนเป็นการเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แบ่งคนละส่วนโดยให้โจทก์จำเลยได้คนละแปลงตามที่ครอบครองมา คือ โจทก์ได้นาโพธิ์ จำเลยได้นาพละ
จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ได้รับนาโพธิ์ไปทั้งแปลงไม่ชอบ เพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ครอบครองนาโพธิ์ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จึงได้สิทธิในนาแปลงนี้โดยอายุความ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และพิพากษาเกินคำขอ เพราะตามคำขอท้ายฟ้อง โจทก์ขอแบ่งนาโพธิ์เพียงครึ่งเดียว ขอให้แก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เฉพาะนาพิพาทตำบลบ้านโพธิ์ว่า โจทก์จำเลยได้ครอบครองร่วมกันมา ให้แบ่งให้โจทก์จำเลยคนละส่วน
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้คู่ความฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ทรัพย์พิพาทอันดับ ๑ ซึ่งเป็นที่นาอยู่ตำบลบ้านโพธิ์หรือที่เรียกกันว่านาโพธิ์และทรัพย์พิพาทอันดับ ๒ ซึ่งเป็นนาอยู่ตำบลนาพละ หรือเรียกกันว่านาพละ เป็นทรัพย์มรดกของนายสง ตกได้แก่นางแดงมารดาโจทก์และจำเลยผู้เป็นทายาทคนละครึ่ง นางแดงมารดาโจทก์และจำเลยได้ครอบครองทำนาโพธิ์เป็นประจำ
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามคำขอของโจทก์ จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะอุทธรณ์ แต่เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่พิพาทอันดับ ๑, ๒ ไม่ใช่ของนายสง เป็นของจำเลยก่นสร้างครอบครองมาฝ่ายเดียว และแม้จะฟังว่าเป็นมรดกของนายสง ก็ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทร่วมกับจำเลย คดีโจทก์ขาดอายุความ คดีจึงมีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์ขึ้นมาว่า โจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทอันดับ ๑,๒ อันเป็นมรดกของนายส่งร่วมกับจำเลยหรือไม่ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นควรฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์จำเลยได้แบ่งกันครอบครองที่พิพาทอันเป็นมรดกของนายสงคนละแปลง เป็นส่วนสัดมาช้านาน ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมิได้ครอบครองที่พิพาททั้งสองแปลงร่วมกันดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่
อนึ่ง คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอแบ่งครึ่งที่ดินมรดกของนายสงรวม ๓ แปลง เฉพาะที่ดินแปลงอันดับ ๓ ได้ความจำเลยขายไปก่อนแล้ว โจทก์จึงไม่ติดใจว่ากล่าว คงพิพาทกันเฉพาะที่ดินแปลงอันดับ ๑ เนื้อที่ ๗ ไร่ ๓ งาน ๓๐ วา อันดับ ๒ เนื้อที่ ๖ ไร่ ๓ งาน ๘๔ วา ซึ่งมีราคาเท่ากันแปลงละ ๔,๐๐๐ บาทเท่ากัน ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์จำเลยได้รับที่ดินพิพาทซึ่งมีราคาคนละแปลงตามที่ได้แบ่งปันครอบครองเป็นส่วนสัด จึงเท่ากับโจทก์ได้รับแบ่งมรดกเพียงครึ่งหนึ่ง ไม่เป็นการนอกประเด็นและเกินคำขอของโจทก์
พิพากษายืน

Share