คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 666-667/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อเจ้ามรดกตาย ที่ดินของเจ้ามรดกจึงตกได้แก่บุตรของเจ้ามรดกซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมอันดับแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ตัวพี่สาวของเจ้ามรดกย่อมถูกตัดออกจากทายาทตามมาตรา 1630
การที่พี่สาวของเจ้ามรดกก็ดี มารดาของเจ้ามรดกก็ดียอมรับสภาพหนี้ของเจ้ามรดกก็ย่อมไม่มีผลผูกพันบุตรของเจ้ามรดก เพราะไม่ได้เป็นผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555, 1556 อันสามารถทำนิติกรรมให้ผูกพันทรัพย์สินของผู้เยาว์
จำเลยเข้าไปตัดฟันต้นมะม่วงในที่ดินของผู้อื่นในขณะที่จำเลยยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและต้นมะม่วงนั้น การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420.

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้กรณีเกี่ยวพันกันจึงได้รวมพิจารณาพิพากษา
สำนวนหนึ่ง โจทก์ฟ้องนางใย โจทก์ ที่ ๑ กับนายสง่าเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตร ๑ คน ชื่อนายสำลี วอนสกุล แต่นายสง่าสามีตายไปนานแล้ว เมื่อ ๑๓ ปีมานี้ นายสำลีบุตรโจทก์ได้นางทองหลอมบุตรนางไข่เป็นภรรยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เกิดบุตรด้วยกันคือเด็กหญิงลัดดา วอนสกุล โจทก์ที่ ๒ อายุ ๑๒ ปี ประมาณ ๑๐ ปีมานี้ นางไข่ยายเด็กหญิงลัดดาโจทก์ที่ ๒ ได้ยกที่ดินโฉนดที่ ๔๘๗๕ ให้แก่นายสำลี และนางทองหลอมซึ่งโจทก์ทั้งสองและนายสำลีนางทองหลอมได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ดินรายนี้ ได้เก็บดอกผลของต้นผลไม้จำหน่ายเป็นผลประโยชน์ตลอดมา ครั้นเมื่อ ๘ ปี และ ๖ ปีมานี้ นายสำลีและนางทองหลอมได้ตายตามลำดับ เด็กหญิงลัดดาโจทก์ที่ ๒ อยู่ในความอุปการะของโจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นย่า เพราะนางไข่ผู้เป็นยายได้ตายไปก่อนแล้ว เมื่อนายสำลีนางทองหลอมตายไป โจทก์ที่ ๑ เป็นผู้ได้รับมรดกของนายสำลี เด็กหญิงลัดดาโจทก์ที่ ๒ ได้รับมรดกของนางทองหลอมในที่ดินโฉนดที่ ๔๘๗๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ นางสาวกิมลี้จำเลยได้ใช้ให้นายสุชาติกับพวกโค่นต้นมะม่วงของโจทก์ซึ่งอยู่ในที่ดินรายนี้ ราคา ๔๐๐ บาท แล้วขนเอาไปบ้านจำเลยเสีย ๑ ต้น อันเป็นต้นมะม่วงที่มีผลแล้ว โจทก์จึงขอให้จำเลยใช้เงินค่าต้นมะม่วงและดอกผลที่พึงจะได้ ๑,๑๐๐ บาท กับให้จำเลยคืนโฉนดเลขที่ ๔๘๗๕ ซึ่งจำเลยยึดถือไว้ให้กับโจทก์ เพราะโจทก์ทวงถามเอาคืนแล้วจำเลยไม่ให้
นางสาวกิมลี้จำเลยให้การต่อสู้ว่า นายสง่าสามีโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ นายสำลีกับนางทองหลอมที่โจทก์อ้างว่ามิได้จดทะเบียนสมรสนั้นก็ไม่จริง เมื่อ ๙ ปีมานี้ นางไข่(ยายเด็กหญิงลัดดา) ได้ยกที่ดินโฉนดที่ ๔๘๗๕ ให้กับนายสำลีและนางทองหลอม โจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าของที่รายนี้เดิมไม่เคยมาเกี่ยวข้องเป็นเวลา ๑๐ ปีเศษแล้ว เมื่อนายสำลีนางทองหลอมตาย เด็กหญิงลัดดาโจทก์ที่ ๒ ก็อยู่ในความอุปการะของนางหลิวที่สาวนางทองหลอม โจทก์ทั้งสองไม่เคยครอบครองหรือเกี่ยวข้องกับที่ดินรายนี้เลย การที่จำเลยได้ยึดถือโฉนดที่ดินรายนี้ไว้เนื่องจากเมื่อนายสำลีตายแล้ว นางทองหลอมได้ทำหนังสือกู้เงินจำเลยไป ๒,๐๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๐๐ แล้วมอบโฉนดที่ดินนั้นให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกัน นางทองหลอมได้ตายไป ก็ยังไม่ได้ชำระเงินกู้และดอกเบี้ยให้จำเลย นางหลิวผู้ปกครองอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้จัดการมรดกของนางทองหลอมได้รับสภาพหนี้นั้นต่อจำเลยเป็นการชำระดอกเบี้ยขอผัดชำระหนี้ มอบที่ดินรายนั้นให้จำเลยเก็บดอกผลต่อไปต่างดอกเบี้ย ทั้งโจทก์ที่ ๑ ในฐานะผู้รับมรดกนายสำลีก็ได้รับสภาพหนี้ต่อจำเลย การโค่นต้นมะม่วงรับว่าได้กระทำจริง แต่ค่าเสียหายไม่เกิน ๓๐ บาท และว่าโจทก์ไม่เคยขอโฉนดคืน ในที่สุดตัดฟ้องว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นหญิงมีสามี ไม่มีอำนาจฟ้องเอง คดีโจทก์ขาดอายุความ นับแต่นายสำลีตาย ๘ ปีแล้ว โจทก์ไม่ได้ครอบครองที่มรดกรายนี้ ขอให้ยกฟ้อง
แล้วนางสาวกิมลี้ ป้อมลอย ได้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีก่อนเป็นจำเลยอีกสำนวนหนึ่งว่า เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๐๐ นางทองหลอมได้กู้เงินไป ๒,๐๐๐ บาท โดยได้นำโฉนดเลขที่ ๔๘๗๕ ให้ยึดถือไว้เป็นประกัน ครั้นต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๑ นางทองหลอมได้ถึงแก่ความตาย นางหลิวพี่สาวผู้ตายซึ่งเป็นผู้เลี้ยงดูอุปการะเด็กหญิงลัดดาและเป็นผู้จัดการมรดกได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระเงินกู้ จำเลยไม่มีเงินให้ แต่กลับฟ้องโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทผู้จัดการมรดกของนางทองหลอม วอนสกุล ใช้ต้นเงิน ๒,๐๐๐ บาท พร้อมกับดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า นางทองหลอมจะกู้เงินโจทก์ไปจริงหรือไม่ ไม่รับรอง หากกู้กันจริง นางทองหลอมตายไปตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายใน ๑ ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ นางหลิวมิได้เป็นผู้จัดการมรดกของนายสำลีและนางทองหลอมผู้ตาย การที่นางหลิวทำหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์ย่อมไม่มีผล เพราะนางหลิวไม่ใช่ทายาท
ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงบางประการซึ่งคู่ความแถลงรับกันว่า นางใยมีสามีชื่อนายสง่ายังมีชีวิตอยู่ แต่มิได้อยู่กินด้วยกันมา ๓๐ ปีแล้ว นายสำลีบุตรนางใยตายมา ๘ ปี นางทองหลอมภรรยานายสำลีตายมา ๖ ปี นางไข่มารดานางทองหลอมตายก่อนนางทองหลอม ๓ – ๔ เดือน เมื่อนายสำลีนางทองหลอมตายลงไม่มีผู้จัดการมรดก นางหลิวเป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางทองหลอม สำหรับที่ดินโฉนดที่ ๔๘๗๕ คู่ความรับกันว่าเดิมเป็นของนางใย แล้วนางใยได้ขายให้แก่นางไข่ ต่อมานางไข่ได้ยกให้แก่นายสำลีนางทองหลอมซึ่งยังคงมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นอยู่จนกระทั่งบัดนี้ แต่ขณะนี้โฉนดที่ดินนั้นอยู่ที่นางสาวกิมลี้ และนางสาวกิมลี้รับว่าได้ตัดฟันต้นมะม่วงจริง ตกลงรับกันว่าค่าเสียหาย ๑๕๐ บาท ได้ความตามที่รับกันดังนี้ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอชี้ขาดได้แล้ว ให้งดสืบพยานของคู่กรณี แล้ววินิจฉัยว่า หนี้เงิน ๒,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ยที่นางสาวกิมลี้เป็นโจทก์ฟ้องเรียกนั้น ปรากฏว่านางทองหลอมลูกหนี้ได้ตายไป ๖ ปีแล้ว ฟ้องคดีนี้ภายหลังนางทองหลอมตายเกิน ๑ ปี คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ ที่อ้างว่านางหลิวพี่สาวนางทองหลอมผู้ตายรับสภาพหนี้นั้นไม่ผูกพัน เพราะมรดกนางทองหลอมไม่มีผู้จัดการและบุคคลทั้งสองไม่ใช่ทายาทมีสิทธิได้รับมรดกของนางทองหลอมผู้ตาย เนื่องจากผู้ตายมีเด็กหญิงลัดดาเป็นบุตรอยู่แล้ว ย่อมตัดสิทธินางหลิวพี่ผู้ตาย นางสาวกิมลี้โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะยึดโฉนดเลขที่ ๔๘๗๕ พิพากษายกฟ้องคดีที่นางสาวกิมลี้เป็นโจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้นั้นเสีย กับให้นางสาวกิมลี้ในฐานะจำเลยใช้ค่าเสียหายให้กับนางใยเด็กหญิงลัดดาโจทก์ ๑๕๐ บาท และคืนโฉนดที่ ๔๘๗๕ ให้แก่บุคคลทั้งสองนี้ด้วย
นางสาวกิมลี้อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
นางสาวกิมลี้ฎีกาต่อมาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยให้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนข้อเท็จจริงนั้นเป็นอันยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา
๑. ฎีกาข้อแรกเรื่องการรับสภาพหนี้ที่อ้างว่านางหลิวพี่สาวนางทองหลอม นางใยแม่ผัวนางทองหลอมได้ทำให้ไว้แก่ตนนั้น ใช้ได้เพราะนางหลิวเป็นทายาทนางทองหลอมน้องสาว ศาลฎีกาเห็นว่า โดยที่ดินโฉนดที่ ๔๘๗๕ เป็นของนายสำลีนางทองหลอม เมื่อบุคคลทั้งสองตาย และไม่มีผู้จัดการมรดก ที่ดินนั้นก็ย่อมตกได้แก่เด็กหญิงลัดดาบุตรทายาทโดยชอบธรรมอันดับแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๙ นางหลิวพี่สาวนางทองหลอมผู้ตายซึ่งเป็นทายาทอันดับหลังจึงถูกตัดออกจากทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๓๐ ที่นางสาวกิมลี้อ้างว่าภายหลังเมื่อนางทองหลอมตาย นางหลิวและนายใยรับสภาพหนี้ของนางทองหลอม แม้จะทำกันจริงก็ไม่มีผลผูกพันให้เด็กหญิงลัดดารับผิด เพราะบุคคลทั้งสองไม่ได้เป็นผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงลัดดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๕๕, ๑๕๕๖ อันสามารถทำนิติกรรมให้ผูกพันทรัพย์สินของผู้เยาว์ได้
๒. การตัดฟันต้นมะม่วง นางสาวกิมลี้ฎีกาว่าไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ เพราะได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ประกันหนี้ให้โดยขอเงินเพิ่ม ศาลฎีกาเห็นว่า ในขณะตัดต้นมะม่วงนั้น นางสาวกิมลี้ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้หรือมะม่วงต้นนี้ ทั้งนางสาวกิมลี้ก็ไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าอีกฝ่ายยินยอมจึงได้ทำไปเช่นนั้นโดยสุจริต การกระทำของนางสาวกิมลี้จึงเป็นการละเมิดโดยไม่มีปัญหา
๓. ฎีกาข้อสุดท้ายที่ว่านางใยโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน.

Share